ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้นตาม พรฎ.(ฉ.604) (4) เรื่อง อาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย

ถามวันที่ 31 ส.ค. 2559  .  ถามโดย oranuch.abs  .  เข้าชม 23 ครั้ง

กราบเรียนอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์
ดิฉันใคร่ขอสอบถาม กรณีก่อสร้าง ปรับปรุง ต่อเติมหรือทำให้ดีขึ้นในสินทรัพย์กลุ่มอาคารถาวร โดยมีคำถามดังนี้
(1)กรณีที่บริษัทได้ทำสัญญาเช่า (การเซ้งพื้นที่) ระยะยาวในศูนย์การค้า (โดยสิทธิที่การเช่านี้มีอายุ 13 ปี) โดยบริษัทได้มีการว่าจ้างผู้รับเหมามาทำการ ต่อเติม ดัดแปลง ในกรณีเช่นนี้ ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปเพิ่อปรับปรุง ต่อเติม ดัดแปลงพื้นที่เป็นจำนวนเงินประมาณ 3 ล้านบาท
(2)เนื่องกรณีไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อสร้าง ต่อเติมหรือดัดแปลงต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เนื่องจากไม่ต้องด้วยพรบ ควบคุมอาคารฯ โดยกิจการดำเนินว่าจ้างผู้รับหมาตาม (1) จะถือว่าได้สิทธิตาม พรฎ. (ฉ.604) ไหมคะ
จากเนื่องหาข้างบนทั้ง (1) และ (2) ขอเรียนถามอาจารย์ดังนี้คะ
1. ค่าเซ้งพื้นที่ที่บริษัทได้จ่ายไปให้แก่ศูนย์การค้า บริษัทจะทยอยตัดค่าสิทธิการเช่าเป็นค่าใช้จ่ายตามสัญญาเช่าคือ 13 ปี ถูกต้องไหมคะ
2. ส่วนปรับปรุงสิทธิการเช่า จำนวน 3 ล้านบาทที่จ่ายให้ผู้รับเหมา บริษัทสามาถตัดค่าเสื่อมราคาตามวิธีเส้นตรง ในอัตราร้อยละ 20% ได้ไหมคะ
3. ส่วนปรับปรุงสิทธิการเช่า จำนวน 3 ล้านบาทที่จ่ายให้ผู้รับเหมา บริษัทจะสามารถนำไปหักรายจ่ายเพิ่มตาม พรฎ (ฉ. 604) (4) ได้ไหมคะ


ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงคะ




1 คำตอบ
เรียน คุณ oranuch.abs

กรณีการใช้สิทธิตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 สำหรับค่าก่อสร้าง ปรับปรุง ต่อเติมหรือทำให้ดีขึ้นในสินทรัพย์กลุ่มอาคารถาวร
(1) กรณีที่บริษัทฯ ได้ทำสัญญาเช่า (การเซ้งพื้นที่) ระยะยาวในศูนย์การค้า (โดยสิทธิที่การเช่านี้มีอายุ 13 ปี) โดยบริษัทได้มีการว่าจ้างผู้รับเหมามาทำการ ต่อเติม ดัดแปลง ในกรณีเช่นนี้ ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปเพิ่อปรับปรุง ต่อเติม ดัดแปลงพื้นที่เป็นจำนวนเงินประมาณ 3 ล้านบาท
(2) เนื่องกรณีไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อสร้าง ต่อเติมหรือดัดแปลงต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เนื่องจากไม่ต้องด้วยพรบ ควบคุมอาคารฯ โดยกิจการดำเนินว่าจ้างผู้รับหมาตาม (1)
ตามข้อ 2 วรรคสองของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 270) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเบี้องต้นดังนี้
"ทรัพย์สินตามข้อ 1 (4) (ได้แก่ อาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงอาคารถาวรที่ใช้เพื่ออยู่อาศัย) ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน ดังนี้
(1) ต้องขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 หรือ
(2) ต้องแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 หรือ
(3) กรณีที่ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จะต้องเกิดจากสัญญาจ้าง ใบสั่งจ้างหรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้นที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
การลงทุนในทรัพย์สินตามข้อ 1(4) ไม่รวมถึงการลงทุนในทรัพย์สินโดยการซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินนั้นมา”
ดังนั้น รายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพิ่อปรับปรุง ต่อเติม ดัดแปลงพื้นที่เป็นจำนวนเงินประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร โดยยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ ที่มิได้ยกให้แก่ผู้ให้เช่าตลอดอายุการเช่า และมิใช่ส่วนที่เป็นค่าตกแต่ง บริษัทฯ ย่อมได้สิทธิตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559
ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า
1. ค่าเซ้งพื้นที่ที่บริษัทได้จ่ายไปให้แก่ศูนย์การค้า บริษัทจะทยอยตัดค่าสิทธิการเช่าเป็นค่าใช้จ่ายตามสัญญาเช่าคือ 13 ปี ถูกต้องแล้วครับ
2. ส่วนปรับปรุงสิทธิการเช่า จำนวน 3 ล้านบาทที่จ่ายให้ผู้รับเหมา บริษัทฯ ไม่สามาถตัดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามวิธีเส้นตรง ในอัตราร้อยละ 20% ได้ เพราะเป็นส่วนของอาคารถาวร บริษัทฯ จึงต้องคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นทุน ตามมาตรา 4 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
3. ส่วนปรับปรุงสิทธิการเช่า จำนวน 3 ล้านบาทที่จ่ายให้ผู้รับเหมา บริษัทฯ สามารถนำไปหักรายจ่ายเพิ่มตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 604) โดยถือเป็นทรัพย์สินตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับดังกล่าว ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
ตอบเมื่อ 11 ก.ย. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ