ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

เงื่อนไขการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ถามวันที่ 25 ส.ค. 2559  .  ถามโดย mayunaphomsith  .  เข้าชม 26 ครั้ง

อาจารย์คะ พอดีมีปัญหาเรื่องการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ
-----
คือหนูมารับต่อทำบัญชีของโรงแรมแห่งหนึ่ง พบว่ามีการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ค่าอาหารและเครื่องดื่ม กรณีลูกค้าซื้อย่อย
ได้สอบถามคนเก่าว่า มีการขออนุญาติออกไหม ไม่มีใครตอบได้คะ
ขอสอบถามอาจารย์ว่า เขาสามารถออกได้เลยไหม หรือว่าต้องขออนุญาต หากต้องมีการขออนุญาตเราตรวจสอบได้ที่ไหนคะ
ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงคะ

1 คำตอบ
เรียน คุณ mayunaphomsith

เกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการโรงแรม และภัตตาคาร นั้น
ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขของการประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะ ขายปลีกหรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ให้เป็นกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้โดยไม่ต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร เว้นแต่การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Cash Register) ดังนี้
มาตรา 86/6 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก หรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก อธิบดีมีอำนาจกำหนดลักษณะและหรือเงื่อนไขของการประกอบกิจการดังกล่าว ให้เป็นกิจการค้าปลีกและในกิจการค้าปลีกการแสดงราคาสินค้า หรือราคาค่าบริการจะต้องเป็นการแสดงราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32) )
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) )
ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีก มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้แต่ตัวแทนของผู้ประกอบการจดทะเบียนจะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อไม่ได้
ใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(2) ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
(3) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี
(4) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
(5) ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่าได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
(6) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
(7) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 45) )
(ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.37/2536 )
ชื่อ ชนิด หรือประเภทของสินค้าตามวรรคหนึ่งจะออกเป็นรหัสก็ได้โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องแจ้งรหัสให้อธิบดีทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสิบห้าวันก่อนวันใช้รหัสนั้น
รายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อให้ทำเป็นภาษาไทย เป็นหน่วยเงินตราไทย และใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดี
(ดู ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 92) )
ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีก ซึ่งประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดี และการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินดังกล่าว จะต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่อธิบดีกำหนด
(ดู คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 25/2537 )
(ดู ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 73) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.37/2536 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.40/2537 )
ให้นำมาตรา 86/4 วรรคสาม มาใช้บังคับในการออกใบกำกับภาษีตามมาตรานี้"
"ข้อ 2 การประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีกหรือการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก ซึ่งเป็นกิจการค้าปลีกต้องมีลักษณะหรือเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) เป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงและได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภคหรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป เช่น การขายสินค้าของกิจการแผงลอยกิจการขายของชำ กิจการขายยา กิจการจำหน่ายน้ำมัน และกิจการห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้ เฉพาะในการขายสินค้าที่เป็นไปตามลักษณะและหรือเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น
(2) การให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น การให้บริการของกิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม กิจการซ่อมแซมทุกชนิด กิจการโรงภาพยนต์ และกิจการสถานบริการน้ำมัน เป็นต้น
กิจการภัตตาคารได้แก่กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใด ๆ รวมทั้งกิจการรับจ้างปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าในหรือนอกสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้
(3) ผู้ประกอบการตาม (1) และ (2) ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี ซึ่งมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้งที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเรียกร้อง พร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าว ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ"

ตอบเมื่อ 26 ส.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ