ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ค่าที่ปรึกษาจ่ายให้กับบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น ต้องหักภาษี ณที่จ่าย และ ภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร

ถามวันที่ 5 เม.ย. 2562  .  ถามโดย h.vasuvanich  .  เข้าชม 26 ครั้ง

เรียนสอบถามอาจารย์
เนื่องจากทางบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นได้มีการยกเลิกการเรียกเก็บค่าสิทธิ แต่เปลี่ยนมาเป็นเรียกเก็บค่าที่ปรึกษาแทน
โดยกำหนดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนเป็นประจำทุกเดือน
อยากขอความกรุณาอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยค่ะว่า
หากบริษัทมีการโอนเงินจ่ายชำระค่าที่ปรึกษาไปให้บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น ทางบริษัทจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม(ภพ 36) หรือไม่อย่างไร

1 คำตอบ
กรณีบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นได้มีการยกเลิกการเรียกเก็บค่าสิทธิ แต่เปลี่ยนมาเป็นเรียกเก็บค่าที่ปรึกษาแทน โดยกำหนดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนเป็นประจำทุกเดือน นั้น
ในเบื้องต้น การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงจากการจ่าย "ค่าสิทธิ" (Royalty) อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ไทย - ญี่ปุ่น ตกลงยอมให้ประเทศไทยจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ มาเป็น "ค่าที่ปรึกษา" ซึ่งเข้าลักษณะเป็น กำไรจากธุรกิจ (Business Profit) ที่ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน กำหนดให้จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ได้เฉพาะกรณีที่บริษัทแห่งประเทศญี่ปุ่น มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เท่านั้น เป็นการใช้ "ช่องโหว่" (Loop-hole) เพื่อหลบหลีก (Tax Avoidance) การเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย จึงไม่อาจใช้เพียงคำพูด (Verbal) มาเป็นเครื่องมือได้ ต้องพิจารณารายละเอียดของข้อตกลงระหว่างบริษัทแม่ และบริษัทในประเทศไทย ว่า มีการตกลงกันไว้อย่างไร และมีการกระทำและผลของการกระทำเช่นนั้นจริงหรือไม่ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่เข้าลักษณะเป็นการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ก็ไม่พ้นเป็นค่าสิทธิต่อไป
ดังนั้น หากบริษัทฯ พิสูจน์ได้โดยชัดแจ้งว่า มีการโอนเงินจ่ายชำระค่าที่ปรึกษาไปให้บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยชัดแจ้ง บริษัทฯ ก็ไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.36 ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ตอบเมื่อ 6 เม.ย. 2562  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ