สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร สำหรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ
บทความวันที่ 11 ม.ค. 2561 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 6758 ครั้ง
บทความวันที่ 11 ม.ค. 2561 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 6758 ครั้ง
สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร
ตามประมวลรัษฎากร
สำหรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ
1. ตามข้อ 2 (81) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่
126 (พ.ศ. 2509)
1.1 ให้คนพิการ ที่
(1) มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
และ
(2) เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และ
(3) มีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี
ได้รับยกเว้นเงินได้ที่ผู้มีเงินได้เป็นคนพิการ ได้รับเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน
190,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้
สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป
และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 197) โดยผู้มีเงินได้ที่มีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีใด ได้ใช้สิทธิยกเว้นตามข้อ 2 (72) แห่งกฎกระทรวง
ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรแล้ว
ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นตามข้อ 2 (81) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ
ในปีภาษีนั้นอีก
1.2 กรณีคนพิการมีเงินได้ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าว
ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีใดหลายประเภท
ผู้มีเงินได้จะเลือกใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับประเภทใดประเภทหนึ่ง
หรือจะเลือกใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินได้หลายประเภท
และแต่ละประเภทจะยกเว้นภาษีเงินได้จำนวนเท่าใดก็ได้ แต่เมื่อรวมจำนวนเงินได้พึงประเมินที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน
190,000 บาทในปีภาษีนั้น
2. ตามมาตรา 47 (1)(ฎ)
แห่งประมวลรัษฎาสกร ผู้ดูแลคนพิการหรือคนทุพพลภาพหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้ดังนี้
“(ฎ) ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา สามีหรือภริยา
บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้
บิดามารดาหรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้หรือบุคคลอื่นที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
คนละ 60,000 บาท
โดยบุคคลดังกล่าวต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
หรือเป็นคนทุพพลภาพ มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ
และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
รวมทั้งจำนวนคนพิการ
และคนทุพพลภาพในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ที่อธิบดีประกาศกำหนด
การหักลดหย่อนสำหรับบุตรบุญธรรม
ให้หักได้ในฐานะบุตรบุญธรรมเพียงฐานะเดียว
ค่าอุปการะเลี้ยงดูตามวรรคหนึ่ง
ให้หักลดหย่อนสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2552 ที่จะต้องยื่นรายการในปี
พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป”
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมทั้งจำนวนคนพิการ
และคนทุพพลภาพในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ที่อธิบดีประกาศกำหนด ได้แก่ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 182) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขรวมทั้งจำนวนคนพิการและคนทุพพลภาพในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
หรือคนทุพพลภาพ ตามมาตรา 47 (1)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎาสกร ลงวันที่ 22 ธันวาคม
พ.ศ. 2552)
จากบทบัญญัติดังกล่าว
อาจสรุปหลักเกณฑ์การหักลดหย่อนค่าอุปการะคนพิการได้ดังนี้
2.1 ผู้มีเงินได้ที่มีสิทธิหักลดหย่อน ได้แก่
(1) บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม หรือสามีหรือภริยา หรือบิดามารดา
ที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา สามีหรือภริยา
บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนได้ทุกคน
(2) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาหรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนได้ทุกคน
(3) อุปการะเลี้ยงดูบุคคลอื่นที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนได้เพียง 1 คน
2.2 การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
สามีหรือภริยา บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้
บิดามารดาหรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
หรือบุคคลอื่นที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
คนละ 60,000 บาท
โดยบุคคลดังกล่าวต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
หรือเป็นคนทุพพลภาพ ตามมาตรา 47 (1)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร
ให้หักลดหย่อนได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข
รวมทั้งจำนวนคนพิการและคนทุพพลภาพในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
ดังต่อไปนี้
(1) ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อน
สำหรับบุคคลซึ่งเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัว
คนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
หรือบุคคลซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
ดังต่อไปนี้
(ก) บิดามารดา ของผู้มีเงินได้
(ข) บิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
(ค) สามีหรือภริยา ของผู้มีเงินได้
(ง)
บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้
(จ)
บุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
(ฉ) บุคคลอื่นนอกจาก (ก)(ข)(ค)(ง) และ (จ)
ที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
จำนวน 1 คน
กรณีทุพพลภาพ
ต้องเป็นกรณีที่แพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าบุคคลตาม
(ก)(ข)(ค)(ง)(จ) และ (ฉ)
มีภาวะจำกัดหรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า
180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน
ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวจะต้องเป็นบุคคลที่มีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร
(2) บุคคลตาม (1)
ที่ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิหักลดหย่อนต้องมีเงินได้พึงประเมิน
ไม่เกิน 30,000 บาท
ในปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ได้ใช้สิทธิหักลดหย่อน
โดยไม่รวมถึงเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา
42 แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีบุคคลตาม (1)
เป็นทั้งคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมาย
ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และเป็นคนทุพพลภาพ
ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนได้ในฐานะคนพิการเพียงฐานะเดียว
(3)
ผู้มีเงินได้ที่จะใช้สิทธิหักลดหย่อนคนพิการซึ่งเป็นบุคคลตาม (๑)
ผู้มีเงินได้นั้นต้องเป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการโดยมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
กรณีมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลคนพิการในระหว่างปีภาษีให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการคนสุดท้ายในปีภาษีนั้นเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน
กรณีผู้มีเงินได้หลายคนมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมาย
ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามวรรคหนึ่ง
ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนที่มีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ
ตกลงกันเพื่อยินยอมให้ผู้มีเงินได้คนหนึ่งคนใดเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูตามประกาศนี้
และทำความตกลงเป็นหนังสือโดยผู้มีเงินได้ทุกคนที่มีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการดังกล่าวเป็นผู้ลงนามในหนังสือตกลงยินยอมนั้น
เพื่อให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนคนพิการใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูตามประกาศนี้
กรณีผู้มีเงินได้มีสามีหรือภริยาซึ่งมีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่เป็นคนพิการ
โดยผู้มีเงินได้มีเงินได้ฝ่ายเดียวแต่สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลบุตรซึ่งเป็นคนพิการและมีชื่อเป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการโดยไม่มีผู้มีเงินได้อื่นมีชื่อเป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการอีกให้ผู้มีเงินได้ดังกล่าวมีสิทธิหักลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นคนพิการนั้นโดยไม่ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับในกรณีนี้
(4)
ผู้มีเงินได้ที่จะใช้สิทธิหักลดหย่อนคนทุพพลภาพซึ่งเป็นบุคคลตาม (1)
ผู้มีเงินได้นั้นจะต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้มาแสดงเพื่อขอใช้สิทธิหักลดหย่อน
(ก)
ใบรับรองแพทย์จากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าบุคคลตาม
(1)
มีภาวะจำกัดหรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า
180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน
และใบรับรองแพทย์ดังกล่าวต้องเป็นใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อน
กรณีผู้มีเงินได้หลายคนมีใบรับรองแพทย์จากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามวรรคหนึ่ง
ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนที่มีใบรับรองแพทย์ดังกล่าว
ตกลงกันเพื่อยินยอมให้ผู้มีเงินได้คนหนึ่งคนใดเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูตามประกาศนี้
และทำความตกลงเป็นหนังสือโดยผู้มีเงินได้ทุกคนที่มีใบรับรองแพทย์ดังกล่าวเป็นผู้ลงนามในหนังสือตกลงยินยอมนั้น
เพื่อให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนคนทุพพลภาพ
ใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูตามประกาศนี้
(ข)
หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ
ที่รับรองว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุคคลตาม (1) ซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ
โดยผู้รับรองต้องเป็นสามีภริยาหรือบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมหรือหลาน หรือบิดามารดา
หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
หรือปู่ย่าตายาย หรือลุงป้าน้าอา ของบุคคลตาม (1) ซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ
หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน
หรือบุคคลที่เป็นสมาชิกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในท้องที่ที่บุคคลตาม (1)
ซึ่งเป็นคนทุพพลภาพอยู่อาศัย โดยหนังสือรับรองดังกล่าว
ผู้รับรองต้องรับรองของแต่ละปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนผู้รับรองตามวรรคหนึ่ง
ต้องเป็นบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และรับรองผู้มีเงินได้ ได้ไม่เกิน 1 คน
สำหรับการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพคนหนึ่งคนใด
(5)
การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพตามประกาศนี้ให้หักได้ตลอดปีภาษี
ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ ทั้งนี้
การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของวรรคสองของ (1)
ด้วย
(6)
กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้เฉพาะคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้ต้องแนบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ
(แบบ ล.ย.04) ซึ่งมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
และแนบหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
(1)
กรณีหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของบุคคลที่ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิหักลดหย่อนพร้อมทั้งภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการดังกล่าวในส่วนที่แสดงว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้วย
(2) กรณีหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ
ให้แนบหลักฐานดังต่อไปนี้
(ก) ใบรับรองแพทย์ตามข้อ (4)(ก)
(ข)
หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04-1) ตามข้อ (4)(ข)
โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
3. ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553 และมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 519) พ.ศ. 2554
3.1 ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้าทำงาน
ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วแต่กรณี สำหรับเงินได้
เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการดังกล่าว
(มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553)
3.2 ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
เข้าทำงานเกินกว่าร้อยละ 60 ของลูกจ้างในสถานประกอบการนั้น
โดยมีระยะเวลาจ้างเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีหรือรอบระยะเวลาบัญชีที่มีเงินได้
สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการดังกล่าว
ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วแต่กรณี เพิ่มขึ้นจากสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ
3.1 (มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
(ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553) ทั้งนี้
ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด (มาตรา 4
แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 519) พ.ศ. 2554)
4. ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553
ให้เจ้าของอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง
หรือผู้ให้บริการสาธารณะอื่น ซึ่งได้จัดอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก
หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่น
ให้แก่คนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เงินได้บุคคลธรรมดา
หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล แล้วแต่กรณี สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีอุปกรณ์
สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการดังกล่าว (มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 499)
พ.ศ. 2553)
5. ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 519) พ.ศ. 2554 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 214) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ
ตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล
สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ
โครงการของหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม
ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค
ราชการส่วนท้องถิ่น
ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยจัดให้คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ
ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ดังต่อไปนี้
5.1 สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา
47 (1)(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร
เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับการจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว
ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนดังกล่าว
5.2 สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่เป็นจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์
แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบและรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น
สวนสาธารณะ
หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ
หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว
ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์
และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3)
แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรายจ่ายที่เป็นทรัพย์สิน
จะต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องโดยตรง
และได้มาในระหว่างเวลาการดำเนินงานของโครงการของรัฐในการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
บุคคลธรรมดา บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าวจะต้องแสดงหลักฐานเป็นหนังสือที่พิสูจน์ได้ว่าได้จ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานตามโครงการของรัฐให้แก่หน่วยงานของรัฐซึ่งจัดให้คนพิการได้รับสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐนั้น
(ข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้
(ฉบับที่ 214))
6. ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 428) พ.ศ. 2548 แก้ไขเพิ่มเติมโดยแห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 498) พ.ศ. 2553 ผู้บริจาค
การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
กองทุนคุ้มครองเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก
หรือกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16
กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ดังต่อไปนี้
6.1 สำหรับบุคคลธรรมดา
ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนตามมาตรา
47 (1)(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เท่าจำนวนเงินที่บริจาค
แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนนั้น
6.2 สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เป็นจำนวนเงินหรือมูลค่าของทรัพย์สินเท่าที่บริจาค
แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะตามมาตรา 65 ตรี (๓)
แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ”
อ้างอิง: http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/kormor/528.pdf