ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
บทความวันที่ 19 ต.ค. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 8219 ครั้ง
บทความวันที่ 19 ต.ค. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 8219 ครั้ง
ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา
86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
ที่จะนำไปถือเป็นภาษีซื้อเครดติหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ได้นั้น ต้องไม่เป็นภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา
86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่เข้าลักษณะดังต่อไปนี้
1. เป็นภาษ๊ซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบการที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
2. เป็นภาษีซื้อที่มีรายการครบถ้วนตามมาตรา
86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
(1) คำว่า
"ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวจะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์
ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายาง
เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด
หรือกระทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันไม่ได้
(2) ชื่อ ที่อยู่
และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี ทั้งนี้
ข้อความดังกล่าวจะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์
ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด
หรือกระทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันไม่ได้
และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน
ตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2
หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
(3) ชื่อ ที่อยู่
ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
(4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี
และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี
(5) ชื่อ ชนิด
ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
(6) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
มูลค่าของสินค้าหรือของบริการที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
กรณีจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการตามวรรคหนึ่ง
มีเศษเป็นจุดทศนิยม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนถือปฏิบัติดังนี้
(6.1)
ถ้าเศษของภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นจำนวนเงินตัวที่สามหลังจุดทศนิยม มีค่าไม่ถึง 5 ให้ปัดเศษนั้นทิ้ง ตัวอย่าง มูลค่าของสินค้าที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
คือ 100 บาท คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้เท่ากับ 7/107 x
100 = 6.542 บาท ดังนั้น จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่แสดงในใบกำกับภาษี
คือ 6.54 บาท
(6.2)
ถ้าเศษของภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นจำนวนเงินตัวที่สามหลังจุดทศนิยม มีค่าตั้งแต่ 5 ขึ้นไป ให้ปัดเศษขึ้น ตัวอย่าง มูลค่าของสินค้าที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
คือ 180 บาท คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้เท่ากับ 7/107 x
180 = 11.775 บาท ดังนั้น จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่แสดงในใบกำกับภาษี
คือ 11.78 บาท
กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมีจำนวนมากกว่าหรือมีจำนวนน้อยกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย
อันเนื่องมาจากการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มมีเศษเป็นจุดทศนิยม
ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องเสียภาษีตามจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการคูณด้วยอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหารด้วยหนึ่งร้อย
(ข้อ 4 (6) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2542)
(7) วัน เดือน ปี
ที่ออกใบกำกับภาษี
(8) ข้อความอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39)
(8.1) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนประสงค์จะจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร รวมกับเอกสารทางการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ
ใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับอยู่ในชุดเดียวกัน
และใบกำกับภาษีมิใช่เอกสารฉบับแรกของเอกสารดังกล่าว ในใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีของเอกสารชุดดังกล่าว
จะต้องมีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ไว้ด้วย
ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวจะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์
ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายาง
เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด
หรือกระทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันไม่ได้
(8.2) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง
และสถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่ได้นำใบกำกับภาษีของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการ
จะต้องมีข้อความว่า "สาขาที่ออกใบกำกับภาษีคือ"
ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวโดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์
จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด
หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
(8.3) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการสถานบริการน้ำมันได้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือได้ขายสินค้าหรือให้บริการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับรถยนต์
ที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จะต้องระบุ เลขทะเบียนรถยนต์
ไว้ในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์
จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
(8.4)
ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ออกใบกำกับภาษีเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ
ตามมาตรา 86/4 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยไว้ในใบกำกับภาษีด้วย
โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับตรายาง
เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด
หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
(8.5) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องนำมูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายเป็นจำนวนเท่ากับราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืนในวันที่ขายทองรูปพรรณ
มารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร
ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุขอ้ความดังต่อไปนี้ไว้ในใบกำกับภาษีด้วย
(ก) ราคาขายทองรูปพรรณซึ่งรวมค่ากำเหน็จแต่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ข)
ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศ
(ค)
ผลต่างระหว่างราคาขายทองรูปพรรณซึ่งรวมค่ากำเหน็จแต่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มตาม (ก)
กับราคาซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศตาม (ข)
(ง)
จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจาก (ค)
(จ)
หมายเลขลำดับของใบรับที่ออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน
แต่หากผู้ประกอบการจดทะเบียนใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบกำกับภาษีด้วย
ไม่ต้องระบุหมายเลขลำดับของใบรับ
(ฉ)
เลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
ข้อความดังกล่าว จะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์
ประทับตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด
หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
(8.6) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ไว้ในใบกำกับภาษีนั้น โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ ทั้งนี้ สำหรับการจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
(8.7) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา
86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการของผู้ประกอบการ
จดทะเบียนตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20)
ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้ออกใบกำกับภาษี ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว
สำหรับการจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
ที่ได้จัดทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ดังนี้
(ก)
กรณีสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการจดทะเบียน
เป็นสถานที่ที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้ออกใบกำกับภาษี ให้ระบุข้อความ
คำว่า “สำนักงานใหญ่” หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็นสำนักงานใหญ่
เช่น “สนญ” “HO” “HQ” เป็นต้น
หรือระบุเป็นตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เพื่อแสดงว่าตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก
(00000) เป็นรหัสของสำนักงานใหญ่ ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
(ข)
กรณีสถานประกอบการที่เป็นสาขาของผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นสถานที่ที่ได้ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้ออกใบกำกับภาษี
ให้ระบุข้อความคำว่า “สาขาที่ ..” โดยเลขที่ของสาขาให้ระบุเลขที่สาขาตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
เช่น สาขาที่ 1 สาขาที่ 01 เป็นต้น หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็น “สาขาที่ ..” เช่น “Branch No. ..” “br. no.
..” เป็นต้น
หรือระบุเป็นตัวเลขจำนวนห้าหลักตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อแสดงว่าเป็นรหัสของ
“สาขาที่ ..” เช่น 00001
ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
(ค)
ข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการตาม (1) และ (2) จะตีพิมพ์
จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด
หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
(8.8) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา
86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องระบุข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ภ.พ.20) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้นไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว
สำหรับการจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
ที่ได้จัดทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป ดังนี้
(ก) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
เป็นที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในใบกำกับภาษี ให้ระบุข้อความคำว่า “สำนักงานใหญ่” หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็นสำนักงานใหญ่
เช่น “สนญ” “HO” “HQ” เป็นต้น
หรือระบุเป็นตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เพื่อแสดงว่าตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก
(00000) เป็นรหัสของสำนักงานใหญ่ ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
(ข)
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนระบุที่อยู่ของสถานประกอบการที่เป็นสาขาตามที่ปรากฏ
ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
เป็นที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการใน ใบกำกับภาษี ให้ระบุข้อความคำว่า “สาขาที่ ..” โดยเลขที่ของสาขาให้ระบุเลขที่สาขาตามที่ปรากฏใน
ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สาขาที่ 1 สาขาที่ 01 เป็นต้น
หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็น “สาขาที่ ..” เช่น “Branch No. ..” “br. no. ..” เป็นต้น
หรือระบุเป็นตัวเลขจำนวนห้าหลักตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อแสดงว่าเป็นรหัสของ
“สาขาที่ ..” เช่น 00001 ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย
(ค)
ข้อความรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการตาม (1) และ (2) จะตีพิมพ์
จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด
หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
3. เป็นภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา
86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ออกโดยผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษี
4. เป็นภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา
86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ไม่เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5
แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมิได้นำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีที่ระบุในใบกำกับภาษี
ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่
4) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่
76) และ หนังสือซ้อมความเข้าใจของกรมสรรพากรที่ กค 0811/ว.5254 ลว. 1 พฤษภาคม 2541
เรื่อง ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 76) ลงวันที 8 เมษายน 2541 ให้มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีในเดือนภาษีหลังจากนั้นได้
แต่ต้องไม่เกินหกเดือนนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ออกใบกำกับภาษี
การปฏิบัติดังกล่าว
ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนระบุข้อความว่า “ถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษี...”
ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์
จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด
หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วย วิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ได้ระบุข้อความว่า
ว่า “ถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษี...” ไว้ในใบกำกับภาษี
ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงสามารถนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซื้อฉบับนั้น ไปใช้เป็นใบภาษีซื้อเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา
82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้
1. การที่จะถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามต้องเป็นภาษีซื้อตามหลักเกณฑ์
และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร เท่านั้น การที่ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา
82/5 แห่งประมวลรัษฎากร จึงย่อมไม่อาจที่จะถือว่า เป็นภาษีซื้อต้องห้าม
2. ข้อความว่า “ถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษี...” ที่กำหนดให้มีตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 4) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 76) เป็นกรณีที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับใบกำกับภาษีทุกกรณี
มิได้จำกัดไว้แต่เพียงเฉพาะใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร หาใช้เป็นการอาศัยอำนาจตามความในมาตรา
86/4 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด
3. การกำหนดให้มีข้อความว่า
“ถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษี...”
ในใบกำกับภาษี มีเจตนาที่จะมิให้มีการนำภาษีซื้อรายการเหล่านั้น ไปใช้ซ้ำซ้อนอีก
มิได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ถือเป็นรายการในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4
แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด