ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ศึกษาประมวลรัษฎากร ด้วยตนเอง ตอนที่ 10 คำอธิบายประมวลรัษฎากร รายมาตรา บทเบ็ดเตล็ดในลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น (2)

บทความวันที่ 26 ส.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 3252 ครั้ง

ศึกษาประมวลรัษฎากรด้วยตนเอง ตอนที่ 10

คำอธิบายประมวลรัษฎากร รายมาตรา

บทเบ็ดเตล็ดในลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น

มาตรา 4 มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร 

 

ขอนำบทเบ็ดเตล็ดในลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น ตามมาตรา 4 ทวิ ถึงมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร มาเล่าสู่กันฟัง ต่อจากตอนก่อนตามหัวข้อต่อไปนี้ 

10. มาตรา 4 ทวิ ถึงมาตรา 4 นว แห่งประมวลรัษฎากร ใบผ่านภาษีอากร

11. มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร ดอกเบี้ยจากการได้รับคืนเงินภาษีอากร

 

10. ใบผ่านภาษีอากรตามมาตรา 4 ทวิ ถึงมาตรา 4 นว

จากบทบัญญัติเกี่ยวกับใบผ่านภาษีอากรสำหรับคนต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางออกจากประเทศไทยตามมาตรา 4 ทวิ ถึงมาตรา 4 นว ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) .. 2502 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2503 เป็นต้นไป อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

10.1 หลักการทั่วไปเกี่ยวกับใบผ่านภาษีอากรสำหรับคนต่างด้าว

      10.1.1 เนื่องจากอำนาจในการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรมีขอบเขตเพียงเฉพาะในราชอาณาจักรเท่านั้น หากคนต่างด้าวที่มีหน้าที่เสียภาษีอากรของตนเองหรือต้องกระทำการแทนบุคคลอื่นได้เดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว ก็อาจทำให้รัฐเสียหายได้

      10.1.2 ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร จึงได้บัญญัติมาตรา 4 ทวิ กำหนดให้คนต่างด้าวผู้ใดจะเดินทางออกจากประเทศไทยต้องเสียภาษีอากรที่ค้างชำระและหรือที่จะต้องชำระ แม้จะยังไม่ถึงกำหนดชำระ หรือจัดหาประกันเงินภาษีอากรให้เสร็จสิ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรนี้ก่อนออกเดินทาง  

10.2 การยื่นคำร้องเพื่อขอรับใบผ่านภาษีอากร ตามมาตรา 4 ตรี

      10.2.1 ให้คนต่างด้าวซึ่งจะเดินทางออกจากประเทศไทยยื่นคำร้องตามแบบที่อธิบดีกำหนด เพื่อขอรับใบผ่านภาษีอากรภายในกำหนดเวลาไม่เกินสิบห้าวันก่อนออกเดินทาง ไม่ว่ามีเงินภาษีอากรที่ต้องชำระหรือไม่

             (1) ถ้าผู้ยื่นคำร้องมีภูมิลำเนาหรือพักอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นต่ออธิบดีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

             (2) ถ้ามีภูมิลำเนาหรือพักอยู่ในเขตจังหวัดอื่นให้ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย

      10.2.2 คนต่างด้าวผู้ใดไม่ยื่นคำร้องขอรับใบผ่านภาษีอากรตามความในวรรคก่อน หรือยื่นคำร้องแล้วแต่ยังไม่ได้รับใบผ่านภาษีอากร เดินทางออกจากประเทศไทยหรือพยายามเดินทางออกจากประเทศ นอกจากจะมีความผิดตามบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ให้คนต่างด้าวผู้นั้นเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของเงินภาษีอากรที่จะต้องเสียทั้งสิ้นอีกด้วย เงินเพิ่มตามมาตรานี้ให้ถือเป็นค่าภาษีอากร

               อนึ่ง กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 120/2545 วางแนวทางปฏิบัติตามข้อ 7 ให้คนต่างด้าวที่มีเงินได้พึงประเมินจากการเป็นนักแสดงภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยมีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด เพื่อขอรับใบผ่านภาษีอากรภายในกำหนดเวลาไม่เกินสิบห้าวันก่อนออกเดินทาง ไม่ว่ามีเงินภาษีอากรที่ต้องชำระหรือไม่ตามมาตรา 4 ตรี

10.3 คนต่างด้าวที่ต้องขอรับใบผ่านภาษีอากร

      10.3.1 ตามมาตรา 4 จัตวา บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 4 ทวิ และมาตรา 4 ตรี ไม่ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวผู้เดินทางผ่านประเทศไทย หรือเข้ามา และอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่ง หรือหลายระยะรวมกันไม่เกินเก้าสิบวันในปีภาษีใด โดยไม่มีเงินได้พึงประเมิน หรือคนต่างด้าวที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี”   

      10.3.2 อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  อาศัยอำนาจตามมาตรา 4 จัตวา ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้คนต่างด้าวผู้เดินทางออกจากประเทศไทยไม่ต้องขอรับใบผ่านภาษีอากร ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 กำหนดว่า คนต่างด้าวผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรไม่ต้องขอรับใบผ่านภาษีอากร เว้นแต่ คนต่างด้าวต่อไปนี้

             (1) คนต่างด้าวผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรที่ค้างชำระหรือที่จะต้องชำระตาม การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินอยู่ก่อนหรือในขณะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร  

             (2) คนต่างด้าวผู้มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้แทนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการในประเทศไทย

             (3) คนต่างด้าวที่มีเงินได้พึงประเมินจากการเป็นนักแสดงสาธารณะในประเทศไทยไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

                   คำว่า นักแสดงสาธารณะหมายความว่า นักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุ และโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ (แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 2) ใช้บังคับ 1 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไป)

             (4) คนต่างด้าวที่มีเงินได้พึงประเมินจากการขายพลอย ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน โอปอล นิล เพทาย ไพฑูรย์ หยก และอัญมณีที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน เฉพาะที่ยังมิได้เจียระไน แต่ไม่รวมถึงสิ่งทำเทียมวัตถุดังกล่าวหรือที่ทำขึ้นใหม่ เพชร ไข่มุก และสิ่งทำเทียมเพชรหรือไข่มุกหรือที่ทำขึ้นใหม่ (แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดให้คนต่างด้าวผู้เดินทางออกจากประเทศไทยไม่ต้องขอรับใบผ่านภาษีอากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 ใช้บังคับ 9 กรกฎาคม 2553 เป็นต้นไป)

         10.4 การออกใบผ่านภาษีอากร

      10.4.1 ให้ผู้รับคำร้องตามมาตรา 4 ตรี ตรวจสอบว่าผู้ยื่นคำร้องมีภาษีอากรที่จะต้องเสียตามมาตรา 4 ทวิ หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ออกใบผ่านภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนดให้แก่ผู้ยื่นคำร้อง

             ถ้าในการตรวจสอบตามความในวรรคก่อนปรากฏว่า ผู้ยื่นคำร้องมีเงินภาษีอากรที่ต้องเสียตามมาตรา 4 ทวิ และผู้ยื่นคำร้องได้นำเงินภาษีอากรมาชำระครบถ้วนแล้วก็ดี หรือไม่อาจชำระได้ทั้งหมดหรือได้ชำระแต่บางส่วน และผู้ยื่นคำร้องได้จัดหาผู้ค้ำประกันหรือหลักประกันที่อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเห็นสมควรมาเป็นประกันเงินค่าภาษีอากรนั้นแล้วก็ดี ให้อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายออกใบผ่านภาษีอากรให้ (มาตรา 4 เบญจ)

      10.4.2 ในกรณีที่ผู้รับคำร้องตามมาตรา 4 ตรี พิจารณาเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องมีเหตุผลสมควรจะต้องเดินทางออกจากประเทศไทยเป็นการรีบด่วนและชั่วคราว และผู้ยื่นคำร้องมีลักประกันหรือหลักทรัพย์อยู่ในประเทศไทยพอคุ้มค่าภาษีอากรที่ค้าง หรือที่ต้องชำระ ให้อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายออกใบผ่านภาษีอากรให้ (มาตรา 4 ฉ)

10.5 อายุใบผ่านภาษีอากร

      10.5.1 เว้นแต่กรณีตาม 10.5.2 ใบผ่านภาษีอากรให้มีอายุใช้ได้สิบห้าวันนับแต่วันออก ถ้ามีการขอต่ออายุใบผ่านภาษีอากรก่อนสิ้นอายุ อธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจะต่ออายุให้อีกสิบห้าวันก็ได้ (มาตรา 4 สัตต)

      10.5.2 คนต่างด้าวซึ่งมีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าออกประเทศไทยเป็นปกติธุระเกี่ยวกับการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพจะยื่นคำร้องต่ออธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย แล้วแต่กรณีขอให้ออกใบผ่านภาษีอากรให้ใช้เป็นประจำก็ได้ ถ้าผู้รับคำร้องพิจารณาเห็นว่าคนต่างด้าวผู้นั้นมีความจำเป็นดังที่ร้องขอ และมีหลักประกันหรือหลักทรัพย์อยู่ในประเทศไทยพอคุ้มค่าภาษีอากรที่ค้างหรือที่จะต้องชำระแล้วจะออกใบผ่านภาษีอากรให้ตามแบบที่อธิบดีกำหนดก็ได้ ใบผ่านภาษีอากรเช่นว่านี้ให้มีกำหนดเวลาใช้ได้ตามที่ระบุในใบผ่านภาษีอากรนั้น แต่ต้องไม่เกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันออก (มาตรา 4 อัฏฐ)

10.6 บทกำหนดโทษเกี่ยวกับใบผ่านภาษีอากร

      10.6.1 คนต่างด้าวผู้ใดเดินทางออกจากประเทศไทย โดยไม่มีใบผ่านภาษีอากร ซึ่งต้องมีตามความในประมวลรัษฎากรนี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ (มาตรา 4 นว วรรคแรก)

      10.6.2 คนต่างด้าวผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับ 10.6.1 (มาตรา 4 นว วรรคท้าย)

 

11. มาตรา 4 ทศ ดอกเบี้ยจากการได้รับคืนเงินภาษีอากร

 “มาตรา 4 ทศ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายสั่งให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

     ดอกเบี้ยที่ให้ตามวรรคหนึ่ง มิให้เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนและให้จ่ายจากเงินภาษีอากรที่จัดเก็บได้ตามประมวลรัษฎากรนี้

จากบทบัญญัติมาตรา 4 ทศ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) .. 2525 ใช้บังคับ 3 กรกฎาคม 2525 เป็นต้นไปดังกล่าวอาจแยกพิจารณาเกี่ยวกับดอกเบี้ยจากการได้รับคืนเงินภาษีอากร ได้ดังนี้

11.1 หลักการในการคิดดอกเบี้ยให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร

      11.1.1 เพื่อเป็นการบรรเทาภาระความเสียหาย และให้ประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ซึ่งได้ชำระหรือถือว่าได้ชำระภาษีอากรให้แก่ ทางราชการเกินกว่าจำนวนที่ต้องเสีย

      11.1.2 เนื่องจากในกรณีที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรชำระภาษีอากร หรือล่าช้าเกินกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มีบทบัญญัติให้ผู้ต้องเสียภาษีอากรดังกล่าวต้องรับผิดเสียเงินเพิ่ม ดังนั้น เพื่ออำนวยให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีอากร ในกรณีตรงข้ามเมื่อปรากฏว่า ผู้ต้องเสียภาษีอากรได้ชำระภาษีอากรไว้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรจึงต้องควรได้รับดอกเบี้ย

11.2 วิธีการดอกเบี้ยที่จะให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร

      วิธีการคิดดอกเบี้ยที่จะให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร เป็นไปตามกฎกระทรวง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 ทศ ได้แก่ กฎกระทรวง ฉบับที่ 161 ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2526 ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้

      11.2.1 ดอกเบี้ยที่จะให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินอากร ให้คิดดังต่อไปนี้

             (1)  กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดระยะเวลาสามเดือนนับแต่

                   (ก) วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้ ถ้าผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรต้องยื่นแบบแสดงรายการ เกี่ยวกับเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย หรือ

                   (ข) วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ถ้าผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ เกี่ยวกับเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย  

             (2)  กรณีคืนเงินภาษีอากร ที่ชำระตามแบบแสดงรายการ ไม่ว่าจะชำระพร้อมกับการยื่นหรือไม่ ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร

             (3)  กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน หรือตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระสำหรับสินค้าที่นำเข้าในราชอาณาจักร ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันชำระภาษีอากร

             การคิดดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่ง ให้คิดจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน แต่สำหรับการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่กรมศุลกากรเรียกเก็บเพื่อกรมสรรพากร  ให้คิดจนถึงวันที่อนุมัติให้คืน

      11.2.2 การคิดดอกเบี้ยตาม 11.2.1 จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการ หรือคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือภายในเวลาที่ได้รับการขยาย หรือเลื่อนให้

                   การยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ผู้ยื่นคำร้องต้องนำเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปแสดงต่อเจ้าพนักงานเพื่อพิสูจน์ว่า ได้เสียภาษีอากรเกินไปด้วย

             ในกรณีที่เจ้าพนักงานเรียกเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบว่าได้ถูกหัก หรือเสียภาษีอากรเกินกว่าที่ต้องเสีย ผู้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรต้องนำเอกสารหรือหลักฐานไปแสดงต่อ เจ้าพนักงานภายในกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานสั่ง แต่ไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน นับแต่วันได้รับคำสั่งเป็นหนังสือ ในกรณีที่มีเหตุสมควรอธิบดีมีอำนาจขยายเวลาดังกล่าวให้ได้ แต่ให้ระงับการคิดดอกเบี้ยให้ในระหว่างเวลาที่ขยายให้จนถึงวันที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน

                   ถ้าผู้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ภายในเวลาที่กำหนดหรือภายในเวลาที่อธิบดีได้ขยายให้ ให้ระงับการคิดดอกเบี้ย ตั้งแต่วันสุดท้ายของเวลาที่เจ้าพนักงานสั่งตามวรรคสาม” 

11.3 ดอกเบี้ยที่ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ก)

      12.3.1 กรณีผู้ได้รับคืนภาษีที่ได้รับดอกเบี้ยเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (19) จึงไม่ต้องนำดอกเบี้ยจากการนี้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

      12.3.2 กรณีผู้ได้รับคืนภาษีที่ได้รับดอกเบี้ยเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่มีบทบัญญัติใดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงต้องนำดอกเบี้ยจากการนี้ไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ เมื่อผู้ได้รับคืนภาษีที่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้รับดอกเบี้ย กรมสรรพากรต้องคำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ตามมาตรา 69 ทวิ

 

12. บทสรุป

 บทบัญญัติที่มีเนื้อหาเป็นบทเบ็ดเตล็ดในลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น ตามมาตรา 3 ทวิถึงมาตรา 3 จตุทศ และมาตรา 4 ทวิ ถึงมาตรา 4 ทศ รวมทั้งสิ้น 22 มาตรา เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรโดยรวมของทุกประเภทภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร อันเป็นกฎหมายทั่วไป จึงต้องนำมาบัญญัติไว้ในลักษณะ 1 ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปของทั้งประมวลรัษฎากร

บทบัญญัติมาตรา 3 ทวิ ถึงมาตรา 3 จตุทศ และมาตรา 4 ทวิ ถึงมาตรา 4 ทศ มีการเพิ่มเติมและแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้ 


บทบัญญัติ

การแก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 3 ทวิ

เพิ่มเติมครั้งแรกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2494 ใช้บังคับ 25 เมษายน 2494 เป็นต้นมา 

ต่อมาแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับวันที่ 3 กรกฎาคม 2525 เป็นต้นไป

มาตรา 3 ตรี และ

มาตรา 3 จัตวา

เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2494 ใช้บังคับวันที่ 25 เมษายน 2494 เป็นต้นไป

มาตรา 3 เบญจ

เพิ่มเติมครั้งแรกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 มาตรา 10 ใช้บังคับ 10 กุมภาพันธ์ 2496

ต่อมาแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับวันที่ 3 กรกฎาคม 2525 เป็นต้นไป

มาตรา 3 ฉ ถึงมาตรา 3 ทศ

เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) .. 2496 ใช้บังคับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2496 เป็นต้นไป

มาตรา 3 เอกาทศ

เพิ่มเติมครั้งแรกโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2520

ต่อมาแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) .. 2496 ใช้บังคับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2496 เป็นต้นไป

มาตรา 3 ทวาทศ

เพิ่มเติมโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2520

มาตรา 3 เตรส 

เพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521

มาตรา 3 จตุทศ

เพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2526 ใช้บังคับวันที่ 29 พฤศจิกายน 2526

มาตรา 4 ทวิ ถึงมาตรา 4 นว

เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2503 เป็นต้นไป

มาตรา 4 ทศ

แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2525 ใช้บังคับ 3 กรกฎาคม 2525 เป็นต้นไป

 

มาตรา 3 ทวิ บัญญัติขึ้นเพื่อการลดคดีความทางภาษีอากรที่จะขึ้นสู่ศาล โดยเฉพาะคดีมโนสาเร่ที่เป็นบทลหุโทษ

มาตรา 3 ตรี บัญญัติขึ้นเพื่อการลดเงินเพิ่มอากรแสตมป์

มาตรา 3 จัตวา บัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในอันที่จะกำหนดให้นำภาษีอากรไปชำระ ณ ที่แห่งอื่นที่มิใช่ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนกับมาตรา 11 ที่ให้อำนาจแก่อธิบดีกรมสรรพากรในอันที่จะกำหนดในลักษณะดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว จึงพิจารณาได้ว่า มาตรา 3 จัตวาเป็นบทบัญญัติที่ไม่มีผลใช้บังคับ

มาตรา 3 เบญจ บัญญัติให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดและสรรพากรเขตในอันที่จะเข้าทำการตรวจค้น ยึดอายัด โดยกำหนดบทลงโทษทางอาญไว้ตามมาตรา 3 นว

มาตรา 3บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินในอันที่จะสั่งให้ผู้ต้องเสียภาษีอากรหรือผู้อื่นแปลเอกสารหลักฐานที่จัดทำเป็นภาษีต่างประเทศให้เป็นภาษาไทยภายในเวลาอันสมควร โดยกำหนดบทลงโทษทางอาญาไว้ตามมาตรา 3 ทศ

มาตรา 3 อัฏฐ บัญญัติให้อำนาจแก่อธิบดีกรมสรรพากรและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในอันที่จะขยายกำหนดเวลาใดๆ ตามประมวลรัษฎากร

มาตรา 4 ทวิ ถึงมาตรา 4 นว บัญญัติเกี่ยวกับใบผ่านภาษีอากรสำหรับคนต่างด้าวยที่ประสงค์จะเดินทางออกจากประเทศไทย

มาตรา 4 ทศ บัญญัติหลักเกณฑ์การให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ที่ได้รับคืนเงินภาษีอากร

การประยุกต์ใช้บทบัญญัติในลักษณะ 2 จึงต้องคำนึงถึงบทบัญญัติทั่วไปในลักษณะ 1 อันเป็นกฎหมายทั่วไปเสมอ ตามหลัก “กฎหมายพิเศษย่อมใช้บังคับก่อนหรือยกเว้นกฎหมายทั่วไป