ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

เงินได้นักฟุตบอลอาชีพ

ถามวันที่ 25 ก.ย. 2559  .  ถามโดย phitchom  .  เข้าชม 7 ครั้ง

กรณีบริษัทซึ่งเป็นสโมสรฟุตบอล ได้จ้างนักฟุตบอลอาชีพ ทำสัญญาจ้างระบุจ่ายค่าจ้างเดือนละ XXXX บาท เท่ากันทุกเดือน เป็นเวลา 1 ปี หรือบางคน 2-3 ปี แล้วแต่ว่านักกีฬามีชื่อเสียงหรือไม่นั้น แต่บริษัทก็จะพิจารณาผลงานแต่ละฤดูกาลแข่งขันด้วย หากผลงานไม่ดี อาจยกเลิกสัญญา ขอถามว่า
1. ถือว่าเงินค่าจ้างที่จ่ายไปนั้น บริษัทควรคำนวณหักนำส่งตามแบบ ภ.ง.ด.1 หรือแบบ ภ.ง.ด.3
2. สิ้นปีภาษีนักกีฬาอาชีพจะยื่นภาษีเป็นเงินได้ประเภท 40 (1) หรือ (8) คะ
3. หากบริษัท ออกค่าเช่าบ้าน ค่าเช่ารถ และค่าภาษีให้ โดยไม่ได้ระบุในสญญา ถือเป็นผลประโยชน์เพิ่มของนักกีฬาด้วยใช่ไหมคะ

1 คำตอบ
เรียน คุณ phitchom

กรณีบริษัทฯ ซึ่งเป็นสโมสรฟุตบอล ได้จ้างนักฟุตบอลอาชีพ ทำสัญญาจ้างระบุจ่ายค่าจ้างเดือนละ XXXX บาท เท่ากันทุกเดือน เป็นเวลา 1 ปี หรือบางคน 2 - 3 ปี แล้วแต่ว่านักกีฬามีชื่อเสียงหรือไม่นั้น แต่บริษัทฯ ก็จะพิจารณาผลงานแต่ละฤดูกาลแข่งขันด้วย หากผลงานไม่ดี อาจยกเลิกสัญญา นั้น
1. เนื่องจากนักกีฬาอาชีพ เข้าลักษณะเป็นนักแสดงสาธารณะ โดยถือเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ใช่ค่าจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับค่าจ้างที่จ่ายให้แก่นักฟุดบอลไปนั้น บริษัทฯ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามแบบ ภ.ง.ด.3 ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ดังนี้
(ก) กรณีนักแสดงสาธารณะมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ให้คำนวณหักภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 5.0
(ข) กรณีนักแสดงสาธารณะมีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศ ให้คำนวณหักภาษีไว้ตามอัตราที่ กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. สิ้นปีภาษีนักกีฬาอาชีพจะยื่นภาษีเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
นักกีฬาอาชีพมีหน้าที่ยื่นรายการและชำระภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้ง ดังนี้
(1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ให้นำเงินได้ของนักแสดงสาธารณะ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนไป ยื่นรายการและชำระภาษีภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.94
(2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ให้นำเงินได้ของนักแสดงสาธารณะ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม ไปยื่นรายการและชำระภาษีภายใน เดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยใช้แบบ ภ.ง.ด.90 ทั้งนี้ ให้นำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีที่ชำระไว้ตาม (1) มาถือเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษี
ในการเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาของนักแสดงสาธารณะตามข้อ 2 ให้คำนวณหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอม ให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ดังนี้
(1) หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร หรือ
(2) หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ดังนี้
(ก) สำหรับเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 60
(ข) สำหรับเงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 40 การหักค่าใช้จ่ายตาม (ก) และ (ข) รวมกันต้องไม่เกิน 600,000 บาท
3. หากบริษัท ออกค่าเช่าบ้าน ค่าเช่ารถ และค่าภาษีให้ โดยไม่ได้ระบุในสญญา ถือเป็นผลประโยชน์เพิ่มของนักกีฬาด้วย ถูกต้องแล้ว
ตอบเมื่อ 2 ต.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ