ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร

ถามวันที่ 21 มิ.ย. 2560  .  ถามโดย nathanan_nan  .  เข้าชม 10 ครั้ง

เรียน อาจารย์สุเทพที่เคารพ

กรณีบริษัทฯ เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารจากบุคคลธรรมดาโดยมีการจดสิทธิการเช่าที่กรมที่ดินเป็นระยะเวลา 30 ปี แต่เนื่องจากทางบริษัทฯ ได้ค้างค่าเช่าที่ดินมาเป็นเวลาหลายปีแล้วรวมเป็นเงินจำนวนประมาณ 30 ล้านบาทได้ ประกอบกับกับทางบริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นซึ่งมีการผลิตภาพยนตร์ของตนเองอยู่หนึ่งเรื่องแต่ยังไม่สมบูรณ์ดี จึงคิดที่จะแปลงหนี้ค่าเช่าที่ดินที่ค้างชำระอยู่ให้เป็นเงินลงทุนให้กับเจ้าของที่ดิน จึงอยากเรียนปรึกษาอาจารย์ดังนี้
1. การแปลงหนี้เป็นเงินลงทุนดังกล่าว ทางด้านผู้ให้เช่าจะถือว่าเขาได้รับชำระเงินค่าเช่าแล้ว ถูกต้องไม่ เนื่องจากได้รับเป็นเงินลงทุนในภาพยนตร์ดังกล่าว ฉะนั้นทางบริษัทฯ จะต้องมีการหัก ภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินจำนวนดังกล่าวในอัตราร้อยละ 5% และผู้รับจะต้องนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยใช่หรือไม่
2. กรณีบริษํทฯ ผิดนัดชำระเงินค่าเช่า มาเป็นเวลานานและผู้ให้เช่ามีความประสงค์จะให้บริษํทฯ ออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว ฉะนั้นในแง่บัญชีตัวอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกสร้างไว้แล้วและไม่สามารถใช้งานได้ต่อไปได้ ทางด้านบัญชี บริษัทฯ สามารถตัดต้นทุนอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกจากบัญชีตามมูลค่าที่เหลืออยู่เป็นค่าเสื่อมราคาได้หรือไม่ ขณะเดียวกันทางบริษัทฯ จะต้องรับรู้รายได้ตามราคาตลาดของอาคารและสิ่งปลูกสร้างด้วยหรือเปล่าค่ะ
2.1 กรณีเจ้าของที่ดินต้องการอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เจ้าของที่ดินจะต้องไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมูลค่าตลาดของอาคารและสิ่งปลูกสร้างด้วยหรือเปล่าค่ะ และในกรณีนี้บริษัทฯ จะต้องนำส่งภาษี หัก ณ ที่จ่าย 5% ด้วยหรือเปล่าค่ะ
2.2 กรณีเจ้าของที่ดินไม่ต้องการอาคารและสิ่งปลูกสร้าง กรณีนี้เจ้าของที่ดินไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช่หรือไม่ค่ะ
รบกวนปรึกษาอาจารย์ด้วยค่ะ
ขอบพระคุณมากค่ะ

1 คำตอบ
กรณีบริษัทฯ เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารจากบุคคลธรรมดา โดยมีการจดสิทธิการเช่าที่กรมที่ดินเป็นระยะเวลา 30 ปี แต่เนื่องจากทางบริษัทฯ ได้ค้างค่าเช่าที่ดินมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว รวมเป็นเงินจำนวนประมาณ 30 ล้านบาทได้ ประกอบกับกับทางบริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นซึ่งมีการผลิตภาพยนตร์ของตนเองอยู่หนึ่งเรื่องแต่ยังไม่สมบูรณ์ดี จึงมีดำริที่จะแปลงหนี้ค่าเช่าที่ดินที่ค้างชำระอยู่ให้เป็นเงินลงทุนให้กับเจ้าของที่ดิน นั้น
1. การแปลงหนี้เป็นเงินลงทุนดังกล่าว ในทางภาษีอากร ถือว่าบริษัทฯ จ่ายชำระหนี้ค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่า ย่อมถือว่าผู้ให้เช่าที่ดินได้รับชำระเงินค่าเช่าแล้ว เนื่องจาก คำว่า "เงินได้พึงประเมิน" หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีเงินได้ที่ได้รับในระหว่างปีภาาี ไม่ว่าจะได้รับเป็นเงินสด ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่อาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน การได้รับหุ้นในบริษัทภาพยนตร์ดังกล่าว ถือเป็นการได้รับทรัพย์สิน ฉะนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ในอัตราร้อยละ 5.0 ของเงินได้ และผู้รับจะต้องนำเงินได้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีที่ได้รับเงิได้พึงประเมินค่าเช่าด้วย ถูกต้องแล้วครับ
2. กรณีบริษํทฯ ผิดนัดชำระเงินค่าเช่า มาเป็นเวลานานและผู้ให้เช่ามีความประสงค์จะให้บริษํทฯ ออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว ฉะนั้นในแง่บัญชีตัวอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกสร้างไว้แล้วและไม่สามารถใช้งานได้ต่อไปได้ ทางด้านบัญชี บริษัทฯ สามารถตัดต้นทุนอาคารและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกจากบัญชีตามมูลค่าที่เหลืออยู่เป็นค่าเสื่อมราคาได้ โดยทางบริษัทฯ ไม่ต้องรับรู้รายได้ตามราคาตลาดของอาคารและสิ่งปลูกสร้างอีก เพราะเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
2.1 กรณีเจ้าของที่ดินต้องการอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เจ้าของที่ดินจะต้องไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมูลค่าตลาดของอาคารและสิ่งปลูกสร้างด้วย เพราะเป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการให้เช่าทีดิน และในกรณีนี้บริษัทฯ ไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เนื่องจากบริษัทฯ มิได้จ่ายเงินได้ให้แก่เจ้าของที่ดิน หากแต่อาคารตกเป็นเจ้าของที่ดินตาม "หลักส่วนควบ" ของทีดิน
2.2 กรณีเจ้าของที่ดินไม่ต้องการอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ต้องมีการรื้อถอน เจ้าของที่ดินจึงจะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ตอบเมื่อ 25 มิ.ย. 2560  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ