ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ศึกษาประมวลรัษฎากร ด้วยตนเอง ตอนที่ 2 : ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร (2)

บทความวันที่ 26 ก.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 3417 ครั้ง

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร (2)

 

วันนี้ เรามาศึกษาพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 (หรือเรียกย่อๆ ว่า "พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ") กันต่อนะครับ

จากการศึกษา พ.ร.บ. ให้ใช้ฯ เราได้รู้ ได้เห็นอะไรกันบ้าง มาสรุป ไปพร้อมกันครับ

 

1. แนนอนที่สุดครับ "เจตนารมณ์แห่งการตราบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร" ถือเป็นหัวใจของการศึกษาประมวลรัษฎากรเลยที่เดียวครับ จากนี้ไป เราต้องยึดถือเจตนารมณ์แห่งการตราบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรไว้ในใจตลอดเวลา ไม่ว่าจะอ่าน จะศึกษา จะตีตวาม จะปรับใช้ ขอให้เป็นไปเพื่อ "ความเป็นธรรมแก่สังคม" เท่านั้น มุมอื่น โดยเฉพาะ "เพื่อความเห็นแก่ตัว" ต้องทิ้งลงถังขยะไปเลยครับ

 

2. รูปแบบของกฎหมายภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งในส่วนของพระราชบัญญัติ และประมวลกฎหมาย

    2.1 "รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" เป็นกฎหมายสูงสุดว่าด้วยการปกครองประเทศ กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งกั้บรัฐธรรมนูญฯ ไม่ได้ มิฉะนั้นย่อมเป็น "โมฆะ" ดังเช่น มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ที่กำหนดให้ถือเอาเงินได้ของภริยา เป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ นั้น ขัดกับเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันของบุคคลภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญฯ ผลก็ต้องยกเลิกไป และจะไมมีการการบัญญัติเลขมาตราทั้งสองนี้ซ้ำอีก เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญฯ ไปแล้ว 

    2.2 พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท (บทบัญญัติ) เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ ่ซึ่งหลักในการตรากฎหมายดังกล่าว หากต้องการให้มีกฎหมายลูก (อนุบัญญัติ) ก็จักต้องตราไว้ในกฎหมายแม่บทนี้ให้ชัดแจ้ง เช่น

         (1) พระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 3 มาตรา 39 มาตรา 42 ตรี มาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 48 (4) มาตรา 65 ทวิ (2) มาตรา 79/1 มาตรา 79/7 มาตรา 80 มาตรา 80/2 มาตรา 81 (1)(น) มาตรา 81/1 มาตรา 84 มาตรา 91/2 (6) และ (8) มาตรา 91/2 (7) มาตรา 91/4 มาตรา 91/8 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งคำนึงถึงความสำคัญของกฎหมายลูกที่จะตราขึ้นนั้นมีลำดับชั้นที่สำคัญมากจนถึงขั้นที่จะตราเป็น "พระราชกฤษฎีกา" 

         (2) กฎกระทรวง ตามมาตรา 4 ประกอบมาตรา 3 ตรี มาตรา 3 เตรส มาตรา 4 ทศ มาตรา 42 (17) มาตรา 65 ทวิ (9) มาตรา 65 ตรี (4) มาตรา 78/3 มาตรา 103 (กำหนดลักษณะอากรแสตมป์) แห่งประมวลรัษฎากร 

         (3) ประกาศกระทรวงการคลัง และระเบียบกระทรวงการคลัง ตามมาตรา 3 สัตต 3 อัฏฐ มาตรา 4 มาตรา 9 มาตรา 10 ทวิ มาตรา 16 มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

         (4) คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ตามมาตรา 13 สัตต (3) แห่งประมวลรัษฎากร 

         (5) คำสั่งกรมสรรพากร ตามมาตรา 3 จัตวา มาตรา 3 อัฏฐ มาตรา 3 เตรส มาตรา 27 ทวิ มาตรา 65 วรรคสาม มาตรา 89/2 มาตรา 91/21 (5) แห่งประมวลรัษฎากร รวมทั้ง มาตรา 38 (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534                           (6) ระเบียบกรมสรรพากร ตามมาตรา 3 สัตต มาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร

         (7) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ตามมาตรา 3 สัตต มาตรา 3 เอกาทศ มาตรา 11 มาตรา 17 มาตรา 39 มาตรา 42 (8)(ค) มาตรา แห่งประมวลรัษฎากร พระราชกฤษฎีกาฯ กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) 

    2.3 บัญญัติเป็น “มาตรา” (แปลว่า "ข้อ") ให้เห็นแตกต่างจากกฎหมายอื่นที่มิได้ทรงตราขึ้น

    2.4 ที่มาตรา 1 บัญญัติเป็น "ชื่อกฎหมาย" (เฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากร ทั้งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร) 

    2.5 แสดงเจตนารมณ์ในการตราไว้ โดยชัดแจ้ง สำหรับพระราชบัญญัติและพระราชกำหนด แสดงเจตนารมณ์ไว้ที่ส่วนต้นของกฎหมาย ส่วนพระราชกฤษฎีกา แสดงไว้ในหมายเหตุท้ายพระราชกฤษฎีกาฉบับนั้นๆ

    2.6 กำหนดให้มีผู้รักษาการเพื่อ ให้มีเจ้าภาพ

    2.7 มีผู้สนองพระบรมราชโองการ ในการตรากฎหมายที่พระองค์ท่านตราขึ้นตามคำแนะนำของฝ่ายนิติบัญญัติ (กรณีพระราชบัญญัติ) หรือฝ่ายบริหาร (กรณีพระราชกำหนด หรือพระราชกฤษฎีกา) โดยมีรัฐธรรมนูญรองรับว่า "ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้" ตามหลัก "The King Can Do No Wrong"

บทสรุป กฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่าจะขัดหรือแย้งกฎหมายลำดับศักดิ์ที่สูงกว่ามิได้ มิฉะนั้น ย่อมตกเป็นโมฆะ

 

3. วันที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 (มาตรา 2) และบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร (มาตรา 3) โดยทั่วไป กำหนดวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2542 ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยใช้ตาม "ปีปฏิทินหลวง" ซึ่งกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน ของทุกปี เป็นวันเริ่มต้นปี

    ต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติปีประดิทิน พ.ศ. 2483 กำหนดให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นปี นับแต่ปี พ.ศ. 2484 เป็นต้นไป 

    สำหรับบทบัญญัติว่าด้วย "อากรแสตมป์" ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ใช้ล่าไปอีก 2 เดือน คือ ใช้บังคับวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2482 เป็นต้นไป เนื่องจากมีการใช้บังคับตามพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ พ.ศ. 2475 อยู่ก่อนแล้ว จึงต้องให้เวลานำแสตมป์เก่ามาแลกแสตมป์ใหม่ไม่น้อยกว่า 60 วัน ตามมาตรา 4 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

 

4. ประวัติศาสตร์กฎหมายภาษีอากร ก่อนใช้บังคับประมวลรัษฎากร ซึ่งตามมาตรา 4 บัญญัติว่า "นับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้ ให้ยกเลิก

    (1) พระราชบัญญัติเงินรัชชูปการ พุทธศักราช 2468

    (2) พระราชบัญญัติลักษณะเก็บเงินค่านา ร.ศ.119

    (3) พระราชบัญญัติลักษณะการเก็บภาษีค่าที่ไร่อ้อย พุทธศักราช 2464

    (4) พระราชบัญญัติเปลี่ยนวิธีเก็บภาษียา ร.ศ.119

    (5) ประกาศพระราชทานยกเงินอากรสวนใหญ่ค้างเก่า และเดินสำรวจต้นผลไม้ใหม่ สำหรับเก็บเงินอากรสวนใหญ่ รัตนโกสินทร์ศก 130

    (6) พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พุทธศักราช 2475

    (7) พระราชบัญญัติภาษีการค้า พุทธศักราช 2475

    (8) พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัย พุทธศักราช 2476

    (9) บรรดาพิกัดอัตรา ข้อบังคับ กฎ ประกาศ และบทกฎหมายอื่น ซึ่งออกเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหรือดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

    และนับตั้งแต่วันใช้บทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรว่าด้วยอากรแสตมป์ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ พุทธศักราช 2475 กับบรรดาพิกัดอัตรา ข้อบังคับ กฎ และบทกฎหมายอื่น ซึ่งออกเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหรือดำเนินการตามพระราชบัญญัตินั้น" 

    พระราชบัญญัติเงินรัชชูปการ พุทธศักราช 2468 ตาม (1) ยกเลิกโดยเด็ดขาด เป็นผลให้ชายไทยทุกคนต้องเป็นทหาร

    พระราชบัญญัติลักษณะเก็บเงินค่านา ร.ศ.119 ตามมาตรา 4 (2) พระราชบัญญัติลักษณะการเก็บภาษีค่าที่ไร่อ้อย พุทธศักราช 2464 ตามมาตรา 4 (3) พระราชบัญญัติเปลี่ยนวิธีเก็บภาษียา ร.ศ. 119 ตามมาตรา 4 (4) และประกาศพระราชทานยกเงินอากรสวนใหญ่ค้างเก่า และเดินสำรวจต้นผลไม้ใหม่ สำหรับเก็บเงินอากรสวนใหญ่ รัตนโกสินทร์ศก 130 ตามมาตรา 4 (5) เลิกไปเป็นภาษีบำรุงท้องที่ ตามลักษณะ 3 แห่งประมวลรัษฎากร 

    พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พุทธศักราช 2475 ตามมาตรา 4 (6) พระราชบัญญัติภาษีการค้า พุทธศักราช 2475 ตามมาตรา 4 (7) พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัย พุทธศักราช 2476 ตามมาตรา 4 (8) และพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ พ.ศ. 2475 ตามมาตรา 4 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติตามหมวดต่างๆ ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ 
.            หมวด 3 ภาษีเงินได้

    หมวด 4 ภาษีการค้า (รวมพระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัย พุทธศักราช 2476 เข้าไว้ด้วยกันกับภาษีการค้า)

    หมวด 5 ภาษีป้าย (เพิ่มขึ้นใหม่) 

    หมวด 6 อากรแสตมป์ 

    หมวด 7 อากรมหรสพ (เพิ่มขึ้นใหม่) 

 

5. บทเฉพาะกาล (มาตรา 5) ในช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงจากกฎหมายหนึ่งไปยังอีกกฎหมายหนึ่ง รวมทั้งการทอดระยะเวลาการใช้บังคับออกไปอีกหนึ่งปีนับแต่วันที่ตรากฎหมายนี้ด้วย 

 

6. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อกำหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการใช้บังคับ ซึ่งได้แก่ กระทรวงการคลัง (มาตรา 6) ทั้งนี้ ให้ดูมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งประมวลรัษำกร ประกอบ

 

7. วันที่ใช้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นวันสิ้นสุดยุคกฎหมายภาษีอากรสมัยดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง

 

การบ้าน "ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร"

1. จากการศึกษา "พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481" ทำให้ได้ทราบเกี่ยวกับเรื่องใดบ้าง 

2. ทำไม่ต้องทอดระยะเวลการใช้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรออกไปอีก 1 ปี 

3. ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยคกฎหมายภาษีอากรสมัยใหม่เมื่อใด

4. มีหลักการเกี่ยวกับกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่างกันอย่างไร 

5. การบัญญัติบบทบัญญัติว่าด้วย "บทเฉพาะกาล" มีขึ้นเพือ่การใด 

6. หน่วยงานใดที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการจัดเก็บภาษีอากรตามปรมวลรัษฎากร