ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

บุคคลธรรมดาโอนทรัพย์สินให้นิติบุคคลเริ่มตั้งต้น

ถามวันที่ 10 ส.ค. 2559  .  ถามโดย boonruk888  .  เข้าชม 17 ครั้ง

มติ ครม. เมื่อวันที่ 9/08/59......10/08/59

^o^ 3. เรื่อง มาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล (ร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างประกาศ รวม 4 ฉบับ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล

2. อนุมัติหลักการ
2.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่าย ที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

2.2 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

3. เห็นชอบในหลักการ
3.1 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่ นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตามมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคลตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

3.2 ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดสำหรับการโอนห้องชุดของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกในการพิจารณาให้บุคคลธรรมดาสามารถโอนใบอนุญาตในการประกอบกิจการให้นิติบุคคลตั้งใหม่ได้

สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาสำหรับเงินได้ พึงประเมินตามมาตร 40 (7) คือเงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ และ (8) คือเงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) ที่มีอัตราการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่สูงกว่าร้อยละ 60 ให้ลดลงเหลือร้อยละ 60 สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

2. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

2.1 กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาสำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินใด ๆ ให้แก่บริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้ง ตั้งแต่วันถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560

2.2 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้ง ตั้งแต่วันถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 โดยมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำรายจ่ายอันเกิดจากการ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล รายจ่ายค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชีมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันที่ได้รับการจัดตั้งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

3. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตามมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สำหรับบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่ โอนอสังหาริมทรัพย์ของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลตั้งใหม่นั้นจากร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ เป็นร้อยละ 0.01

4. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและ นิติกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดสำหรับการโอนห้องชุดของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตามมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนและนิติกรรม สำหรับบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่โอนห้องชุดของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่นิติบุคคลตั้งใหม่นั้นจากร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ เป็นร้อยละ 0.01

จากร่างกฎหมายที่กำลังจะออกใหม่ข้างต้น ผมใคร่ขอกราบเรียนถามอาจารย์สุเทพ ดังนี้
1)กรณีโอนสินทรัพย์เพื่อจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งต้นขึ้นใหม่ ยังไม่มีรายได้ จะสามารถได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้หรือไม่
2)หากสินทรัพย์ที่ดินและอาคาร มีมูลค่าตามราคาประเมินจากกรมที่ดินมีราคา 25 ล้านบาท บุคคลธรรมดาได้โอนสินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งต้นขึ้นใหม่ โดยจดทะเบียนทุน 5ล้านบาท และบันทึกเป็นเจ้าหนี้เงินยืมกรรมการ 20ล้านบาท สามารถทำได้หรือไม่
3)คำว่า ทุนจดทะเบียน จำเป็นหรือไม่ว่า จะต้องเรียกชำระค่าหุ้นเป็นเงินจนครบถ้วน หรือเพียงแค่เรียกชำระอย่างน้อยร้อยละ 25ตาม ป.พ.พ.

ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์มาด้วยความเคารพ

2 คำตอบ
เรียน boonruk888

ขอบคุณสำหรับข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล

1) กรณีโอนสินทรัพย์เพื่อจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งต้นขึ้นใหม่ หากบริษัทฯ ยังไม่มีรายได้ ก็จะยังคงได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว เพราะกฎหมาย limit รายได้ไว้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อรอบระยะเวลาบัญชี แม้ไม่มีรายได้ ก็ยังคงอยู่ในเงื่อนไขที่กำหนด
2) หากสินทรัพย์ที่ดินและอาคาร มีมูลค่าตามราคาประเมินจากกรมที่ดินมีราคา 25 ล้านบาท บุคคลธรรมดาได้โอนสินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งต้นขึ้นใหม่ โดยจดทะเบียนทุน 5ล้านบาท และบันทึกเป็นเจ้าหนี้เงินยืมกรรมการ 20ล้านบาท สามารถทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกฎหมายที่จะกำหนดขึ้นมา แต่เชื่อว่า น้าจะเป็นไปได้ครับ
3) คำว่า ทุนจดทะเบียน ไม่จำเป็นต้องเรียกชำระค่าหุ้นเป็นเงินจนครบถ้วน เพียงแค่เรียกชำระอย่างน้อยร้อยละ 25 ตาม ป.พ.พ. ก็ได้ครับ
ตอบเมื่อ 14 ส.ค. 2559  .  ตอบโดย อจ.สุเทพ
สุเทพหาคำตอบมาให้เราใดคับ
ตอบเมื่อ 24 ส.ค. 2564  .  ตอบโดย rnby77