ภาษีของขวัญ
บทความวันที่ 30 ธ.ค. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 5897 ครั้ง
บทความวันที่ 30 ธ.ค. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 5897 ครั้ง
ภาษีของขวัญ
ช่วงเวลานี้
เป็นช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่บริษัทห้างร้านต่างๆ ได้มีการจัดกิจการต่างๆ
ขึ้น เพื่อร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าว มีปัญหาว่า ในทางภาษีอากร
จะนำรายการรายจ่ายที่เกี่ยวข้องไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีอากรได้หรือไม่
เพียงใด นั้น ขอนำแนวคำตอบข้อหารือของกรมสรรพากรที่เคยตอบไว้
มาเรียบเรียงเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของท่านที่เกี่ยวข้องต่อไป ดังนี้ครับ
กรณีบริษัทฯ
มีประเพณีประจำปี จัดทำบุญเลี้ยงพระในวันสงกรานต์ วันปีใหม่
และทำบุญเปิดกิจการใหม่ โดยงานบุญดังกล่าวได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ
ตลอดจนสร้างความสามัคคีกลมเกลียวให้กับพนักงานของบริษัทฯ
ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 2555 ถึงปีปัจจุบัน เช่นนี้
รายจ่ายดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการโดยตรง บริษัทฯ
สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
นอกจากนี้
ในส่วนที่บริษัทฯ ทำบุญเปิดกิจการใหม่ ถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ
บริษัทฯ
สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่
กค 0702/1131 วันที่ 6 มีนาคม 2557)
กรณีในช่วงเทศกาลปีใหม่
ลูกค้าบริษัทฯ มีการจัดงานเลี้ยงพนักงานตามประเพณี
จึงได้ทำหนังสือขอการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อช่วยในการจัดงานดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯ
ได้ตอบตกลงพร้อมทั้งส่งเงินสนับสนุนจำนวน 20,000 บาท เช่นนี้ รายจ่ายดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หาและไม่ใช่รายจ่ายเพื่อกิจการค้าของบริษัทฯโดยเฉพาะ
จึงนำมาถือเป็นรายจ่ายไม่ได้ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3)
และ(13) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรพากรเลขที่
กค 0706/5823 วันที่ 13 มิถุนายน 2550)
ภาษีซื้อสำหรับค่าเน็คไท
ไวน์ เป็นค่าตอบแทนให้วิทยากร
เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ
ไม่ต้องห้ามนำมาหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร จึงสามารถนำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา
82/3 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรเลขที กค 0706/พ./12205 วันที่ 4
ธันวาคม 2546)
กรณีบริษัทฯ
ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ให้สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลกับพนักงานให้ของเยี่ยมพนักงานผู้เจ็บป่วยตั้งแต่
3 วันขึ้นไปการเลี้ยงอาหารและจับของรางวัลแก่พนักงานในวันปีใหม่
หากค่าใช้จ่ายดังกล่าว เป็นค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับสวัสดิการที่บริษัทฯ
ให้แก่พนักงานทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน
ย่อมเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯมีสิทธินำภาษีซื้อมาหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/9052 วันที่ 6
กันยายน 2550)