ภาษีการรับมรดก (3)
บทความวันที่ 2 ส.ค. 2559 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 3230 ครั้ง
บทความวันที่ 2 ส.ค. 2559 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 3230 ครั้ง
3.2.7 ถ้าจำเป็นต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีการรับมรดก เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามพระราชบัญญัติ ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559 โดยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ใช้ซื้อขายกับลูกค้า ซึ่งเป็นอัตราซื้อถัวเฉลี่ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศและเผยแพร่เมื่อสิ้นวันทำการของแต่ละวันในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยเพื่อคำนวณภาษีการรับมรดกสำหรับมรดกที่มีมูลค่าเป็นเงินตราต่างประเทศซึ่งได้รับในวันถัดไป
3.3 อัตราภาษีการรับมรดก (มาตรา 16)
3.3.1 ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคำนวณและเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10.0 ของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 12
3.3.2 แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5.0 ของมูลค่ามรดก
ผู้ได้รับมรดก | อัตราภาษีการรับมรดก |
· เป็นบุคคลทั่วไปที่มิใช่บุพการี หรือผู้สืบสันดาน | ร้อยละ 10.0 |
· เป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน | ร้อยละ 5.0 |
4. วิธีการเสียภาษีการรับมรดก
วิธีการเสียภาษีการรับมรดก เป็นตามหมวด 3 การยื่นแบบ การชำระภาษี และการประเมินภาษี ตั้งแต่มาตรา 17 ถึงมาตรา 25 ดังต่อไปนี้
4.1 การยื่นรายการประเมินตนเอง
4.1.1 ภายใต้บังคับเกี่ยวกับการผ่อนชำระภาษีการรับมรดกตามมาตรา 23 ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีการรับมรดกตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ภ.ม.60) ภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับมรดกที่เป็นเหตุให้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง
การยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกและชำระภาษีการรับมรดก ให้ยื่นและชำระ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือ ณ สถานที่อื่นใดตามที่อธิบดีกำหนด
เมื่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาได้รับแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกแล้ว ให้ส่งต่อเจ้าพนักงานประเมินโดยเร็ว และให้เจ้าพนักงานประเมินดำเนินการประเมินภาษีการรับมรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกต้องเสียภาษีเพิ่มและได้ชำระภาษีการรับมรดกภายในกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินจากเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 22 มิให้คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม เว้นแต่การต้องเสียภาษีเพิ่มนั้นเกิดจากรายการที่ผู้ยื่นมิได้แสดงไว้ในแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกหรือแสดงไว้เป็นเท็จ
เมื่อมีเหตุอันจำเป็นและสมควรที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อธิบดีกรมสรรพากรจะอนุมัติให้ขยายระยะเวลาหนึ่งปีออกไปเป็นการเฉพาะกรณีก็ได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 3 ปี (มาตรา 17)
4.1.2 ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกตายก่อนครบกำหนดเวลาภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับมรดกที่เป็นเหตุให้มีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง โดยยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก ให้ผู้จัดการมรดกของผู้นั้นมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีพร้อมทั้งเงินเพิ่มตามมาตรา 31 แทนผู้ตายภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ สำหรับเงินเพิ่มให้คำนวณนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง จนถึงวันที่ชำระภาษีการรับมรดกครบถ้วน
ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกตายเมื่อครบกำหนดเวลา 150 วัน นับแต่วันที่ผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 17 วรรคหนึ่งแล้ว โดยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก ให้ผู้จัดการมรดกของผู้นั้นมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกและชำระภาษีการรับมรดกพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแทนโดยให้ดำเนินการภายใน 150 นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง
สำหรับเบี้ยปรับให้เสียหนึ่งเท่าของเงินภาษีการรับมรดกที่ต้องชำระ เว้นแต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกและชำระภาษีการรับมรดกภายหลังกำหนดเวลาดังกล่าวให้เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของเงินภาษีการรับมรดกที่ต้องชำระ สำหรับเงินเพิ่มให้คำนวณตั้งแต่วันที่ครบกำหนดเวลา 150 วัน นับแต่วันที่ผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง จนถึงวันที่ชำระภาษีการรับมรดกครบถ้วน
เงินเพิ่มต้องไม่เกินเงินภาษีการรับมรดกที่ต้องชำระ
อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิได้รับมรดกคนใดคนหนึ่งจะดำเนินการเองภายในกำหนดเวลา150 วัน แทนผู้จัดการมรดกก็ได้ กรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกตายก่อนครบกำหนดเวลาภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับมรดก หรือกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตายเมื่อครบกำหนดเวลา 150 วัน นับแต่วันที่ผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้รับแต่งตั้ง แล้วแต่กรณี (มาตรา 18)
4.1.3 ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกถึงแก่ความตาย หากไม่มีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกดำเนินการแทนตามมาตรา 18 ให้ทายาทซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายมีหน้าที่ตามมาตรา 18 และให้นำความในมาตรา 18 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกและชำระภาษีการรับมรดก ให้กระทำภายใน 150 วันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลา 180 วัน
ในกรณีมีทายาทหลายคน ให้ทายาทตกลงมอบให้ทายาทคนหนึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี การรับมรดกถ้าไม่อาจตกลงกันได้ ให้ทายาทคนใดคนหนึ่งยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งผู้จัดการมรดกดำเนินการต่อไป
เมื่อพ้นกำหนดเวลา 180 วัน นับแต่วันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกถึงแก่ความตายแล้ว หากไม่มีผู้ใดยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกและชำระภาษีการรับมรดก ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีการรับมรดกตามมาตรา 20 ได้ (มาตรา 19)
4.2 การประเมินโดยเจ้าพนักงานประเมิน
4.2.1 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2558 ดังนี้ โดยให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นเจ้าพนักงานประเมินตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558
(1) อธิบดีกรมสรรพากร
(2) รองอธิบดีกรมสรรพากร
(3) ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีอากรกลาง กรมสรรพากร
(4) นักตรวจสอบภาษีเชี่ยวชาญ สำนักตรวจสอบภาษีอากรกลาง กรมสรรพากร
4.2.2 ภายใต้บังคับเกี่ยวกับการประเมินภาษีการรับมรดกตามมาตรา 17 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีการรับมรดก เมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษาการรับมรดกมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยให้มีอำนาจประเมินภาษีการรับมรดกได้ภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (มาตรา 20)
4.2.3 อำนาจในการออกหมายเรียก (มาตรา 21)
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 20 หรือมาตรา 24 ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ผู้แทน หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ กับมีอำนาจสั่งบุคคลเหล่านั้นให้นำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้ หรือออกคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวตอบคำถามเป็นหนังสือ แต่จะต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหมายเรียกหรือได้รับคำสั่ง
4.2.3 อำนาจประเมินเบี้ยปรับ
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องเสียเบี้ยปรับในกรณีและอัตรา ดังต่อไปนี้ (มาตรา 29)
(1) มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกภายในกำหนดเวลา ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่า (ร้อยละ 100) ของเงินภาษีการรับมรดกที่ต้องชำระ
(2) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกไว้ไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีการรับมรดกที่ต้องเสียขาดไป ให้เสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่า (ร้อยละ 50) ของเงินภาษีการรับมรดกที่ต้องเสียเพิ่ม
4.2.4 อำนาจประเมินเงินเพิ่ม (มาตรา 31)
ภายใต้บังคับมาตรา 23 บุคคลใดไม่ชำระภาษีการรับมรดกให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลา ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีการรับมรดกที่ต้องชำระ โดยไม่รวมเบี้ยปรับ
ในกรณีที่ได้มีการอนุญาตให้เลื่อนกำหนดเวลาการชำระภาษีการรับมรดก และได้มีการชำระภาษีการรับมรดกภายในกำหนดเวลาที่เลื่อนให้นั้น ให้ลดเงินเพิ่มลงเหลือร้อยละ 0.75 ห้าต่อเดือนหรือเศษของเดือน
การคำนวณเงินเพิ่ม ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกจนถึงวันที่ชำระภาษีการรับมรดก แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีการรับมรดกที่ต้องชำระ
4.2.5 เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือเป็นเงินภาษีการรับมรดก (มาตรา 32)
4.2.6 การงดหรือลดเบี้ยปรับ
เบี้ยปรับอาจงดหรือลดลงได้ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขดังกล่าวต้องระบุให้ชัดเจนถึงเหตุแห่งการงดหรือลดเบี้ยปรับ โดยคำนึงถึงความสุจริตและเหตุจำเป็นของผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เป็นสำคัญ (มาตรา 30)
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 30 อธิบดีกรมสรรพากรโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีการรับมรดก (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการลดหรืองดเบี้ยปรับภาษีการรับมรดก ลงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2559 ดังนี้
“ข้อ 1 ให้บุคคลที่จะต้องเสียเบี้ยปรับตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินแสดงเหตุผลที่ของดหรือลดเบี้ยปรับนั้น
การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมิน ถ้าได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้ว ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ตามกฎหมายต่อไป
ข้อ 2 การงดเบี้ยปรับตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ให้กระทำได้โดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร หรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย
การงดเบี้ยปรับตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกสำคัญผิดว่าทรัพย์มรดกที่ได้รับมีมูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท จึงมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกภายในกำหนดเวลา และเมื่อทราบความผิด ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกพร้อมชำระภาษีครบถ้วนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบความผิด แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ไดรับมรดกและก่อนได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน โดยมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ถึงเหตุแห่งความสำคัญผิดดังกล่าว
ข้อ 3 การลดเบี้ยปรับตามมาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจพิจารณาสั่งลดได้ ตามอัตราและเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) กรณีผู้ที่จะต้องเสียเบี้ยปรับไดยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกพร้อมชำระภาษีก่อนออกหมายเรียก ให้เสียเบี้ยปรับดังนี้
(ก) ถ้าชำระภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 18 วรรคสอง หรือมาตรา 19 ให้เสียร้อยละ 1 ของเบี้ยปรับ
(ข) ถ้าชำระภายใน 60 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษี ให้เสียร้อยละ 2 ของเบี้ยปรับ
(ค) ถ้าชำระภายหลัง 60 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษี ให้เสียร้อยละ 5 ของเบี้ยปรับ
(ง) ถ้าชำระภายหลัง 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาชำระภาษี ให้เสียร้อยละ 10 ของเบี้ยปรับ
(2) ในกรณีเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียก และผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดกพร้อมชำระภาษีก่อนได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน ให้ เสียร้อยละ 40 ของเบี้ยปรับ”
4.2.7 อำนาจแจ้งการประเมิน (มาตรา 22)
เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีการรับมรดกแล้ว ให้แจ้งการประเมินภาษีการรับมรดกนั้นเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก และให้ผู้นั้นชำระภาษีการรับมรดกพร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ถ้ามี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ในกรณีนี้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดกจะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีก็ได้
4.3 การผ่อนชำระ (มาตรา 23)
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะผ่อนชำระภาษีการรับมรดกภายในเวลาไม่เกิน 5 ปีก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 และเมื่อได้ชำระภาษีการรับมรดกครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม แต่ในกรณีที่ผ่อนชำระภาษีเกินสองปีจะกำหนดให้ต้องเสียเงินเพิ่มบางส่วนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวก็ได้
ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขผ่อนชำระภาษีการรับมรดกดังนี้
4.3.1 การยื่นคำร้องขอผ่อนชำระ (มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559)
ในการผ่อนชำระภาษี ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกานี้ แต่ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีถึงแก่ความตายโดยยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีแทนผู้ตาย ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีได้
คำร้องขอผ่อนชำระภาษีดังกล่าว ให้ยื่นพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือเวลาที่อธิบดีอนุญาตให้เลื่อนออกไป ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด
4.3.2 การขอผ่อนชำระในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีและปรากฏว่ามีภาษีที่ต้องเสียเพิ่มขึ้น (มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559)