ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การนำประมวลรัษฎากรและอนุสัญญาภาษีซ้อนมาใช้กับธุรกรรมในต่างประเทศ

ถามวันที่ 21 ก.ค. 2559  .  ถามโดย watchara_boy  .  เข้าชม 21 ครั้ง

เรียน ท่านอาจารย์สุเทพ ครับ

ขอสอบถามเรื่องการนำเอาประมวลรัษฎากรและอนุสัญญาภาษีซ้อนมาใช้ครับ คือ บริษัทได้ไปรับงานขุด ขนดินกับนิติบุคคลต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย บริษัทฯ มีข้อสงสัยในรายการที่เกิดขึ้นทั้งจากที่ไทยและต่างประเทศดังนี้ครับ
1.บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัท ก.ในประเทศไทย ให้ไปสร้างบ้านพักพนักงาน สอบถามว่า เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าจ้างเหมาสร้างบ้านพัก ให้กับ บริษัท ก. บริษัทฯ หัก ณ ที่จ่าย 3% แต่บริษัท ก.แจ้งว่าบริษัทฯ จะหัก ณ ที่จ่ายไม่ได้ เพราะ บริษัท ข. ไปทำงานสร้างบ้านพักให้เกิน 180 วัน ถือว่ามีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ และเงินได้นั้น บริษัท ข. ได้จ่ายภาษีในต่างประเทศแล้ว อย่างนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ
2. บริษัทฯ ได้จ้างพนักงานคนไทยไปทำงานที่ต่างประเทศ โดยจ่ายเป็นเงินเดือน ตามมาตรา 40(1) สอบถามว่า บริษัทฯ มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย พนักงานดังกล่าวหรือไม่ครับ เพราะพนักงานได้แจ้งว่าได้เสียภาษีเงินได้ให้กับต่างประเทศนั้นแล้ว บริษัทฯ จะหัก ณ ที่จ่ายซ้ำอีกไม่ได้
3.บริษัทฯ ได้จ้างพนักงานที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศนั้น โดยจ่ายเป็นเงินเดือน สอบถามว่า บริษัทฯ มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย พนักงานดังกล่าว เหมือนข้อข้างต้นหรือไม่ครับ และหากพนักงานในประเทศนั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในไทย จะต้องยื่น ภงด.91 ตอนสิ้นปีหรือไม่
4.เมื่อบริษัทฯ ได้รับเงินค่าจ้างขุด ขนดินจากนิติบุคคลต่างประเทศ บริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษีหรือไม่ อัตราเท่าใดครับ
5.การที่บริษัทฯ ไปสร้างบ้านพักพนักงานสำหรับการประกอบกิจการขุด ขนดิน ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นสัญญา บริษัทฯ จะต้องรื้อถอนออกจากที่ดินของผู้ว่าจ้าง ถือว่าบริษัทฯ มี PE ในประเทศนั้นหรือไม่ครับ และจะมีผลกระทบอย่างไรกับภาระภาษีจากคำถามข้างต้นครับ
ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ


1 คำตอบ
เรียน คุณ watchara_boy
1. กรณีบริษัทฯ ว่าจ้างบริษัท ก. ในประเทศไทย ให้ไปสร้างบ้านพักพนักงานในต่างประเทศ เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าจ้างเหมาสร้างบ้านพัก ให้กับ บริษัท ก. บริษัทฯ คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ในอัตรา 3% ของเงินได้ แต่บริษัท ก. แจ้งว่าบริษัทฯ จะหัก ณ ที่จ่ายไม่ได้ เพราะ บริษัท ข. ไปทำงานสร้างบ้านพักให้เกิน 180 วัน ถือว่ามีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ และเงินได้นั้น บริษัท ข. ได้จ่ายภาษีในต่างประเทศแล้ว นั้น
เกี่ยวกับกรณีนี้ ขอเรียนว่า บริษัท ก. เป็นบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ไม่ว่าจะประกอบกิจการที่ใด บริษัท ก มีหน้าที่ต้องนำรายได้รายจ่ายจากการประกอบกิจการทั่วโลก (Worldwide Income) มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 66 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักถิ่นที่อยู่ (Resident Rule) โดยให้นำจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้เสียในต่างประเทศมาถือเป็นเครดิตตามอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศนั้น หรือตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)
การหักภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าจ้างทำของในอัตราร้อยละ 3.0 ของเงินได้นั้น บริษัทฯ มีหน้าที่คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 8 วรรคสองของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ในอัตรา 3% ของเงินได้ ดังนี้
“ข้อ 8 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน เฉพาะที่เป็นค่าจ้างทำของ ให้แก่ผู้รับซึ่งเป็น …
(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 3.0”

2. บริษัทฯ ได้จ้างพนักงานคนไทยไปทำงานที่ต่างประเทศ โดยจ่ายเป็นเงินเดือน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้แยกพิจารณาดังนี้
(1) กรณีพนักงานไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ ในประเทศไทยโดยตรง เช่น ออกไปต่างประเทศ เพื่อตกลงทำสัญญา หาตลาด หาข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของสินค้าหรือบริการ ฝึกอบรม ถือว่า พนักงานคนนั้นมีแหล่งเงินได้ในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานคนนั้น ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย โดยบริษัทฯ มีหน้าที่คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีพนักงานคนนั้น ออกไปปฏิบัติงานให้แก่สำนักงานสาขาของบริษัทฯ ในต่างประเทศ ถือว่า พนักงานคนนั้นได้รับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะมีหน้าที่เสียภาษีเงินใต้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ก็ต่อเมื่อ เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน และได้นำเงินได้นั้นกลับเข้ามาในประเทศไทย ภายในปีภาษีเดียวกับปีที่เกิดเงินได้ นั้น ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายจากพนักงานดังกล่าว

3. บริษัทฯ ได้จ้างพนักงานที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศนั้น โดยจ่ายเป็นเงินเดือน หากมีหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่สำนักงานสาขาของบริษัทฯ ในต่างประเทศ ถือว่า พนักงานคนนั้นได้รับเงินได้จากแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะมีหน้าที่เสียภาษีเงินใต้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ก็ต่อเมื่อ เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วัน และได้นำเงินได้นั้นกลับเข้ามาในประเทศไทย ภายในปีภาษีเดียวกับปีที่เกิดเงินได้ นั้น ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายจากพนักงานดังกล่าว และพนักงานในประเทศนั้นไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในต่างประเทศดังกล่าวแต่อย่างใด

4. เมื่อบริษัทฯ ได้รับเงินค่าจ้างขุด ขนดินจากนิติบุคคลต่างประเทศ บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีตามประมวลรัษฎากร เพราะเป็นกิจการที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ไม่เข้าลักษณะที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ อาจต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ

5. การที่บริษัทฯ ไปสร้างบ้านพักพนักงานสำหรับการประกอบกิจการขุด ขนดิน ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นสัญญา บริษัทฯ จะต้องรื้อถอนออกจากที่ดินของผู้ว่าจ้าง ถือว่าบริษัทฯ มี PE ในประเทศนั้น แล้ว บริษัทฯ ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศนั้นๆ
ตอบเมื่อ 22 ก.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ