ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ข้อสมมุติฐานทางการบัญชี

บทความวันที่ 27 ก.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 58701 ครั้ง

ข้อสมมุติฐานทางการบัญชี


        ในการประกอบธุรกิจอาจจะแบ่งประเภทของธุรกิจได้หลายประเภทไม่ว่าจะแบ่งตามลักษณะใด ธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันก็มิได้หมายความว่าปัจจัยต่างๆ จะเหมือนกันตัวเลขทางการเงินทั้งหลายที่นำมาประกอบกันเป็นงบการเงิน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของกิจการนั้นๆ เพื่อให้การจัดทำงบการเงินของนักบัญชีสามารถปฏิบัติได้ในแนวทางเดียวกันและผู้ใช้ข้อมูลทางการบัญชีได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนตามความเหมาะสม ข้อสรุปในข้อมูลต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีข้อสมมุติฐานทางการบัญชี คือ สิ่งที่นักบัญชีทั้งหลายต้องทำความเข้าใจเพื่อที่จะนำมาใช้ปฏิบัติงานของตน มีดังนี้

        1. การใช้หน่วยเงินตราเป็นเครื่องวัด (Monetary Unit Assumption) การบัญชีใช้หน่วยเงินตราเป็นหน่วยวัดราคา เพื่อที่จะรายงานข้อมูลทางการบัญชี ข้อมูลใดที่ไม่สามารถวัดได้เป็นหน่วยเงินตราจะไม่นำมาใช้เป็นข้อมูลทางบัญชี ทั้งนี้เพราะการแสดงข้อมูลทางการบัญชีในลักษณะที่เป็นตัวเลขจะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจมากกว่าการแสดงข้อมูลในลักษณะของการบรรยาย การใช้หน่วยเงินตราเป็นเครื่องวัดหมายความว่าหน่วยเงินตรามีค่าคงที่ในเชิงข้อมูลทางการบัญชี เช่น ซื้อที่ดิน 50,000 บาท เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในปัจจุบันก็จะแสดงข้อมูลทางการบัญชีเป็นจำนวน 50,000 บาท

        2. ความเป็นหน่วยงาน (Business Entity Assumption) ข้อมูลทางบัญชีจะประมวลผลและรายงานเพื่อกิจการหนึ่งกิจการใดโดยเฉพาะแยกต่างหากจากเจ้าของกิจการกล่าวคือ ถือว่ากิจการเป็นหน่วยงานหสึ่งซึ่งสามารถจะมีสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของเจ้าของเป็นของตนเอง ทั้งนี้เพื่อให้การประเมินผลการดำเนินงานของกิจการสามารถทราบได้ว่าประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร

        3. การใช้หลักฐานอันเที่ยงธรรม (Objective Evidence Assumption) การบันทึกข้อมูลทางบัญชีและการจัดทำงบการเงินต้องกำหนดมูลค่าโดยเที่ยงธรรมเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้ที่ใช้งบการเงินนั้นๆ ว่าข้อมูลต่างๆ ในงบการเงินถูกต้องเชื่อถือได้หลักฐานอันเที่ยงธรรม ได้แก่ ผลการตรวจนับเงินสดในมือ เช็คที่จ่ายเงินแล้ว เป็นต้น

        4. หลักรอบเวลา (Periodicity Assumption) กิจการทุกแห่งมีวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอดไปแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจการนั้นๆ เช่น เจ้าของ เจ้าหนี้ นักลงทุนต้องการที่จะทราบข้อมูลทางบัญชีเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจทำให้ต้องจัดทำงบการเงินสำหรับแต่ละรอบระยะเวลาขึ้นโดยปกติรอบระยะเวลาจะเป็นหนึ่งปี เพื่อวัดผลการดำเนินงานและแสดงการเปลี่ยนฐานะการเงินสำหรับรอบเวลานั้น อีกทั้งแสดงฐานะการเงินเมื่อสิ้นรอบเวลานั้นด้วย

       5. การดำรงอยู่กิจการ (Going-concern Assumption) กิจการที่ตั้งขึ้นมาย่อมมีวัตถุประสงค์ที่จะดำรงอยู่โดยไม่มีกำหนด ข้อสมมุติฐานนี้ถือว่าทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่เช่น เครื่องจักรอุปกรณ์จะถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของกิจการในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอดไปจึงยึดถือการบันทึกสินทรัพย์ตามหลักราคาทุน เช่น การซื้อสินทรัพย์ที่เป็นเครื่องจักรอุปกรณ์ก็จะบันทึกราคาต้นทุนของเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ซื้อมาแต่ถ้าจะเลิกกิจการในเวลาอันใกล้การบันทึกราคาก็จะใช้ราคาสุทธิที่จะขายได้

       6. หลักราคาทุน (Cost Assumption) การบัญชีถือเอาราคาทุนเป็นหลักในการบันทึกบัญชีสินทรัพย์ หนี้สิน เช่น ซื้อเครื่องใช้สำนักงาน 50,000 บาท ทั้งผู้ซื้อผู้ขายจะถือราคา 50,000 บาท เป็นราคาที่จะนำไปบันทึกบัญชี แม้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปราคาตลาดของเครื่องใช้สำนักงานเปลี่ยนไปจากเดิม แต่ข้อมูลทางบัญชียังคงยึดถือราคาทุนอยู่ เพราะการใช้ราคาทุนให้ความแน่นอนในการวัดฐานะการเงินและผลการดำเนินงานมากกว่าการใช้ราคาตลาดหรือราคาอื่นทำให้ผู้ใช้งบการเงินมีความเชื่อถือในข้อมูลและไม่เกิดการเข้าใจผิด

       7. หลักการเกิดขึ้นของรายได้ (Revenue Realization Assumption) การบันทึกรายได้ของกิจการในรอบเวลาใดเวลาหนึ่งจะบันทึกต่อเมื่อรายได้นั้นได้เกิดขึ้น ถ้าเป็นการขายสินค้าจะบันทึกเมื่อมีการส่งมอบสินค้าที่ขายถ้าเป็นธุรกิจบริการจะบันทึกเมื่อได้เสนอบริการให้แก่ลูกค้าแล้ว

       8. หลักการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับรายได้ (Matching Assumption) การบันทึกบัญชีได้ยึดหลักการเกิดขึ้นของรายได้ในงวดบัญชีใดก็ให้บันทึกในงวดบัญชีนั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เนื่องจากการหารายได้นั้นเป็นค่าใช้จ่ายของงวดบัญชีที่ก่อให้เกิดรายได้ด้วย ค่าใช้จ่ายบางประเภทมีความสัมพันธ์โดยตรงกับรายได้ที่เกิดขึ้น เช่น ซื้อสินค้ามา 80 บาท ขายไปในราคา 100 บาท แต่ค่าใช้จ่ายบางประเภทจะถือเป็นค่าใช้จ่ายของรอบเวลาที่เกิดขึ้นของค่าใช้จ่ายนั้น

        9. หลักเงินค้าง (Accrual Assumption) การบันทึกข้อมูลทางบัญชีจะกระทำในการรอบระยะเวลาที่เกิดของข้อมูลนั้นขึ้น โดยไม่สนใจว่าการกระทำนั้นจะมีการรับหรือจ่ายเงินสดหรือไม่ เช่น ขายสินค้าให้ นาย ก 100,000 บาท ในวันที่ 5 พ.ค. 2555 จะบันทึกบัญชีเป็นรายได้ในเดือน พ.ค. 2555 100,000 บาท โดยไม่สนใจว่าจะได้รับเงินสดจาก นาย ก หรือยัง

        10. หลักความระมัดระวัง (Conservatism Assumption) การบันทึกข้อมูลทางบัญชีสามารถที่จะปฏิบัติได้มากกว่าหนึ่งวิธี ถ้าแต่ละวิธีให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน นักบัญชีควรเลือกวิธีที่จะแสดงผลลัพธ์ในทางต่ำมากกว่าวิธีที่แสดงทางสูง เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการแสดงสินทรัพย์และกำไรที่มากกว่าความเป็นจริง

        11. หลักความสม่ำเสมอ (Consistency Assumption) การบันทึกข้อมูลทางการบัญชีและการจัดทำรายงานทางการเงินของกิจการแห่งหนึ่งแห่งใดสามารถที่จะเลือกวิธีการบัญชีที่มีอยู่หลายๆ วิธีมาปฏิบัติได้ เช่น วิธีการตีราคาสินค้าราคาทุน หรือ ตามราคาตลาด แต่ถ้าได้เลือกวิธีการใดแล้วก็ควรจะใช้วิธีการนั้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบงบการเงินที่ต่างปีกันของกิจการเดียวกัน มิให้เกิดการเข้าใจผิด งบการเงินที่แตกต่างกันในแต่ละปีจะต้องเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพในการบริหาร อย่างไรก็ตามการเลือกใช้วิธีการบัญชีมิได้หมายความว่าเมื่อเลือกแล้วไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ ในกรณีจำเป็นกิจการอาจจะเปลี่ยนแปลงวิธีการบัญชีได้โดยเปิดเผยให้ทราบและบอกถึงผลกระทบที่มีต่องบการเงิน

        12. การเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ (Disclosure Assumption) การจัดงบการเงินยึดหลักการที่จะเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินอย่างเพียงพอ เพื่อให้บุคคลภายนอกทราบความเป็นไปของการดำเนินงานที่แท้จริงซึ่งหมายถึงการแสดงรายการคำศัพท์ที่ใช้ หมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นต้น

        13. หลักการมีนัยสำคัญ (Materiality) การบันทึกข้อมูลทางการบัญชี มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องมากมาย นักบัญชีจะเลือกเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจ เพื่อมิให้ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจผิด เหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญ หมายถึง เหตุการณ์ซึ่งหากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับทราบแล้วอาจทำให้การตัดสินใจผิดไปจากกรณีที่ได้รับทราบ

ที่มา : หนังสือเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง AC101 หลักการบัญชี 1 (Principles of Accouting)
http://www.phusing.com/…