ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

คำแนะนำกรณีบริษัทฯ ถูกเวนคืนทีี่ดิน

บทความวันที่ 26 ส.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 4959 ครั้ง

คำแนะนำกรณีบริษัทฯ ถูกเวนคืนทีี่ดิน


         ตามที่บริษัทฯ ได้รับสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ในโครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวง สัญญาลงวันที่ 12 มิ.ย. 2560 สำหรับที่ดินเป็นโฉนด จำนวน 2 แปลง โดยมีการกำหนดการแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด

         งวดที่ 1 จำนวน 75% ของค่าทดแทนที่ดินทั้งหมด ภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้ลงนามในสัญญา

         งวดที่ 2 อีก 25% ของค่าทดแทนที่ดินทั้งหมด ชำระเมื่อเจ้าหน้าที่เวนคืนได้รับหลักฐานแสดงการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ และผู้ขายได้รื้อถอนโรงเรือนและ

สิ่งปลูกสร้างรวมทั้งทรัพย์สินออกจากที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นที่เรียบร้อย

        จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ขอเรียนว่า

        1. เกี่ยวกับการรับรู้รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์นั้น ให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามข้อ 3.7 (3) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 ดังนี้ 

            "3.7 การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ ให้ใช้เกณฑ์สิทธิตามข้อ 2 โดยให้ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณรายได้และรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ดังต่อไปนี้...

                  (3) ให้คำนวณรายได้และรายจ่ายที่เกี่ยวข้องตามงวดที่ถึงกำหนดชำระโดยให้ใช้วิธีการคำนวณตามอัตรากำไรขั้นต้น"

        2. ในทางปฏิบัติกรมสรรพากรถือว่า การที่บริษัทฯ "ขายอสังหาริมทรัพย์" กรณีดังกล่าวเป็็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ดังนี้

           "มาตรา 4 ให้การขายอสังหาริมทรัพย์เฉพาะที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและ นิติกรรมดังต่อไปนี้ เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษี ธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

                (1) การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน 

                (2) การขายห้องชุดของผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุด ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด 

                (3) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขาย รวมถึงการ ขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าว 

                (4) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) หรือ (3) เฉพาะกรณีที่มีการแบ่งขายหรือมีการแบ่งแยกไว้เพื่อขาย โดยได้จัดทำถนนหรือสิ่ง สาธารณูปโภคอื่น หรือให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีสิ่งดังกล่าว 

                (5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของ นิติบุคคลตามมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร..." 

                บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 3.3 ของรายรับ ในขณะที่่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายที่ดิน โดยต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40 พร้อมทั้งถูกหักภาษีเงินไ้ด้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 ของราคาขาย (ราคาที่ทางราชการตกลงจ่ายให้) ตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายที่ดิน ในอัตราร้อยละ 1.0 ของราคาประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายที่ดิน 

          3. อย่างไรตาม เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่พิพากษาให้กรมสรรพากรแพ้คดิในกรณีนี้ อาทิ คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 2680/2549 (ประชุมใหญ่) ดังนี้ 

              คำวินิจฉัยของศาลฎีกา 

              ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า มาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ให้คำนิยามคำว่า ขาย ว่า หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่าย จ่าย โอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ตามบทนิยามดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้ที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 37 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครตอนแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 34 (บางพลี) – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (วังน้อย) พ.ศ. 2536 และการที่โจทก์โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่กรม-ทางหลวงเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ก็ตาม ก็ยังเป็นการโอน จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1(4) ส่วนปัญหาว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวจะถือเป็นการประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่นั้น เห็นว่าแม้ประมวล-รัษฎากร มาตรา 91/2 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 91/4 การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักรให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามบทบัญญัติในหมวดนี้....(6) การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวล-รัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ออกโดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวและใช้บังคับขณะนั้น มาตรา 3 บัญญัติว่า ให้การขายอสังหา-ริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร มีดังต่อไปนี้ ....(5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการแต่ไม่รวมถึงที่ดินที่ผู้นั้นใช้ในการเกษตรกรรม ก็ตาม แต่เป็นที่เห็นได้ชัดว่าทรัพย์ดังกล่าวโจทก์จำเป็นต้องมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการ เพราะต้องใช้เป็นสำนักงานและโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์จำหน่าย ไม่ใช่ไว้เพื่อขาย ประกอบกับการที่โจทก์ต้องโอนทรัพย์ก็เนื่องจากการถูกเวนคืน ไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ กรณีของโจทก์เช่นนี้จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น 

              พิพากษากลับ ให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเลขที่ 02010450/6/100012 เลขที่ 02010450/6/100013 และเลขที่ 02010450/6/100014 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2543 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.2 (อธ.3.3) /17.1/8/44 เลขที่ สภ.2 (อธ.3.3) /17.2/8/44 และเลขที่ สภ.2 (อธ.3.3) /17.3/8/44 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท

(ที่มา: http://www.sanpakornsarn.com/page_article_detail.php?aID=136)

              จึงขอแนะนำให้บริษัทฯ แจ้งกับเจ้าพนักงานที่ดินในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมว่า บริษัทฯ ไม่ประสงค์ที่จะเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/10 วรรคห้า วรรคหก และวรรคเจ็ด แห่งประมวลรัษฎากร และยินดีให้กรมสรรพากรประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ และต่อสู้กับกรมสรรพากรตามแนวคำพิพากษาฎีกา ตามข้ออ้างของกรมสรรพากรที่อ้างว่า... "คำพิพากษาฎีกา ระหว่างบริษัท ม. กับกรมสรรพากร คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ของศาล ในแต่ละคดีย่อมผูกพันเฉพาะคู่ความในกระบวนการพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันบุคคล ภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความในคดี ทั้งนี้ ตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง..." ตามที่ปรากฏในแนวคำตอบข้อหารือที่แนบมาท้ายนี้

เลขที่หนังสือ: กค 0702/3734

วันที่: 1 กรกฎาคม 2551

เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

ข้อกฎหมาย: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

ข้อหารือ

        1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและส่งออกของชำร่วยที่ทำจากโพลีเรซิ่น และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2535 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550 บริษัทฯ ได้เลิกจ้างพนักงานทั้งหมดและไม่ได้ ประกอบกิจการแล้ว เนื่องจากในวันที่ 9 เมษายน 2550 กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เวนคืนที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างบริเวณสำนักงานใหญ่เดิม ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสินค้าของบริษัทฯ ตั้งอยู่เลขที่อำเภอบางพลี จังหวัด สมุทรปราการ บริษัทฯ ยื่นแบบ ค.10 ขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับเดือนภาษีเมษายน 2550 จำนวนเงิน 1,357,488 บาท ซึ่งเกิดจากการเวนคืนที่ดิน โดยให้เหตุผลว่า บริษัทฯ มิได้ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคั บต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ประกอบกับคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัท ม. ซึ่งถูกเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (โรงงาน) จากกรมทางหลวง ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะมิใช่การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย 

        1. กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินค่าทดแทนจากการถูกเวนคืนที่ดิน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร โดยพนักงานเจ้าหน้าที่มี หน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อกรมสรรพากร ในขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ในอัตราร้อยละ 3.0 ของรายรับจากค่าทดแทน ทั้งนี้ ตามมาตรา 91/5(6) มาตรา 91/6(3) และมาตรา 91/10 วรรคหก แห่งประมวลรัษฎากร

        2. กรณีที่บริษัทฯ อ้างคำพิพากษาฎีกา ระหว่างบริษัท ม. กับกรมสรรพากร คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ของศาล ในแต่ละคดีย่อมผูกพันเฉพาะคู่ความในกระบวนการพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันบุคคล ภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความในคดี ทั้งนี้ ตามมาตรา 145 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บริษัทฯ จึงไม่อาจอ้างประโยชน์จากคำพิพากษาดังกล่าวได้ และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 กำหนดไว้ชัดเจนว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายซึ่งเป็นนิติบุคคลมีไว้ในการประกอบกิจการ เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็น ทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้ : 71/35974