ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การหักค่าเสื่อมราคารถยนต์นั่งไม่เกิน 10ที่นั่ง

ถามวันที่ 9 ก.ค. 2559  .  ถามโดย boonruk888  .  เข้าชม 134 ครั้ง

กราบเรียนอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์
รถยนต์นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่งสำหรับกิจการทั่วไป หากมีราคาเกินกว่า 1 ล้านบาท ย่อมไม่สามารถหักค่าเสื่อมราคาในส่วนที่เกินกว่า 1 ล้านบาทในบัญชีภาษีอากรได้ ซึ่งเท่ากับว่าในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี 5 รอบ กิจการได้บวกกลับค่าเสื่อมราคาไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 รอบบัญชีละ 2แสนบาท และได้ชำระภาษีเงินได้จากรายจ่ายต้องห้ามดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว สมมติว่ากิจการซื้อรถยนต์นั่งในราคา 2 ล้านบาท ระหว่างระยะเวลาบัญชี 5 รอบ กิจการคิดค่าเสื่อมทางบัญชีวิธีเส้นตรงปีละ 4 แสนบาท ในทางภาษีอากรได้บวกกลับค่าเสื่อมราคาปีละ 2 แสนบาทไปแล้วเป็นระยะเวลา 5 รอบบัญชี อัตราภาษีเงินได้ 20% เท่ากับได้เสียภาษีเงินได้เพิ่ม จากค่าใช้จ่ายต้องห้ามดังกล่าวปีละ4หมื่นบาท เป็นระยะเวลา 5ปีเท่ากับ2แสนบาทต่อมากิจการได้ขายรถยนต์นั่งในปีที่ 6 ในราคา 1.4 ล้านบาท
ในบัญชีการเงิน กิจการมีกำไรจากการขายรถยนต์นั่ง 1.4ล้านบาท แต่ในทางภาษีอากร
ต้องนำต้นทุนรถยนต์นั่ง 1 ล้านบาทมาบวกกลับด้วย ทำให้กำไรฯทางภาษีอากรเป็น 2.4ล้านบาท

การบวกกลับค่าเสื่อมราคาปีละ
2 แสนบาทเป็นระยะเวลา 5 รอบบัญชี เท่ากับกิจการได้เสียภาษีของมูลค่ารถยนต์ 1ล้านบาทแล้วแต่ในปีที่6การไม่ให้นำต้นทุนรถยนต์นั่ง 1 ล้านบาทไปถือเป็นรายจ่ายในปีที่ขาย เท่ากับว่ากิจการเสียภาษีจากต้นทุนรถยนต์ 1 ล้านบาทซ้ำซ้อนอีกหรือไม่ครับ

1 คำตอบ
เรียน คุณ boonruk888
กรณีบริษัทฯ ซื้อรถยนต์นั่งราคา 2 ล้านบาท โดยเลือกตัดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีเส้นตรง ที่อายุการใช้งาน 5 ปี (แบบไม่มีค่าซาก) ซึ่งจะได้เป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในทางบัญชีปีละ 4 แสนบาท ในทางภาษีอากรบริษัทฯ ได้บวกกลับในแบบ ภ.ง.ด.50 ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลปีละ 2 แสนบาท รวม 5 ปีเป็นเงิน 1,000,000 บาท เมื่อครบ 5 รอบระยะเวลาบัญชี บริษัทฯ ได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวไปในราคา 1.4 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นกำไรจากการขายทรัพย์สิน (ทางบัญชี) ทั้งจำนวน เพราะไม่มีต้นทุนที่จะหักอีกแล้ว
เช่นนี้ ในทาวภาษีอากร บริษัทฯ ไม่มีอะไรต้องบวกกลับอีกตามที่ คุณ boonruk888 เขียนถามไป แต่อย่างใด เพราะกำไรจากการขายทรัพย์สินดังกล่าว มีจำนวนเท่ากับกำไรจากการขาทรัพย์สินในทางภาษีอากร
ลองมาสมมติโจทย์กันใหม่ เป็นว่า บริษัทฯ มีตีราคามูลค่าซากรถยนต์หลังจากหมดอายุการใช้งานที่ 500,000 บาท ค่าสึกหรอและเสื่อมราคาทางบัญชีคำนวณได้ปีละ (1,500,000/5 = 300,000 บาท ในทางภาษีอากรบริษัทฯ ได้บวกกลับในแบบ ภ.ง.ด.50 ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลปีละ (300,000 - 200,000) = 100,000 บาท รวม 5 ปีเป็นเงิน 500,000 บาท เมื่อครบ 5 รอบระยะเวลาบัญชี บริษัทฯ ได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวไปในราคา 1,400,000 บาท ซึ่งจะเป็นกำไรจากการขายทรัพย์สิน (ทางบัญชี) จำนวน 900,000 บาท ในกรณีนี้ บริษัทฯ ต้องบวกกลับต้นทุนทางบัญชี 500,000 บาท ทำให้มีกำไรจากการขายทรัพย์สินรถยนต์ทางภาษีอากรเป็นเงิน 1,400,000 บาท ซึ่งจะเท่ากับวิธีที่ 1 ข้างต้น ทุกประการ
ตอบเมื่อ 11 ก.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ