ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

เครดิตภาษีเงินได้จากต่างประเทศ

ถามวันที่ 3 ส.ค. 2559  .  ถามโดย boonruk888  .  เข้าชม 15 ครั้ง

กราบเรียน อาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์
กรณีกิจการได้ถูกหักภาษีเงินได้ที่จ่ายในต่างประเทศ และได้รับหนังสือรับรองหักภาษีที่จ่ายอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว หากกิจการจะไม่ขอเครดิตภาษีหักที่จ่ายดังกล่าวในการคำนวณภาษีเงินได้ในประเทศไทย แต่จะนำภาษีที่ถูกเก็บในต่างประเทศมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ โดยถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (6) จะสามารถกระทำได้หรือไม่ครับ

อ้างถึง หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/2003
ลว 14/2/2550

1 คำตอบ
เรียน คุณ boonruk888

ตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติห้ามมิให้นำค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล นั้น หมายความถึง "่ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล" จากฐานกำไรสุทธิเฉพาะที่คำนวณได้เป็นจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระตามประมวลรัษฎากร รวมทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ตามประมวลรัษฎากร เท่านั้น
ดังนั้น กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในต่างประเทศ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้ว หากกิจการจะไม่ขอเครดิตภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าว ในการคำนวณภาษีเงินได้ในประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 แต่จะนำภาษีที่ถูกเก็บในต่างประเทศมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร โดยการนำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศมายกเว้นภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย หรือนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้นั้น ทั้งนี้ ต้องมีหลักฐานหรือหนังสือรับรอง โดยเจ้าหน้าที่ของต่างประเทศที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง โดยหลักฐานหรือหนังสือรับรองดังกล่าวต้องมีรายละเอียดที่แสดงให้เห็นว่าได้ชำระภาษีไปเมื่อใด และจำนวนภาษีที่ชำระไปในต่างประเทศทั้งสิ้น มีจำนวนเท่าใด

เลขที่หนังสือ : กค 0706/2003 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550
เรื่อง : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีค่านายหน้าที่ได้รับจากต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (6) มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300)
และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ
ข้อหารือ :
บริษัทฯ ประกอบกิจการโดยมีสัญญาให้บริการหาลูกค้าในประเทศไทยให้กับบริษัท S Taiwan (S ) โดยบริษัทฯ เรียกเก็บค่านายหน้าและภาษีมูลค่าเพิ่มในการให้บริการจัดหาลูกค้าในประเทศไทยจาก S จำนวนร้อยละ 5 หลังภาษีมูลค่าเพิ่มของมูลค่าสินค้าตาม Invoice รวมเป็นจำนวน 6,987.58 USD ต่อมา S ได้ชำระค่านายหน้าดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ ซึ่งจ่ายเงินมาจากต่างประเทศ และได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ร้อยละ 20 คงเหลือจำนวนเงินได้ที่บริษัทฯ จะได้รับเท่ากับ 5,590.06 USD บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
1. เมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระค่านายหน้าจากบริษัท S บริษัทฯ ต้องใช้มูลค่าใดเป็นฐาน ในการออกใบกำกับภาษีให้ถูกต้อง
2. หากบริษัทฯ ได้ให้บริการดังกล่าวแก่ลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย บริษัทฯ มีสิทธิ์นำภาษีที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในต่างประเทศมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีของบริษัทฯ ได้หรือไม่ และต้องมีหลักฐานหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากต่างประเทศมาประกอบการพิจารณาหรือไม่
แนววินิจฉัย :
1. การให้บริการจัดหาลูกค้าในประเทศไทยของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ
ในราชอาณาจักรตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยฐานภาษีสำหรับการให้บริการใน
ราชอาณาจักรได้แก่ค่าตอบแทนตามที่ปรากฏในใบ Invoice ที่ผู้ประกอบการได้รับจากการให้บริการตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
2. หากบริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าที่มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย บริษัทฯ มีสิทธิในการเลือกเพื่อบรรเทาภาระภาษีที่เสียไปแล้วในต่างประเทศ โดยอาจนำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศมายกเว้นภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 โดยปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ประการหนึ่ง หรืออาจนำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร โดยการนำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศมายกเว้นภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย หรือนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้นั้น ทั้งนี้ ต้องมีหลักฐานหรือหนังสือรับรอง โดยเจ้าหน้าที่ของต่างประเทศที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง โดยหลักฐานหรือหนังสือรับรองดังกล่าวต้องมีรายละเอียดที่แสดงให้เห็นว่าได้ชำระภาษีไปเมื่อใด และจำนวนภาษีที่ชำระไปในต่างประเทศทั้งสิ้น มีจำนวนเท่าใด

เลขตู้ : 70/34785
ตอบเมื่อ 3 ส.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ