ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน

ถามวันที่ 24 พ.ค. 2560  .  ถามโดย ืnannan  .  เข้าชม 20 ครั้ง

เรียนสอบถามหลักเกณฑ์ วิธีการ และข้อกฏหมายทางภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับการโอนกิจการบางส่วนค่ะ
เป็นการโอนกิจการบางส่วน ที่นิติบุคคลโอนให้นิติบุคคลค โดยไม่เข้าเงื่อนไขการยกเว้นรัษฎากร
เนื่องจากไม่ใช่บริษัทฯ ในเครือโอนให้กันค่ะ

ขอบคุณค่ะ

2 คำตอบ
หลักเกณฑ์ วิธีการ และข้อกฏหมายทางภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับการโอนกิจการบางส่วนที่เป็นการโอนกิจการให้แก่กันระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน (ไม่ได้ถาม แต่อยากตอบ)
1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
....ราคาทรัพย์สินที่โอนให้ใช้ราคาทุนตามบัญชี (book value) ตามแนวคำตอบข้อหารือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/5027 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2546 ดังนี้
...."1. การโอนทรัพย์สินให้แก่บริษัทในกลุ่มที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกันดังกล่าว บริษัทฯ สามารถ ใช้ราคาทุนตามบัญชี (book value) ในวันที่บริษัทฯ โอนทรัพย์สิน โดยราคาทุนตามบัญชีดังกล่าวไม่รวมถึงมูลค่าทรัพย์สินที่บริษัทฯ ได้ตีราคาเพิ่มขึ้น เพราะการตีราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมิให้นำมารวมคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ (3) แห่งประมวลรัษฎากร และถือว่ามีเหตุอันสมควรที่จะคิดค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดได้
....2. การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ ณ กรมที่ดินนั้น เมื่อบริษัทในเครือ (ผู้รับโอน) จ่ายค่าตอบแทนการโอนให้กับบริษัทฯ บริษัทผู้รับโอนจะต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ของราคาที่โอนทรัพย์สินแล้วนำส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยภาษีที่หักไว้และนำส่ง ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทฯ ที่ถูกหักภาษีตามรอบระยะเวลาบัญชีที่หักไว้นั้น"
2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์
....ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 516) พ.ศ. 2554 ได้กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน เนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน ดังนี้
........"มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 และอากรแสตมป์ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดที่เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน สำหรับมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ สำหรับการโอนกิจการที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไป
.............“บริษัทในเครือเดียวกัน” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากร และให้หมายความรวมถึงบริษัทผู้โอนกิจการถือหุ้นในบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทผู้รับโอนกิจการอีกทอดหนึ่งต่อเนื่องกันโดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น ทั้งนี้ ความเป็นบริษัทในเครือเดียวกันจะต้องเป็นอยู่ต่อไปไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน
........จากบทบัญญัติดังกล่าว อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
........2.1 การโอนกิจการบางส่วน ต้องเป็นการโอนกิจการให้แก่กันระหว่างบริษัทในเครือเดียวกัน
.............."บริษัทในเครือเดียวกัน” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ บริษัทตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไปซึ่งมีความสัมพันธ์กันในลักษณะดังต่อไปนี้
..............(1) ผู้ถือหุ้นเกินกว่ากึ่งจำนวนผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลหนึ่ง เป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่ากึ่งจำนวนผู้ถือหุ้นในอีกนิติบุคคลหนึ่ง
..............(2) ผู้ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นในนิติบุคคลหนึ่งมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด ถือหุ้นในอีกนิติบุคคลหนึ่งมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด
..............(3) นิติบุคคลหนึ่งถือหุ้นในอีกนิติบุคคลหนึ่งเกินกว่าร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมด หรือ
..............(4) บุคคลเกินกว่ากึ่งจำนวนกรรมการซึ่งมีอำนาจจัดการในนิติบุคคลหนึ่ง เป็นกรรมการซึ่งมีอำนาจจัดการในอีกนิติบุคคลหนึ่ง
..............และให้หมายความรวมถึงบริษัทผู้โอนกิจการถือหุ้นในบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทผู้รับโอนกิจการอีกทอดหนึ่งต่อเนื่องกันโดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น ทั้งนี้ ความเป็นบริษัทในเครือเดียวกันจะต้องเป็นอยู่ต่อไปไม่น้อยกว่าหกเดือนนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน
........2.2 การโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดี เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ดังนี้
.............อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 516) พ.ศ. 2554 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ดังต่อไปนี้
.............ข้อ 1 ต้องเป็นการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และต้องเป็นบริษัทในเครือเดียวกันตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความเป็นบริษัทในเครือเดียวกันจะต้องเป็นอยู่ต่อไปไม่น้อยกว่าหกเดือน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันบริษัทในเครือเดียวกันตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงบริษัทผู้โอนกิจการถือหุ้นในบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทผู้รับโอนกิจการอีกทอดหนึ่งต่อเนื่องกัน โดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น และในกรณีที่การถือหุ้นในบริษัทผู้รับโอนกิจการได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นที่ถือภายหลังการโอนกิจการโดยการถือหุ้นยังคงมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทผู้รับโอนกิจการ ทั้งนี้ บริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในวันที่มีการรับโอนกิจการ ไม่น้อยกว่าราคาทรัพย์สินสุทธิที่โอน
.............ข้อ 2 บริษัทผู้โอนกิจการและบริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องร่วมกันทำหนังสือแจ้งการโอนกิจการและส่งแผนปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพร้อมกับแสดงรายการทรัพย์สินที่โอน ยื่นต่ออธิบดีกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทผู้โอนกิจการตั้งอยู่ หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับบริษัทผู้โอนกิจการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ตามแบบที่กำหนดในประกาศนี้ ก่อนที่จะมีการโอนกิจการระหว่างกันบริษัทผู้โอนกิจการจะต้องโอนกิจการบางส่วน ให้แล้วเสร็จภายในวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ตกลงโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันสำหรับบริษัทผู้โอนกิจการและบริษัทผู้รับโอนกิจการที่ได้ดำเนินการโอนกิจการไปแล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ หากประสงค์จะรับสิทธิยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 516) พ.ศ. 2554 จะต้องร่วมกันทำหนังสือแจ้งการโอนกิจการและส่งแผนปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพร้อมกับแสดงรายการทรัพย์สินที่โอน ยื่นต่ออธิบดีกรมสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทผู้โอนกิจการตั้งอยู่ หรือสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่สำหรับบริษัทผู้โอนกิจการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้ลงประกาศฉบับนี้ในราชกิจจานุเบกษา
.............ข้อ 3 ต้องเป็นการโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับประเภทของกิจการที่โอนนั้น ซึ่งมิใช่เป็นการขายอันเป็นปกติธุระ และบริษัทผู้รับโอนกิจการต้องนำไปดำเนินกิจการในลักษณะเดียวกัน
.............ข้อ 4 กรณีบริษัทผู้โอนกิจการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรและบริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องนำสินค้าหรือทรัพย์สินที่รับโอนนั้นไปใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทโดยตรง
.............ข้อ 5 บริษัทผู้โอนกิจการต้องไม่โอนทรัพย์สินโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควรในวันที่โอนกิจการ
.............ข้อ 6 บริษัทผู้โอนกิจการและบริษัทผู้รับโอนกิจการจะต้องไม่เป็นลูกหนี้ภาษีอากรค้างของกรมสรรพากร ณ วันที่โอนกิจการเว้นแต่จะได้มีการค้ำประกันหนี้ภาษีอากรตามระเบียบที่กรมสรรพากรกำหนดแล้ว
.............ข้อ 7 ผู้สอบบัญชีของบริษัทผู้โอนกิจการและบริษัทผู้รับโอนกิจการต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๓ สัตต แห่งประมวลรัษฎากร เป็นผู้รับรองบัญชีในรอบระยะเวลาที่มีการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน และเป็นผู้รับรองผลการประกอบกิจการและการเป็นบริษัทในเครือเดียวกันตามข้อ ๑
.............ข้อ 8 กำหนดให้แบบต่อไปนี้ เป็นแบบเกี่ยวกับการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร
......................(1) แบบ อ.บ.๑ หนังสือแจ้งการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน
......................(2) แบบ อ.บ.๒ แบบแจ้งรายการทรัพย์สินที่โอน
......................(3) แบบ อ.บ.๓ แบบแจ้งการเป็นลูกหนี้ค่าภาษีอากรสำหรับการโอนกิจการบางส่วนให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด
......................(4) แบบ อ.บ.๔ แบบหนังสือรับรองการเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน
........2.3 ทั้งนี้ สำหรับการโอนกิจการที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป

สำหรับการโอนกิจการบางส่วน ที่นิติบุคคลโอนให้นิติบุคคล โดยไม่เข้าเงื่อนไขการยกเว้นรัษฎากร เนื่องจากไม่ใช่การโอนระหว่างงบริษัทในเครือเดียวกันโอน
การกระทำดังกล่าว ถือเป็นการขายทรัพย์สินให้แก่กัน ในทางธุรกิจทั่วไป ซึ่งมีภาระภาษีที่เกี่ยวข้องดังนี้
1. กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล
....1.1 ราคาโอนให้ใช้ราคาตลาดตามนัยมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
....1.2 กรณีโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทผู้โอน ณ กรมที่ดินนั้น เมื่อบริษัทผู้รับโอนจ่ายค่าตอบแทนการโอนให้กับบริษัทผู้โอน บริษัทผู้รับโอนจะต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ของราคาที่โอนทรัพย์สินแล้วนำส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยภาษีที่หักไว้และนำส่ง ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้ของบริษัทฯ ที่ถูกหักภาษีตามรอบระยะเวลาบัญชีที่หักไว้นั้น
2. กรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม
....สำหรับการโอนทรัพย์สินหรือสินค้าของกิจการที่อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้โอนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนสินค้าหรือทรัพย์สินดังกล่าว โดยใช้มุลค่าของสินค้าหรือทรัพย์สินตามราคาตลาดตามนัยมาตรา 79/3 แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีภาษีธุรกิจเฉพาะ
....สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์หรือหรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทผู้โอน ณ กรมที่ดินนั้น เมื่อบริษัทผู้โอนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 1.0 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ นั้น
4. กรณีอากรแสตมป์
....สำหรับการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นหรือเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวโอนกิจการบางส่วนให้แก่กัน หากต้องปิดอากรแสตมป์ก็ให้ปิดอากรแสตมป์ตามอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราอากรแสตมป์
นอกจากนี้ ผู้โอนและผู้รับโอนยังอาจต้องชำระค่าธรรมเนียมโอนตามกฎหมายที่ดิน สำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมด้วย
ตอบเมื่อ 4 มิ.ย. 2560  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ
A บริษัทแม่ เป็นบริษัทมหาชน ประกอบธุรกิจขายคอนโด และถือหุ้นบริษัทในเครือ B 90% ในปี 2537
B บริษัทในเครือ ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขายบ้าน ทาวน์เฮาส์
ปี 2561 บริษัท B โอนโครงการบางส่วนให้บริษัทแม่ A
คำถาม
บริษัทในเครือโอนกิจการบางส่วนให้บริษัทแม่ ไม่ใช่บริษัทแม่โอนให้บริษัทในเครือ จะเข้าข่ายยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่
ตอบเมื่อ 11 ก.ค. 2561  .  ตอบโดย wesuporn