ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

หัก ณ ที่จ่าย ผิดตัว

วันที่ 8 ม.ค. 2562  .  เรียบเรียงโดย wiwatc webmaster  .  เข้าชม 33 ครั้ง

Inbox: ศุกร์ 4 มกราคม พ.ศ. 2562 เวลา 01:55 น.
คุณ Jaran Sritharathikhun
กราบสวัสดี อาจารย์สุเทพครับ ผมมีเรื่องรบกวนสอบถามอาจารย์อีกครั้ง ขอรบกวนอาจารย์ด้วยนะครับ
ทางครอบครัวให้เอกชนเช่าที่ดินระยะยาว โดยที่ดินมีชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วม 3 คน พี่น้อง แต่ไม่ได้ชี้แจงเรื่องสัดส่วนถือครอง และได้ทำการยื่นเอกสารเสียภาษีเช่าระยะยาวกับกรมที่ดินไปแล้ว ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้จดทะเบียน หสม. (ห้างหุ้นส่วนสามัญ) และได้รับเงินกินเปล่ามาจำนวนหนึ่งโดยผู้เช่าแบ่งจ่ายเป็นจำนวน 3 งวด งวดละเป็นเงินจำนวนเท่าๆ กัน พร้อมทั้งให้ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% จำนวน 3 ใบ ในนามของผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมครั้งละ 1 ชื่อ (ผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วม คนแรก 1 ใบ คนที่สอง 1 ใบ คนที่สาม 1 ใบ) แต่เมื่อภายหลังทราบว่าจะต้องจด หสม. เนื่องจากมีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินที่ให้เช่าดังกล่าวและไม่ได้ทำการแบ่งแปลง หรือบรรยายส่วนในกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว
ภายหลังทางผู้ให้เช่าก็ได้ทำการจด หสม.เรียบร้อยแล้ว และในการจ่ายค่าเช่ารายปีครั้งต่อไป ทางผู้เช่าก็ตกลงที่จะจ่าย และออกใบหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของ หสม. ที่ผู้ให้เช่าได้จดทะเบียนไปแล้ว อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นในส่วนของใบหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% จำนวน 3 ใบ ที่ไม่ได้ออกในนามของ หสม. (ออกในนามของผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมครั้งละ 1 ชื่อ) จึงอยากเรียนถามอาจารย์ว่า
1. ใบหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% จำนวน 3 ใบ ในนามของผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมครั้งละ 1 ชื่อ ของเงินกินเปล่าดังกล่าวสามารถขออนุโลมยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือ หสม.อย่างใดอย่างหนึ่งได้หรือไม่ เนื่องจากทางผู้เช่าแจ้งว่าให้ผู้ให้เช่าที่ดินไปชี้แจงขออนุโลมกับทางกรมสรรพากรได้
2. ถ้ากรณีที่ต้องยื่นในนามหสม. ทางผู้เช่ามีหน้าที่ในการยื่นเปลี่ยนแบบใบหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% จำนวน 3 ใบ ดังกล่าวหรือเปล่าครับ ซึ่งขั้นตอนการยื่นเปลี่ยนแบบย้อนหลัง (ยังอยู่ในช่วงปีภาษีเดียวกัน 2561) ดังกล่าว เป็นขั้นตอนปกติที่ผู้เช่าสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหาทางระบบภาษีของทางผู้เช่าหรือเปล่าครับ
3. กรณีที่ทางผู้เช่าไม่ทำการยื่นเปลี่ยนแบบใบหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% จำนวน 3 ใบ ดังกล่าว ทางผู้เช่าควรจะต้องทำอย่างไร เนื่องจากผู้ให้เช่าจะทำการยื่นแบบ ภงด. 93 ของค่ากินเปล่าดังกล่าว และเพื่อให้การยื่นแบบเสียภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องครับ

1 คำตอบ
วิสัชนา:
1. หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายที่ผู้เช่าได้หักและนำส่งในนามของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนนั้น ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน ยื่นแบบ ค.10 ขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ทีจ่ายตามหนังสือรับรอง เนื่องจากถูกหักภาษีเงินได้ ณ ทีจ่ายโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากเงินได้ดังกล่าว เพราะต้องเสียภาษีเงินได้ในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญ
2. เห็นว่า ไม่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ทีจ่าย เพราะไม่มีผลกระทบต่อการยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ของห้างหุ้นส่วนสามัญ ตามข้อ 3 แต่อย่างใด
....เพียงแต่ผู้เช่า อาจเกิดผลกระทบเนื่องจากนำส่งภาษีเงินได้ผิดฝาผิดตัว ซึ่งอาจต้องดำเนินการทางภาษีอากรเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเรื่องของผู้เช่าที่ต้องดำเนินการต่อไป
3. เงินกินเปล่า ควรยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่สามารถนำจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ผู้เช่าได้หัก ณ ทีจ่ายในนามของบุคคลธรรมดาผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน ซึ่งได้แนะนำให้ขอคืนในนามของบุคคลธรรมดาผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละท่านตามข้อ 1 ดังกล่าว แล้ว
กล่าวโดยสรุป
1. ให้ขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 5% ในนามของผู้ถูกหักแต่ละท่าน ซึ่งหากถูกหักในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญ ๆ ก็ต้องขอคืนอยู่แล้ว จึงไม่มีผลกระทบทางภาษีแต่อย่างใด
2. ให้ห้างหุ้นส่วนสามัญยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 เพื่อเสียภาษีเงินได้ล่วงหน้าตามอายุสัญญาเช่าภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 นี้ และชำระภาษีเงินได้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 โดยไม่สามารถนำจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ทีจ่าย 5% มาใช้เป็นเครดิตได้อยู่แล้ว
เมื่อ 8 ม.ค. 2562  .  เรียบเรียงโดย wiwatc webmaster