ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการให้คำปรึกษาของบริษัทประเทศสหรัฐอเมริกา และ ฮ่องกง

ถามวันที่ 13 ก.ย. 2559  .  ถามโดย Siwaporn.ku  .  เข้าชม 13 ครั้ง

เรียนถาม ท่านอาจารย์สุเทพที่เคารพ ดังนี้ค่ะ
ข้อเท็จจริง
บริษัท ก : เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ตั้งอยู่ในประเทศไทย ประกอบกิจการผลิตแป้งและผงปรุงรส
บริษัท A: เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ในประเทศอมริกา ไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย
ถือหุ้นในบริษัท ก ร้อยละ 80 และเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ก และเป็นบริษัทแม่ของบริษัทอื่น ๆ ที่ประกอบการเช่นเดียวกับบริษัท ก อีกหลาย ๆ บริษัท ที่ตั้งอยู่ทั่วโลก
บริษัท H: เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศฮ่องกง ตั้งอยู่ในฮ่องกง ได้รับแต่งตั้งจาก บริษัท A ให้เป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชีย เพื่อดูแลบริษัทลูกๆ ของบริษัท A ในเขตเอเซีย
1. ลักษณะการให้บริการ บริษัท ก. ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท A ให้บริการดูแลให้คำปรึกษาบริษัท ก ในหลายด้าน ได้แก่
ด้านการดำเนินธุรกิจ ด้านการดำเนินการของฝ่ายบริหาร ด้านระบบและขั้นตอนการดำเนินงาน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ด้านการเงินและบัญชี ด้านการคลัง ด้านกฎหมาย ด้านการประกันภัยและการป้องกันความเสี่ยง ด้านภาษี ด้านการตลาด ด้านการจัดซื้อและการกระจายสินค้า ด้านการจัดส่ง ชิปปิ้ง และการรับสินค้า ด้านการบริหารงานบุคคลและสวัสดิการพนง. ด้านการวางแผนและกุลยุทธ์
โดยที่ผ่านมา บริษัท A จะให้บริการดูแลพัฒนา Sofeware, Hardware โดยเรียกว่าระบบ Baan system ซึ่งเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับ Computer System ทั้งหมด และในการ Update, Upgrade, การซ่อมแซม, หรือ การปรับปรุงแก้ไข จะต้องได้รับการอนุมัติจาก บริษัท A บริษัทฯ ไม่สามารถจัดการเองได้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ไม่สามารถ ไม่ทำตามนโยบายการบริหารงานหลักได้ ตัวอย่างเช่น บริษัท ก ไม่สามารถเจรจาเปิดตลาดกับลูกค้าในประเทศไทยที่มีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศเองได้ จะต้องเป็นลักษณะ บริษัท A (บริษัทแม่ของบริษัท ก) เจรจาเปิดตลาดกับบริษัทแม่นั้น ในระดับโลกก่อนและค่อยส่งเรื่องให้บริษัท ก ดำเนินการติดต่อกับบริษัทลูกค้าที่เป็นบริษัทลูกในไทยได้
ลักษณะการจ่ายค่าตอบแทน
บริษัท A ออก Invoice เรียกเก็บค่าบริการมายังบริษัท ก เป็นรายเดือน เป็นแบบยอดเหมาจ่าย มิได้แยกประเภทการให้บริการ ทั้งนี้ ยอดเรียกเก็บค่าบริการ บริษัทฯ จะทราบล่วงหน้าเป็นยอดเรียกเก็บโดยประมาณ จากการประชุมในแต่ละต้นรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งในการเรียกเก็บเงินค่าบริการจริงในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะมากกว่ายอดที่ทราบตอนประชุมต้นปี และบริษัท ก ทราบเพียงว่า ยอดค่าบริการที่บริษัท A เรียกเก็บมายังบริษัท ก เกิดจากบริษัท A มีต้นทุนในเรื่องของการดูแลให้คำปรึกษาบริษัทลูกทั่วโลก จึงแชร์ยอดรายจ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดในการดูแลบริษัทลูกทั่วโลกมาเรียกเก็บจาก บริษัทลูกในแต่ละประเทศ

2. บริษัท ก. ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท H ให้บริการเกี่ยวกับการประสานงานเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัทแม่(บริษัท A) ลักษณะการให้บริการติดต่อประสานงานระหว่างบริษัทแม่ กับบริษัท ก ในหลายด้าน ได้แก่
ด้านบริหารกิจการ ด้านระบบสารสนเทศ ด้านการเงินและบัญชี ด้านการคลัง ด้านกฎหมาย ด้านการประกันภัยและการป้องกันความเสี่ยง ด้านภาษีอากร ด้านการตลาด ด้านทรัพยากรมนุษย์และสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ด้านการวางแผนและกุลยุทธ์ ด้านวิศวกรรม
โดยบริษัท H จะส่งผู้บริหารเข้ามาช่วยบริหารงานที่บริษัท ก ได้แก่ President 1 คน, Finance 2 คน, Supply Chain 1 คน, Sales Marketing 1คน, เอ็นจิเนียร์ 1 คน
ลักษณะการจ่ายค่าตอบแทน
บริษัท A ออก Invoice เรียกเก็บค่าบริการมายังบริษัท ก เป็นรายไตรมาส เป็นแบบยอดเหมาจ่าย มิได้แยกประเภทการให้บริการ ทั้งนี้ ยอดเรียกเก็บค่าบริการ บริษัทฯ จะทราบล่วงหน้าเป็นยอดเรียกเก็บโดยประมาณ จากการประชุมในแต่ละต้นรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งในการเรียกเก็บเงินค่าบริการจริงในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะไม่เปลี่ยนแปลงจากยอดค่าบริการที่ทราบจากการประชุมต้นปี
ในการจ่ายชำระเงิน เนื่องจาก บริษัท H ยังเป็นลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าสำเร็จรูปจากบริษัท ก ด้วยดังนั้น ทุก ๆ ไตรมาส ที่บริษัท H ออก Invoice มาเรียกเก็บค่าบริการ บริษัทฯ จะทำการหักกลบลบหนี้กับ ยอดหนี้ที่ค้างจากการสั่งซื้อสินค้า ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท ก จะไม่ได้จ่ายค่าบริการนี้ไป บริษัท H แต่อย่างใด เพราะ บริษัท H เป็นหนี้มากกว่ายอดค่าบริการ

คำถาม
1. เมื่อบริษัท ก จ่ายค่าบริการไปยังบริษัท A ประเทศอเมริกา บริษัท ก มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (2) โดยต้องยื่นรายการ และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปถูกต้องแล้วใช่หรือไม่
2. เมื่อบริษัท ก มิได้มีการโอนเงินค่าบริการไปให้ บริษัท H ที่ฮ่องกง เนื่องจากใช้วิธีหักกลบลบหนี้ นั้นบริษัทฯ เข้าใจว่าในเมื่อบริษัทฯ มิได้มีการโอนเงินจ่ายค่าบริการไปยังบริษัท H จึงไม่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร และหากไม่ถูกต้อง บริษัท ก จะถือวันใดเป็นวันที่จ่ายเงินค่าบริการ ไปต่างประเทศ
3. ค่าตอบแทนที่บริษัท ก จ่ายให้กับ บริษัท A และ บริษัท H นั้น เข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทใดตามอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา, เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
4. เมื่อบริษัท ก จ่ายค่าบริการไปยัง บริษัท A, และ บริษัท H ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลบริษัท ก มีภาระต้องนำส่งภาษีอย่างไร

1 คำตอบ
เรียน คุณ Siwaporn.ku

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. เมื่อบริษัท ก จ่ายค่าบริการไปยังบริษัท A ประเทศอเมริกา บริษัท ก มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องยื่นรายการ และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.36 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ถูกต้องแล้ว
2. เมื่อบริษัท ก มิได้มีการโอนเงินค่าบริการไปให้บริษัท H ที่ฮ่องกง เนื่องจากใช้วิธีหักกลบลบหนี้ นั้นบริษัทฯ เข้าใจว่าในเมื่อบริษัทฯ มิได้มีการโอนเงินจ่ายค่าบริการไปยังบริษัท H จึงไม่ต้องยื่นแบบ ภ.พ.36 นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ไม่ถูกต้อง บริษัท ก จะถือวันที่ตกลงหักกลบลบหนี้เป็นวันที่จ่ายเงินค่าบริการไปให้บริษัท H ที่ฮ่องกง
3. ค่าตอบแทนที่บริษัท ก จ่ายให้กับ บริษัท A และ บริษัท H นั้น เข้าลักษณะเป็นเงินได้กำไรจากธุรกิจ (Business Profit) ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา, เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
4. เมื่อบริษัท ก จ่ายค่าบริการไปยัง บริษัท A, และ บริษัท H ในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลบริษัท ก ไม่มีภาระต้องนำส่งภาษี ตามข้อ 3 ข้างต้น
ตอบเมื่อ 2 ต.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ