ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การให้บริการในประเทศนำผลไปใช้ที่ต่างประเทศ

ถามวันที่ 24 ก.ค. 2559  .  ถามโดย chayapha.sin  .  เข้าชม 21 ครั้ง

บริษัทประกอบกิจการรับถ่ายรูปแฟชั่น ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะมีลูกค้าเป็นบริษัทต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งจะติดต่อให้บริษัทฯไปถ่ายรูปแฟชั่นหรือวิว ที่ต่างประเทศ บริษัทฯโดยกรรมการจะต้องนำอุปกรณ์กล้องไปถ่ายรูปเอง และมีการจ้างบุคคลชาวต่างชาติมาช่วยในการถ่ายรูปเช่น ช่วยถือกล้อง เซ็ตฉาก. เมื่อถ่ายรูปเสร็จจะนำฟิล์มกลับมาประเทศไทยเพื่อมาตัดต่อ ปรับแต่งภาพ และคัดรูปในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แล้วจึงส่งฟิล์มไปให้ลูกค้าที่ต่างประเทศ(กรรมสิทธิในรูปจะเป็นของลูกค้า) พร้อมออกใบวางบิลไปเรียกเก็บเงิน เดือนละ 100,000-500,000 บาท ตามมูลค่าบริการในแต่ละครั้ง
ขอทราบว่า
1. การประกอบกิจการดังกล่าว ถือเป็นการส่งออกบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ0 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 105 หรือไม่.
2. การจ่ายค่าจ้างชาวต่างประเทศ มีการจ่ายเงินตามครั้งคราวที่เรียกมาใช้งาน จ่ายเป็นเงินสดที่ต่างประเทศ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งหรือไม่.
กราบขอบพระคุณอาจารย์ล่วงหน้า มา ณ ที่นี้

1 คำตอบ
เรียน คุณ chayapha.sin

การได้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยเฉพาะกรณีตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) นั้น เป็นสิทธิของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากไม่มีข้อกำหนดว่าให้แก่เฉพาะผู้ประกอการจดทะเบียเท่านั้น จึงให้ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ทั้งแก่ผู้ประกอบการจดทะเบียน และมิได้จดทะเบียน ดังนี้
"มาตรา 80/1 ให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(1) การส่งออกสินค้าที่มิใช่การส่งออกสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(3)
(ดู คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.97/2543)
(2) การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(ดู ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) )
การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศให้รวมถึง การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร เพื่อใช้ผลิตสินค้าในเขตปลอดอุตสาหกรรมส่งออกเพื่อส่งออก และการให้บริการที่กระทำในเขตอุตสาหกรรมส่งออก เพื่อใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกด้วย..."

อย่างไรก็ตาม หากรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการดังกล่าวไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ยังคงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่่ 432) พ.ศ. 2548 และหากมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ผู้ประกอบการย่อมมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นัยบแต่วันที่มีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผู้ประกอบการมีสิทธิที่แจ้งขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 81/3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
นอกจากนี้ การได้สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 0 โดยมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จะไม่เกิดประโยชน์โภคผลใดๆ กล่าวคือ ไม่สามารถนำภาษีซื้อจากการประกอบกิจการมาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ และไม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.พ.30

ต่อข้อถาม
1. การประกอบกิจการตามข้อเท็จจริงที่ด้แจ้งไปดังกล่าว ถือเป็นการส่งออกบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ0 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) ถูกต้องแล้วครับ
2. การจ่ายค่าจ้างชาวต่างประเทศ มีการจ่ายเงินตามครั้งคราวที่เรียกมาใช้งาน จ่ายเป็นเงินสดที่ต่างประเทศ บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่งแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินได้จากแหล่งเงินไดในต่างประเทศ ท่ไม่ครบองค์ประกอบที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
ตอบเมื่อ 25 ก.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ