ศึกษาประมวลรัษฎากร ด้วยตนเอง ตอนที่ 8 : คำอธิบายประมวลรัษฎากรรายมาตรา มาตรา 1 - มาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร
บทความวันที่ 30 ก.ค. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 4139 ครั้ง
บทความวันที่ 30 ก.ค. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 4139 ครั้ง
คำอธิบายประมวลรัษฎากร รายมาตรา
ลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น
มาตรา 1 - มาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา 1 ชื่อกฎหมาย
มาตรา 1
กฎหมายนี้ให้เรียกว่า “ประมวลรัษฎากร”
จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
1. “ประมวลรัษฎากร”
เป็นกฎหมายโดยผลของบทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราช
บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ซึ่งบัญญัติว่า
“มาตรา 3
ให้ใช้ประมวลรัษฎากรตามที่ตราไว้ต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1
เมษายน พุทธศักราช 2482 เป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 6 ว่าด้วยอากรแสตมป์นั้น
ให้ใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พุทธศักราช 2482 เป็นต้นไป”
2. เป็นที่น่าสังเกตว่า
ชื่อกฎหมาย “ประมวลรัษฎากร” ไม่ต้องต่อด้วยปีพุทธศักราช เพราะ
“ประมวลรัษฎากร” เป็นเพียงชื่อเฉพาะที่บัญญัติไว้แต่เพียงนั้น โดยไม่มีปีพุทธศักราชต่อท้ายดังเช่นกรณีพระราชบัญญัติ
หรือพระราชกำหนด หรือแม้แต่พระราชกฤษฎีกา
ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด
ดังเช่นกรณี ประมวลกฎหมายทั้งหลาย
ซึ่งไม่มีปีพุทธศักราชต่อท้าย เพราะเป็นชื่อเฉพาะดังกล่าว ซึ่งรวมทั้ง “ประมวลรัษฎากร”
ด้วย การศึกษาว่า “ประมวลกฎหมาย” ฉบับนั้นตราออกมาใช้บังคับเมื่อใด โดยกฎหมายใด
ก็ต้องย้อนกลับไปศึกษาจากพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายฉบับนั้นๆ
เว้นแต่ ประมวลกฎหมายอาญาทหาร เป็นบทบัญญัติที่เป็นพระราชบัญญัติโดยตนเอง
3. การทำความเข้าใจประมวลรัษฎากร
ต้องเข้าใจภาพรวม และคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งประมวลรัษฎากร
ก็จะบังคับให้เรามีความเป็นระบบเชื่อมโยงกันเป็น network
เครือข่าย ไม่อาจศึกษาเป็นรายมาตราได้
ทุกมาตราล้วนเชื่อมโยงกับมาตราอื่นๆ เสมอ เช่น
นอกจาก มาตรา
1
แห่งประมวลรัษฎากร เชื่อมโยงกับมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ดังกล่าวแล้ว มาตรา 1 ยังเชื่อมโยงกับมาตรา
4 และมาตรา 5
แห่งประมวลรัษฎากร ในมุมของการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ดังนี้
“มาตรา 4
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามประมวลรัษฎากรนี้
และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินและเจ้าพนักงานอื่น
โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษากับออกกฎกระทรวง
(1) ให้ใช้หรือยกเลิกแสตมป์โดยกำหนดให้นำมาแลกเปลี่ยนกับแสตมป์ที่ใช้ได้
ภายในเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด แต่ต้องให้เวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวัน
(2) กำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากรนี้
กฎกระทรวงนั้น
เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
มาตรา 5
ภาษีอากรซึ่งบัญญัติไว้ในลักษณะนี้
ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมสรรพากร"
และมาตรา 1 แห่งประมวลรัษฎากร
ย่อมครอบคลุมไปในทุกมาตราในฐานะบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร เป็นต้น
มาตรา 2 บทนิยามศัพท์
“มาตรา 2 ในประมวลรัษฎากรนี้
เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามประมวลรัษฎากรนี้
““อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมสรรพากร
หรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย”
(คำว่า
“อธิบดี” แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2527 ใช้บังคับ 1 มกราคม 2528 เป็นต้นไป)
“ผู้ว่าราชการจังหวัด” หมายความรวมถึง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหา
นครด้วย
“อำเภอ” หมายความว่านายอำเภอ สมุห์บัญชีอำเภอ
หรือสมุห์บัญชีเขต
“นายอำเภอ” หมายความรวมถึง หัวหน้าเขต และปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอด้วย
“ที่ว่าการอำเภอ”
หมายความรวมถึง ที่ว่าการเขต และที่ว่าการกิ่งอำเภอด้วย
“องค์การของรัฐบาล”
หมายความว่า
องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล
และกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และหมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลด้วย
“ประเทศไทย” หรือ “ราชอาณาจักร” หมายความรวมถึง
เขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป
และตามความตกลงกับต่างประเทศด้วย”
(มาตรา
2 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2520
ใช้บังคับ 9 พฤศจิกายน 2520 เป็นต้นไป)
บทนิยามศัพท์ตามมาตรา 2
ถือเป็นกฎหมายทั่วไป ให้นำไปใช้กับทั้งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้
เว้นแต่ในประมวลรัษฎากรนี้ จะมีข้อความเกี่ยวกับนิยามศัพท์ของคำเหล่านี้ แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
1. คำว่า “รัฐมนตรี” หมายความว่า
รัฐมนตรีผู้รักษาการตามประมวลรัษฎากรนี้ ได้แก่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามมาตรา 4 เป็นการบัญญัติเพื่อให้ทราบว่า
กระทรวงที่มีหน้าที่กำกับดูแลการบริหารจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ได้แก่
กระทรวงการคลัง แต่สำหรับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการจัดเก็บโดยตรง
ได้แก่ กรมสรรพากรตามมาตรา 5
2. คำว่า “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมสรรพากร หรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย
คำว่า “อธิบดี” แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 13)
พ.ศ. 2527 ใช้บังคับ 1 มกราคม 2528 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม
เกี่ยวกับอำนาจอธิบดีกรมสรรพากรในอันที่จะเข้าไปในสถานที่
หรือยานพาหนะใดเพื่อทำการตรวจค้น ยึด หรืออายัดบัญชี เอกสาร
หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับ
หรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีอากรที่จะต้องเสียทั่วราชอาณาจักรตามมาตรา 3 เบญจ
แห่งประมวลรัษฎากร นั้น คำว่า “อธิบดี”
ให้หมายถึงเฉพาะตัวอธิบดีกรมสรรพากรเท่านั้น
ไม่รวมถึงผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย เพราะตามมาตรา 3 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร
บัญญัติว่า ในกรณีเจ้าพนักงานสรรพากรเข้าไปในสถานที่หรือยานพาหนะใดเพื่อทำการตรวจค้น
ยึดหรืออายัดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับ
หรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีอากรที่จะต้องเสียนั้น
ต้องให้อธิบดีกรมสรรพากรออกคำสั่งเป็นหนังสือจึงจะกระทำได้
3. “ผู้ว่าราชการจังหวัด” หมายความรวมถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วย
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร กล่าวถึง “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ดังนี้
3.1 มาตรา 3 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณี “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ในฐานะเจ้าพนักงานเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรต้องได้รับโทษจำคุก
หรือไม่ควรถูกฟ้องร้องในความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว
หรือมีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
ซึ่งโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัดอื่น ให้ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” มีอำนาจเปรียบเทียบ
โดยกำหนดค่าปรับแต่สถานเดียวในความผิดดังกล่าว
3.2 มาตรา 3 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่ามีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเข้าไปหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือ
ให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้าไปในสถานที่หรือยานพาหนะใดเพื่อทำการตรวจค้น
ยึดหรืออายัดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับ
หรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีอากรที่จะต้องเสียสำหรับในเขตท้องที่จังหวัดนั้น
3.4 มาตรา 4 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร อำนาจ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในอันที่จะออกใบผ่านภาษีอากร
3.5 มาตรา 12
วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักร
โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่งอำนาจดังกล่าว
3.6 มาตรา 30 และมาตรา 32 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทน
เป็นองค์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรณีเจ้าพนักงานประเมินผู้ทำการประเมินมีสำนักงานอยู่ในเขตจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร
และมีอำนาจออกหมายเรียกผู้อุทธรณ์มาไต่สวน ออกหมายเรียกพยาน
กับสั่งให้ผู้อุทธรณ์หรือพยานนั้นนำสมุดบัญชี
หรือพยานหลักฐานอย่างอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันนับแต่วันส่งหมาย
4. คำว่า “อำเภอ” “นายอำเภอ”
และ “ที่ว่าการอำเภอ”
“อำเภอ” หมายความว่านายอำเภอ สมุห์บัญชีอำเภอ หรือสมุห์บัญชีเขต
“นายอำเภอ” หมายความรวมถึงหัวหน้าเขต และปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอด้วย
“ที่ว่าการอำเภอ” หมายความรวมถึงที่ว่าการเขต และที่ว่าการกิ่งอำเภอด้วย
ปัจจุบันนับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2545 เป็นต้นมา คำว่า “อำเภอ” “นายอำเภอ”
และ “ที่ว่าการอำเภอ” ไม่มีผลใช้บังคับ
เพราะเหตุที่กรมสรรพากรปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรเป็นส่วนกลางทั้งหมด
โดยไม่มีส่วนภูมิภาค (ดู คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 112/2545 ซึ่งออกตามความในมาตรา
11 ประกอบ)
5. คำว่า “องค์การของรัฐบาล” หมายความว่า องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล
และกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น
และหมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลด้วย
5.1 จากบทบัญญัติคำว่า “องค์การของรัฐบาล” อาจจำแนกรายละเอียดได้ดังนี้
(1)
องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล อาทิ กระทรวง ทบวง
กรม กองทัพ จังหวัด มหาวิทยาลัยของรัฐ
(2) กิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งขึ้น อาทิ เทศบาล
กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารราชการส่วนจังหวัด
องค์การบริหารราชการส่วนตำบล รัฐวิสาหกิจที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(3)
หน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล อาทิ องค์การค้าของคุรุสภา
โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง สรรพากรสาส์น โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น
5.2 คำว่า “องค์การของรัฐบาล” เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติดังต่อไปนี้
(1) มาตรา 50
(4) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย
(2) มาตรา 69 ทวิ
แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย
(3) มาตรา 77/1
(3) แห่งประมวลรัษฎากร ขยายความคำว่า “บุคคล” ที่เป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
6. คำว่า “ประเทศไทย” หรือ
“ราชอาณาจักร” หมายความรวมถึง
เขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป
และตามความตกลงกับต่างประเทศด้วย”
6.1 “ประเทศไทย”
หรือ “ราชอาณาจักร” ตามประมวลรัษฎากรประกอบด้วย
(1) “ประเทศไทย” หรือ “ราชอาณาจักร” หมายถึง
เขตภาคพื้นทวีปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และส่วนที่เป็นทะเลอาณาเขต เกาะ แก่ง
ทะเลอาณาเขต (The
Territorial Sea) หมายถึง ทะเลที่อยู่ถัดจากน่านน้ำภายในและถือเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนของรัฐ
มีความกว้างไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลนับจากเส้นฐาน
(2) เขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทย
ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป (12 ไมล์ทะเล)
(3) เขตไหล่ทวีปตามความตกลงกับต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive
Economic Zone: EEZ)
เขตเศรษฐกิจจำเพาะ คือ
บริเวณที่อยู่เลยไปจากและประชิดกับทะเลอาณาเขต มีความกว้างไม่เกิน 200
ไมล์ทะเลนับจากเส้นฐาน รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยในการสำรวจ แสวงประโยชน์
อนุรักษ์และจัดการในทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต
ทั้งที่อยู่ในห้วงน้ำ พื้นดินท้องทะเล ดินใต้ผิวดิน ตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ
ในเขตพื้นที่นั้น
ทั้งนี้รัฐชายฝั่งจะต้องประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตนก่อนจึงจะสามารถมีสิทธิตามกฎหมายได้
เรือทุกประเภท รวมถึงเรือรบ และอากาศยานของรัฐทั้งปวง มีเสรีภาพในการเดินเรือ
และบินผ่าน และรัฐทั้งปวงมีเสรีภาพในการใช้ทะเลในทางอื่น เช่น
การวางสายเคเบิลและท่อใต้ทะเล การสร้างเกาะเทียม สิ่งติดตั้ง
การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ภายใต้บังคับและเงื่อนไขตามที่อนุสัญญาฯ กำหนด นอกจากนี้
การใช้เสรีภาพดังกล่าวยังต้องเคารพกฎหมายของรัฐชายฝั่ง
และรัฐชายฝั่งจะต้องไม่ออกกฎหมายหรือข้อบังคับที่ทำให้เสรีภาพของรัฐอื่นเสียไป
6.2 เขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย
– มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Development Area) เป็นบริเวณที่ไทยและมาเลเซียอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันในบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง
ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร โดยอยู่ห่างจากจังหวัดสงขลาประมาณ 260
กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดปัตตานี 180 กิโลเมตร และจากเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน
ประเทศมาเลเซียประมาณ 150 กิโลเมตร
ในทางประมวลรัษฎากรมีการตราอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ
เขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย อาทิ พระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 332) พ.ศ. 2541 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ฉบับที่ 40)
6.3 คำว่า “ประเทศไทย” หรือ
“ราชอาณาจักร” เกี่ยวข้องกับหลักการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรดังนี้
(1) หลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม
มาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักแหล่งเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
และหลักถิ่นที่อยู่สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
(2) หลักการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร
(3) หลักการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักการบริโภคสินค้าหรือบริการในราชอาณาจักร
และการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร
(4) หลักการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ
ตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักการบริโภคสินค้าหรือบริการเฉพาะธุรกิจที่ไม่อาจคำนวณมูลค่าเพิ่มหรือคำนวณได้โดยยาก
(5) หลักการจัดเก็บอากรแสตมป์ ตามมาตรา 104 รวมทั้งมาตรา
111 แห่งประมวลรัษฎากร “สยาม”
ตามหลักการคุ้มครองให้ตราสารนั้นสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้
มาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร การตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อการลดอัตราหรือยกเว้นรัษฎากร
“มาตรา 3 บรรดารัษฎากรประเภทต่างๆ
ซึ่งเรียกเก็บตามประมวลรัษฎากรนี้จะตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อการต่อไปนี้ก็ได้ คือ
(1)
ลดอัตรา หรือยกเว้นเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์
กิจการหรือสภาพของท้องที่บางแห่งหรือทั่วไป
(2)
ยกเว้นแก่บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศ
ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ
หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือตามสัญญาหรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ
(3)
ยกเว้นแก่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล องค์การศาสนาหรือองค์การการกุศลสาธารณะ
การลดหรือยกเว้นตาม (1)(2) และ (3) นั้น จะตราพระราชกฤษฎีกายกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงก็ได้”
(มาตรา 3
แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับ 10
กุมภาพันธ์ 2496 เป็นต้นไป)
จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
1. ลักษณะของกฎหมายภาษีอากรที่ดี
ลักษณะหนึ่ง คือ หลักความยืดหยุ่น (Flexible) ในอันที่จะบัญญัติกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์
หรือกิจการเฉพาะบางประเภท โดยยกเว้นหรือลดอัตราภาษีอากรให้เหมาะสม
ซึ่งประมวลรัษฎากรได้มีบทบัญญัติมาตรา 3
ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารที่จะแนะนำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงตราพระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร เพื่อการดังต่อไปนี้
1.1 ลดอัตรา
หรือยกเว้นรัษฎากรเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์
กิจการหรือสภาพของท้องที่บางแห่งหรือทั่วไป
1.2 ยกเว้นแก่บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศ
ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ
หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือตามสัญญาหรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ
1.3 ยกเว้นแก่รัฐบาล
องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล องค์การศาสนาหรือองค์การการกุศลสาธารณะ
2. การตราพระราชกฤษฎีกาฯ
โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 (1) เพื่อลดอัตรา
หรือยกเว้นเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ กิจการหรือสภาพของท้องที่บางแห่งหรือทั่วไป
หรือตามมาตรา 3 (2) เพื่อยกเว้นแก่บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศ
ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ
หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือตามสัญญาหรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ
มีรูปแบบดังนี้
2.1
ชื่อพระราชกฤษฎีกา จะใช้ว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นหรือลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....” โดยระบุฉบับที่
เป็นลำดับการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ตั้งแต่ต้น และระบุปี พุทธศักราชที่ตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนั้นๆ
เว้นแต่การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าบางกรณี ก็จะใช้ว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....” เช่น พระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 311) พ.ศ. 2540 (ฉบับที่ 313) พ.ศ. 2540 (ฉบับที่ 348) พ.ศ. 2542
และระบุชื่อพระราชกฤษฎีกาฯ ที่มาตรา 1 อีกครั้งหนึ่ง
2.2
เป็นพระราชโองการแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงครองราชย์ในขณะนั้นโปรดเกล้าฯ
ให้ประกาศว่า ได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร โดยระบุวันที่
เดือน และปีพุทธศักราชที่ทรงตราพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับนั้นๆ ขึ้น
และระบุปีที่ครองราชย์
2.3
ที่วรรคสามของพระราชกฤษฎีกาฯ นอกจากระบุเลขมาตราแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา
แล้ว ต้องอ้างอำนาจตามความในมาตรา 3 (1) หรือ (2) หรือ (3) แห่งประมวลรัษฎากร
2.4
ที่มาตราสุดท้าย ระบุให้รัฐมนตรีว่างการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนั้นๆ
2.5
มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ
2.6
ที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ
จะมีหมายเหตุที่แสดงเจตนารมณ์แห่งการตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนั้น
เพื่อความชัดเจนในการปรับใช้กฎหมาย
มาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร
รัฐมนตรีผู้รักษาการตามประมวลรัษฎากร และอำนาจรัฐมนตรี
“มาตรา 4
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามประมวลรัษฎากรนี้
และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมิน
และเจ้าพนักงานอื่นโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา กับออกกฎกระทรวง
(1)
ให้ใช้หรือให้ยกเลิกแสตมป์โดยกำหนดให้นำมาแลกเปลี่ยนกับแสตมป์ที่ใช้ได้ภายในเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดแต่ต้องให้เวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวัน
(2)
กำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากรนี้
กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้”
จากบทบัญญัติมาตรา 4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
(ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2513 ใช้บังคับ 25 ตุลาคม 2513 เป็นต้นไปดังกล่าว
อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
1. รัฐมนตรีผู้รักษาการตามประมวลรัษฎากร ได้แก่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในทำนองเดียวกับการรักษาการตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พ.ศ. 2481 ซึ่งตามมาตรา 4 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ฯ
ก็บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ลรักษาการเช่นเดียวกัน
2. อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามมาตรา
4
2.1
อำนาจในการออกกฎกระทรวง โดยกฎกระทรวงนั้นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อยังให้ทราบกันโดยทั่วไปจึงจะใช้บังคับได้
(มาตรา 4 วรรคสอง)
(1)
ให้ใช้หรือให้ยกเลิกแสตมป์โดยกำหนดให้นำมาแลกเปลี่ยนกับแสตมป์ที่ใช้ได้ภายในเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดแต่ต้องให้เวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวัน
ได้แก่ กฎกระทรวง ฉบับที่ 79 (พ.ศ. 2496) ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยอากรแสตมป์ ดังนี้
“ข้อ 2
แสตมป์ปิดทับตามความในมาตรา 103 ให้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า
มีภาพพระอุเทนทราธิราชดีดพิณอยู่ในรูปวงกลม ส่วนบนมีอักษรว่า “อากรแสตมป์” ส่วนล่างแสดงราคาอากรแสตมป์ มีชนิด ราคา
สี และขนาด ดั่งต่อไปนี้
(ก) ชนิดราคา 5 สตางค์สีม่วง ชนิดราคา 10
สตางค์สีแดง ชนิดราคา 25 สตางค์สีเทา ชนิดราคา 50 สตางค์ สีเหลืองอ่อน ขนาดกว้าง
1.5 เซนติเมตร ยาว 2.1 เซนติเมตร
(ข) ชนิดราคา 1 บาทสีน้ำเงินอ่อน ชนิดราคา 2
บาทสีหมากสุก ชนิดราคา 5 บาทสีเขียว ชนิดราคา 20 บาท สีส้มแก่ทับสีเหลือง
ขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร
(2) กำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามประมวลรัษฎากร
2.2
อำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมิน และเจ้าพนักงานอื่นโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินและเจ้าพนักงานอื่นตามประกาศกระทรวงการคลัง
(ฉบับที่ 54)