ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

เรียนถามท่านอ.ค่ะ กรณีบริษัทสรัางหอพักให้พนักงานอยู่

ถามวันที่ 4 ส.ค. 2559  .  ถามโดย hnoke  .  เข้าชม 25 ครั้ง


บริษัท ก. ประกอบกิจการผลิตสินค้ามีสถาน
ประกอบการเป็นโรงงานตั้งอยู่เลขที่หนึ่ง ได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่พัก(หอพัก)เพื่อเป็นสวัสดิการแก่พนักงานของบริษัทฯ โดยก่อสร้างหอพักบนที่ดินของกรรมการซึ่งทำหนังสือยินยอมให้ก่อสร้าง(ไม่ได้ทำสัญญาเช่าแต่อย่างใดอีกทั้งหนังสือยินยอมไม่มีกำหนดเงื่อนไขของระยะเวลา) ซึ่งหนังสือยินยอมดังกล่าวบริษัทฯนำไปใช้ในการดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างและขอทะเบียนบ้าน จะได้บ้านเลขที่ของหอพักที่สร้างเสร็จต่างหาก ต่อมาบริษัทฯได้ยื่นขอติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าและติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าสำหรับหอพัก ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งซึ่งจะมีใบกำกับภาษีซื้อโดยการไฟฟ้าจะออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัทฯระบุที่อยู่ของหอพักที่ยื่นขอติดตั้งหม้อแปลงฯ ทำให้ใบกำกับภาษีซื้อฉบับดังกล่าวเป็นชื่อของบริษัทฯ แต่ที่อยู่ไม่ใช่
ที่อยู่ของบริษัทที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะทำให้นำภาษีซื้อมาใช้ไม่ได้
จึงขอเรียนปรึกษาว่าบริษัทฯจะสามารถดำเนินการอย่างไร(อาคารหอพักที่สร้างขึ้นเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ให้เฉพาะพนักงานพักอาศัยไม่เสียเงิน โดยพนักงานจะเสียค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาเองซึ่งบริษัทฯมีนโยลายจะเรียกเก็บตามจำนวนการใช้จะติดมิเตอร์แยกตามห้องราคาที่เรียกเก็บบริษัทฯไม่ได้บวกกำไร ภาษีซื้อในการก่อสร้างหอพัก บริษัทฯนำมาใช้)

บริษัทฯควรแจ้งจดภ.พ.09 เพิ่มหอพักเป็นสาขา ถึงแม้จะไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการโดยตรง แต่อาคารที่ตั้งบนที่ดังกล่าวซึ่งบริษัทฯขอเลขที่บ้านเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ซึ่งจะมีรายรับจากค่าบริการไฟฟ้าและประปา และมีรายจ่ายค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา และไม่ใช่ลักษณะชั่วคราว หรือจะมองว่าหอพักนั้นไม่ถือเป็นสถานประกอบการของบริษัทจึงไม่ต้องจดเพิ่มเป็นสาขา
รบกวนท่านอ. ให้แนวคิดเพื่อนำไปปฏิบัติด้วยค่ะ

1 คำตอบ
เรียน คุณ hnoke

คำว่า "สถานประกอบการ" มีการกำหนดนิยามศัพท์ไว้ตามมาตรา 77/1 (20) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
"(20) "สถานประกอบการ" หมายความว่า สถานที่ซึ่งผู้ประกอบการ ใช้ประกอบกิจการเป็นประจำ และให้หมายความรวมถึง สถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ผลิตหรือเก็บสินค้าเป็นประจำด้วย
ในกรณีผู้ประกอบการไม่มีสถานประกอบการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการนั้นเป็นสถานประกอบการ ถ้าผู้ประกอบการมีที่อยู่อาศัยหลายแห่งให้ผู้ประกอบการเลือกเอาที่อยู่อาศัยแห่งหนึ่งเป็นสถานประกอบการ"

เช่นนี้ อาคารหอพักที่สร้างขึ้นเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ให้เฉพาะพนักงานพักอาศัยไม่เสียเงิน โดยพนักงานจะเสียค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาเอง ซึ่งแม้บริษัทฯ จะมีนโยบายจะเรียกเก็บตามจำนวนการใช้จะติดมิเตอร์แยกตามห้องราคาที่เรียกเก็บบริษัทฯ ไม่ได้บวกกำไร ก็ยังไม่อาจนับเป็น "สถานประกอบการ" ได้ ซึ่งกรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติไว้ตามข้อ 15 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2542 ดังนี้
"ข้อ 15 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง จะต้องจัดทำใบกำกับภาษีเป็นรายสถานประกอบการ
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง มีการดำเนินงาน ณ สถานที่อื่นซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ ตามมาตรา 77/1(20) แห่งประมวลรัษฎากร ด้วย ให้จัดทำใบกำกับภาษีระบุที่อยู่ของสถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่หรือสถานประกอบการแห่งอื่นที่ดำเนินงาน ไม่ใช่ที่อยู่ตามสถานที่ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคสอง ได้รับใบกำกับภาษีระบุชื่อของผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกต้อง แต่ระบุที่อยู่ตามสถานที่ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ หรือเป็นภาษีซื้อของสถานประกอบการแห่งอื่นซึ่งจ่ายค่าสินค้าหรือค่าบริการ
ตัวอย่าง
(1) บริษัท ก.จำกัด มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เขตพญาไท ประกอบกิจการให้เช่าอาคารสำนักงานซึ่งตั้งอยู่เขตบางพลัด บริษัทฯไม่ได้ใช้พื้นที่ของอาคารที่ให้เช่าเป็นสถานประกอบการ แต่บริษัทฯให้บริการสาธารณูปโภคแก่ผู้เช่า บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์ ณ อาคารที่ให้เช่า รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ตามอาคารที่ให้เช่า บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ได้ เมื่อบริษัทฯเรียกเก็บค่าบริการและภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้เช่า บริษัทฯต้องจัดทำใบกำกับภาษีโดยระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่
(2) บริษัท ข.จำกัด ประกอบกิจการผลิตปลากระป๋อง มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เขตบางซื่อ มีสำนักงานอีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง บริษัทฯก่อสร้างโรงงานที่จังหวัดระยอง โดยมอบหมายให้สำนักงานที่จังหวัดระยองดำเนินงานด้านการก่อสร้างและจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการก่อสร้าง บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา ณ สถานที่ก่อสร้าง รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ ณ สถานที่ก่อสร้าง บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานที่จังหวัดระยองได้
(3) บริษัท ก.จำกัด เช่าสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาสินค้าซึ่งต้องมีกระแสไฟฟ้าส่องป้าย บริษัทฯขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ณ สถานที่เช่า รัฐวิสาหกิจจัดทำใบกำกับภาษีในนามของบริษัทฯ แต่ระบุที่อยู่ตามสถานที่เช่า บริษัทฯมีสิทธินำใบกำกับภาษีไปถือเป็นภาษีซื้อของสำนักงานใหญ่ได้"
ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.09 เพื่อจดแจ้งเพิ่มหอพักเป็นสถานประกอบการสาขา เพราะไม่เข้าลักษณะเป็นสถานประกอบการ แต่บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดขึ้นมาใช้เป็นเครดิตหักออกจาภาษ๊ขายในการคำนวณภาษ๊มูลค่าเพิ่มได้
ตอบเมื่อ 4 ส.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ