ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ของขวัญปีใหม่

บทความวันที่ 22 ธ.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 17526 ครั้ง

ของขวัญปีใหม่

 

          แน่นอนในทุกๆ ปี ผู้ประกอบการห้างร้านต่างๆ มีการส่งกระเช้าของขวัญไปให้แก่ทั้งลูกค้า และผู้มีพระคุณอื่นๆ จึงมีประเด็นทางภาษีว่า กระเช้าของขวัญของชำร่วยที่ส่งไปนั้นส่งผลทางภาษีอย่างไร ขอนำมาเป็นประเด็น ปุจฉา วิสัชนา ดังนี้ครับ

          ปุจฉา  ค่ากระเช้าของขวัญถือเป็นรายจ่ายค่ารับรองได้หรือไม่ 

           วิสัชนา กรณีรายจ่ายค่ากระเช้าของขวัญ ของชำร่วยต้องแยกพิจารณาดังนี้

          1. กรณีบริษัทแจกกระเช้าให้แก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเป็นประจำ โดยแจกทุกปี เป็นปกติประเพณีทางการค้าที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมานานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในกรณีนี้ รายจ่ายค่ากระเช้าย่อมไม่ใช่ค่ารับรอง หากแต่เป็นรายจ่ายในการส่งเสริมการขาย ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีกมากครับ

          2. กรณีแจกกระเช้าเนื่องในโอกาสปีใหม่ ให้แก่ข้าราชการ หรือผู้มีพระคุณทั่วไป ในกรณีก็ไม่ใช่ค่ารับรองอีกเช่นเดียวกัน พิจารณาได้ว่าเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว หรือให้โดยเสน่หา ซึ่งถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ทำการบวกกลับในแบบ ภ.ง.ด.50 ต่อไป 

          3. กรณีให้กระเช้าแก่แขกผู้มาเยือน อาจพิจารณาเป็นรายจ่ายค่ารับรองทางภาษีอากรได้ หากเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 65 ตรี (4) แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 กล่าวคือ

              (1) ต้องเป็นค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำเป็นตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และบุคคลที่ได้รับการรับรองต้องไม่ใช่ลูกจ้าง เว้นแต่ลูกจ้างจะมีส่วนรวมในการรับรองนั้น

              (2) ต้องเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการบริการ ที่อาจอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ค่าที่พัก ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น

                   ในส่วนของค่าสิ่งของที่ใช้ในการรับรองต้องไม่เกิน 2,000 บาท ต่อคนต่อคราวที่มีการรับรอง ซึ่งราคาค่าสิ่งของดังกล่าวเป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถนำภาษีซื้อสำหรับค่ารับรองมาเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

              (3) ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินค่ารับรองหรือค่าบริการที่สามารถพิสูจน์ผู้รับได้ เว้นแต่ในบางกรณี เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่ผู้รับไม่มีหน้าที่ในการออกใบรับ

              (4) ต้องมีผู้มีอำนาจในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น อาทิ กรรมการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้ที่รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว เป็นผู้อนุมัติสั่งจ่าย อันเป็นเงื่อนไขปกติของการควบคุมภายในของทุกกิจการ

              นอกจากนี้จำนวนค่ารับรองหรือบริการต้องไม่เกินกว่า 3% ของยอดรายได้หลังจากหักรายการรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือยอดเงินทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า แต่จำนวนค่ารับรองสูงสุดต้องไม่เกินสิบล้านบาท

          ปุจฉา กรณีบริษัทแจกกระเช้าให้แก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเป็นประจำ โดยแจกทุกปี เป็นปกติประเพณีทางการค้าที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่อดีตกาล ซึ่งพิจารณาว่าเป็นรายจ่ายในการส่งเสริมการขาย บริษัทผู้จายจะภาระภาษีที่เกี่ยวข้องอย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

1. กรณีที่ถือเป็นรายจ่ายในการส่งเสริมการขาย บริษัทพึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ไว้เป็นการชัดเจนแน่นอนว่า บริษัทจะทำการส่งเสริมการขาย โดยให้เป็นรางวัลเพื่อส่งเสริมการขายแก่ลูกค้าของตน และพร้อมที่จะให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบได้ ก็ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้

2. เนื่องจากการให้รางวัลเพื่อการส่งเสริมการขาย เข้าลักษณะที่ผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งได้ขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อสินค้า โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้  ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ของยอดเงินได้ด้วย แต่หากเป็นกรณีอื่นนอกจากที่กล่าวข้างต้น ผู้จ่ายเงินได้ไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด

3. ให้บริษัทมีสิทธินำภาษีซื้อสำหรับค่าของขวัญของชำร่วย อันเนื่องจากการส่งเสริมการขายดังกล่าว มาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพราะเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ โดยบริษัทต้องเสียภาษีขายจากมูลค่ากระเช้าที่เป็นรางวัลส่งเสริมการขายดังกล่าว  ซึ่งหากบริษัทไม่เรียกเก็บภาษีขายจากลูกค้า รายจ่ายค่าภาษีขายดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร 

ปุจฉา  การแจกกระเช้าเนื่องในโอกาสปีใหม่ ให้แก่ข้าราชการ หรือผู้มีพระคุณทั่วไป ราคาประมาณสามพันบาท โดยใส่นามบัตรของกรรมการบริษัท ถือเป็นการแจกของขวัญของชำร่วยที่มีตราชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าของบริษัท ที่เข้าหลักเกณฑ์ไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้ามารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ 

วิสัชนา เนื่องจากกรณีดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรายการดังกล่าว ย่อมไม่สามารถนำมาเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระในแต่ละเดือนภาษีได้ เพราะเข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (5) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับภาษีขายให้พิจารณา ดังนี้

 หากเป็นสินค้าของบริษัทเอง ซึ่งมีตราชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายการค้าของบริษัท ที่ได้นำมาจัดเป็นกระเช้า เพื่อแจกเนื่องในเทศกาล และมีราคาไม่เกินสมควร ก็ไม่ต้องนำมูลค่าของฐานภาษีของของขวัญของชำร่วยดังกล่าวมารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) 

  กรณีเป็นกระเช้าของขวัญของชำร่วยที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้า บริษัทผู้แจกต้องต้องนำมูลค่าของฐานภาษีของกระเช้าของขวัญของชำร่วยดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของกระเช้าที่แจกนั้นด้วย 

โดยหลักทั่วไปในการทางภาษีอากรตามมาตรา 65 ตรี (4) แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 (พ.ศ.2522) กำหนดห้ามมิให้เลี้ยงรับรองลูกจ้างพนักงานของบริษัท เว้นแต่ลูกจ้างจะมีส่วนร่วมในการรับรอง

          ปุจฉา บริษัทจัดงานปีใหม่เลี้ยงพนักงาน จะนำรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมดังกล่าวนำมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่

          วิสัชนา กรณีที่บริษัทจัดงานเลี้ยงปีใหม่ให้พนักงานไม่ว่าจะจัดในบริษัทหรือบางครั้งไปจัดนอกสำนักงาน เช่น โรงแรม หรือสโมสร โดยทั่วไป ไม่ถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการ หรือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการหรือเป็นรายจ่ายเพื่อการหากำไร และไม่อาจนำภาษีซื้อมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

     แต่ถ้าบริษัทได้กำหนดกิจกรรมดังกล่าวไว้เป็นสวัสดิการแก่พนักงานลูกจ้าง โดยต้องจัดการให้เป็นประจำ ก็ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้  และให้นำภาษีซื้อมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพราะเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ

         ปุจฉา กรณีบริษัทแจกกระเช้าให้แก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเป็นประจำ โดยแจกทุกปี เป็นปกติประเพณีทางการค้าที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมานานเนกาเลแล้ว จะนำรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมดังกล่าวนำมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่

วิสัชนา กรณีดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

1. หากเป็นรายจ่ายที่ให้โดยเสน่หาทั่วไปตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป ให้ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว หรือรายจ่ายให้โดยเสน่หา  ไม่ถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินกิจการ หรือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการหรือเป็นรายจ่ายเพื่อการหากำไร และไม่อาจนำภาษีซื้อมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดยภาษีซื้อดังกล่าวก็ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามด้วย

2. หากเป็นรายจ่ายในการส่งเสริมการขายที่ได้กำหนดไว้เป็นการแน่นอนว่า บริษัทจะทำการส่งเสริมการขาย โดยถือเป็นรางวัลที่ให้แก่ลูกค้าของตน ซึ่งบริษัทต้องกำหนดระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติที่แน่ชัดพร้อมที่จะให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบได้ ก็ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้  และให้นำภาษีซื้อมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพราะเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการประกอบกิจการ แต่บริษัทต้องเสียภาษีขายจากมูลค่ากระเช้าที่เป็นรางวัลส่งเสริมการขายดังกล่าว และหากมูลค่าของรางวัลดังกล่าวมีจำนวนถึง 1,000 บาท บริษัทต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ของมูลค่ากระเช้า

ปุจฉา  ค่ากระเช้าจะนำมาถือเป็นค่ารับรองได้หรือไม่

วิสัชนา ค่ากระเช้าไม่อาจนำมาถือเป็นค่ารับรองได้ เพราะไม่มีการรับรองตามขนบธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจ

 อย่างไรจึงจะถือเป็นการรับรอง ต่อคำถามข้อนี้ขอยกบทกลอนแต่โบราณเกี่ยวกับการรับรองดังนี้ครับ

 เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ     ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ

  อย่างเลิศดี ตามมี หรือตามเกิด          ให้เพลินเพริศกายากว่าจะกลับ

  กล่าวโดยสรุป การเลี้ยงรับรองต้องมีแขกผู้มาเยือนมาหาแล้วจัดงานเลี้ยงรับรอง หรือในปัจจุบัน พากันไปรับประทานอาหารตามโรงแรมภัตตาคาร เป็นต้น 

ปุจฉา  การแจกกระเช้าเนื่องในโอกาสปีใหม่ ให้แก่ข้าราชการ หรือลูกค้าทั่วไป ราคาประมาณสามพันบาท โดยใส่นามบัตรของกรรมการบริษัท ถือเป็นการแจกของขวัญของชำร่วยที่มีตราชื่อ ยี่ห้อหรือเครื่องหมายการค้าของบริษัท ที่เข้าหลักเกณฑ์ไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้ามารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ 

วิสัชนา โดยความเคารพความเห็นของกรมสรรพากร เห็นว่า การแจกกระเช้าตามกรณีดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

1. หากเป็นสินค้าของบริษัทเอง แล้วนำมากระเช้า ก็เข้าเงื่อนไขดังกล่าวโดยอัตโนมัติ

2. แต่ถ้าเป็นกระเช้าของขวัญของชำร่วยที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้า รายจ่ายดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ให้โดยเสน่หา ต้องห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้บริษัทผู้แจกต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของกระเช้าที่แจกนั้นด้วย