ศึกษาประมวลรัษฎากร ด้วยตนเอง ตอนที่ 1 : ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร (1)
บทความวันที่ 26 ก.ค. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 8528 ครั้ง
บทความวันที่ 26 ก.ค. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 8528 ครั้ง
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร (1)
มีเสียงตอบรับว่า "สนใจที่จะเรียน -
ศึกษาประมวลรัษฎากร" ผ่านทาง facebook fanpage นี้
เรามาเริ่มกันเลยครับ
1. ท่านต้องมีประมวลรัษฎากร
ฉบับกระดาษ เพราะอาจต้องโน้ตหรือบันทึกข้อความลงไปในประมวลรัษฎากร
ซึ่งจะเป็นเครื่องข่วยจำ และสร้างความเข้าใจในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป
2. ท่านต้องมีใจพร้อมที่จะเรียน
- ศึกษาประมวลรัษฎากร โดยไม่ท้อถอย ตราบเท่าที่ผมยังถ่ายทอดให้ท่านอยู่
เริ่มต้นครับ
1. วิเคราะห์ คำว่า
"ประมวลรัษฎากร" กันก่อนครับ
"ประมวลรัษฎากร" เป็น
"คำสมาส" ของคำสองคำ คือ "ประมวล" และ "รัษฎากร"
คำว่า "ประมวล"
หมายถึง ประมวลกฎหมาย (Code)
ได้แก่
ชุดกฎหมายที่รวบรวมกฎหมายลักษณะเดียวกันหลายฉบับเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการศึกษากฎหมายที่เป็นหมวดหมู่
และนำไปบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำว่า "รัษฎากร"
เป็น "คำสนธิ" ระหว่าง คำว่า "ราษฎร" กับคำว่า
"อากร" ในคำว่า "ราษฎร" นั้น "สระอา"
เปลี่ยนรูปเป็น "สระอะ" เมื่อมีตัวสะกดจึงลดรูปเป็นไม่หันอากาศ ตัด
"ร" และ "อ" ในคำว่า "อากร" ออก
เชื่อมต่อกันเป็นคำใหม่ว่า "รัษฎากร" หมายความว่า
ภาษีอากรบรรดาที่จัดเก็บจากราษฎกร หรือประชาชน
ดังนั้น คำว่า "ประมวลรัษฎากร"
จึงหมายความว่า "ประมวลกฎหมายภาษีอากรทั้งหลาย บรรดาที่ว่าด้วย
การจัดเก็บภาษีอากรจากราษฎรหรือประขาชน”
ข้อสังเกต
ประการที่ 1 ดังจะเห็นได้ว่ากฎหมาย
"ประมวลรัษฎากร" เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกระดับชั้นของสังคม
และเกี่ยวข้องตั้งแต่ "เกิด" จน "ตาย"
แม่กระทั่งผู้ถึงแก่ความตาย ก็ยังคงมีหน้ที่ต้องเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
ประการที่ 2 มีการบัญญัติคำว่า "การรัษฎากร" ขึ้นใช้เพื่อการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ดังนั้น คำว่า "การรัษฎากร" จึงหมายความว่า การเสียภาษอากรทั้งหลายของราษฎรหรือประชาชนต่อกรมสรรพากร ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงิ่อนไข และอัตราที่ "ประมวลรัษฎากร" กำหนด
ประการที่ 3 การบัญญัติประมวลรัษฎากรขึ้นเพื่อรวมรวมการรัษฎากรทั้งหลายอันเป็นกฎหมายเดี่ยวในระดับพระราชบัญญัติ ให้รวมเข้ามาอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน จึงเป็น "ประมวลรัษฎากร" ที่เป็นชุดกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรที่จัดเก็บจากราษฎร
ประการที่ 4 การบัญญัติประมวลรัษฎากรขึ้น เป็นการสะท้อนว่า ประเทศไทยย่างเข้าสู่ "สังคมภาษีอากรสมัยใหม่" อย่างแท้จริง นับแต่วันที่ใช้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร คือ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 เป็นต้นมา เพราะมีการยกเลิกภาษีอากรดั้งเดิมออกไปทั้งหมด ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ที่นับได้ว่าเป็น "ประวัติศาสตร์กฎหมายภาษีอากร" ก่อนยุคประมวลรัษฎากร
2. ประมวลรัษฎากร เป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ
ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พ.ศ. 2481 ได้บัญญัติว่า
"มาตรา 3 ให้ใช้ประมวลรัษฎากรตามที่ตราไว้ต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่
1 เมษายน พุทธศักราช 2482 เป็นต่อไป
เว้นแต่บทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 6 ว่าด้วยอากรแสตมป์นั้น
ให้ใช้เป็น กฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พุทธศักราช 2482
เป็นต้นไป"
"ประมวลรัษฎากร"
จึงมีสำดับศักดิ์เป็น "พระราชบัญญัติ" ตามกฎหมายที่กำหนดให้
"ประมวลรัษฎากร" เป็นกฎหมายไปด้วย ดังนั้น
การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร จึงต้องแก้ไขด้วย "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
(ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...." หรือ "พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร
(ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....” หรือกฎหมายอื่นใดทีมีผลเทียบเท่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)
3. เจตนารมณ์ในการตรา
"ประมวลรัษฎากร"
เจตนารมณ์ในการบัญญัติบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
ปรากฏตามย่อหน้าแรกของพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ดังนี้
“สมควรตราประมวลรัษฎากรเพื่อปรับปรุงการรัษฎากรตามหลักความเป็นธรรมแก่สังคม”
หลายท่านไม่เคยเปิดอ่าน
"พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481" จึงย่อมพลาดการได้เห็น
"เจตนารมณ์ในการตราบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร" ไปอย่างน่าเสียดาย
แต่ก็ไม่สายเกินไป กรุณาเปิดกฎหมายที่อยู่ก่อนหน้า "ประมวลรัษฎากร"
4. พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พ.ศ. 2481
ในการศึกษาประมวลรัษฎากรนั้น
หากมิได้ศึกษา "พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481" ก็เท่ากับอาคารที่ไม่มีเสาเข็ม
4.1 นอกจาก
"เจตนารมณ์แห่งการตราบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร" แล้ว
เรายังได้พบเห็นประเด็นกฎหมายดังต่อไปนี้
(1) รูปแบบของกฎหมายภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ทั้งในส่วนของระราชบัญญัติและประมวลกฎหมาย
พระราชบัญญัติ
ให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พุทธศักราช 2481
------------------
ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480)
อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ.เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2481
เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน
โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า
สมควรตราประมวลรัษฎากรเพื่อปรับปรุงการรัษฎากรตามหลักความเป็นธรรมแก่สังคม
จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้
โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า
"พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พุทธศักราช 2481"
มาตรา 2 ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันที่
1 เมษายน พุทธศักราช 2482 เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ใช้ประมวลรัษฎากรตามที่ตราไว้ต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่
1 เมษายน พุทธศักราช 2482 เป็นต่อไป
เว้นแต่บทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 6 ว่าด้วยอากรแสตมป์นั้น
ให้ใช้เป็น กฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พุทธศักราช 2482
เป็นต้นไป
มาตรา
4 นับแต่วันใช้พระราชบัญญัตินี้
ให้ยกเลิก
(1) พระราชบัญญัติเงินรัชชูปการ
พุทธศักราช 2468
(2) พระราชบัญญัติลักษณะเก็บเงินค่านา
ร.ศ. 119
(3) พระราชบัญญัติลักษณะการเก็บภาษีค่าที่ไร่อ้อย
พุทธศักราช 2464
(4) พระราชบัญญัติเปลี่ยนวิธีเก็บภาษียา
ร.ศ. 119
(5) ประกาศพระราชทานยกเงินอากรสวนใหญ่ค้างเก่า
และเดินสำรวจต้นผลไม้ใหม่ สำหรับเก็บเงินอากรสวนใหญ่ รัตนโกสินทร์ศก 130
(6) พระราชบัญญัติภาษีเงินได้
พุทธศักราช 2475
(7) พระราชบัญญัติภาษีการค้า
พุทธศักราช 2475
(8) พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัย
พุทธศักราช 2476
(9) บรรดาพิกัดอัตรา
ข้อบังคับ กฎ ประกาศ และบทกฎหมายอื่น
ซึ่งออกเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหรือดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
และนับตั้งแต่วันใช้บทบัญญัติในลักษณะ
2 หมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรว่าด้วยอากรแสตมป์
ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ พุทธศักราช 2475 กับบรรดาพิกัดอัตรา
ข้อบังคับ กฎ และบทกฎหมายอื่น
ซึ่งออกเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหรือดำเนินการตามพระราชบัญญัตินั้น
มาตรา
5 บรรดาพระราชบัญญัติ
ประกาศ พิกัดอัตรา ข้อบังคับ กฎ และบทกฎหมาย ที่ให้ยกเลิกตามความในมาตรา 4 วรรคแรกนั้น ยังคงให้ใช้บังคับได้ในการเก็บภาษีอากรจำนวนพุทธศักราชต่าง ๆ
ก่อนใช้ประมวลรัษฎากร
ส่วนพระราชบัญญัติ
พิกัดอัตรา ข้อบังคับ กฎ และบทกฎหมาย ที่ให้ยกเลิกตามความในมาตรา 4 วรรคสุดท้าย ก็ยังคงให้ใช้บังคับได้ในการเก็บอากร
ที่จะพึงเรียกเก็บได้ก่อนใช้บทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 6
แห่งประมวลรัษฎากร ว่าด้วยอากรแสตมป์
มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราช
บัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
(2) วันที่ใช้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
(มาตรา 3)
(3) ประวัติศาสตร์กฎหมายภาษีอากร
ก่อนใช้บังคับประมวลรัษฎากร (มาตรา 4)
(4) บทเฉพาะกาล (มาตรา 5)
(5) หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลการใช้บังคับคือ
กระทรวงการคลัง
5.
พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
มีลักษณะและบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องใด
ตอบ พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
มีลักษณะและบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้
(1) บัญญัติขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
รัชกาลที่ 8 โดยตราขึ้นเมื่อ 31 มีนาคม
พ.ศ. 2481
(2) โดยปกติต้องมีพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แต่เนื่องจากยังทรงพระเยาว์จึงต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ตามประกาศสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2480
ซึ่งในที่ประกอบด้วย พลโท พระเจ้าวรวงค์เธอ
พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา และพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
(3) เจตนารมณ์ในการตรา “เพื่อปรับปรุงการรัษฎากรตามหลักความเป็นธรรมแก่สังคม”
(4) ใช้บังคับเมื่อ 1 เมษายน 2482 โดยทอดเวลาในการเตรียมการใช้บังคับ 1
ปี (มาตรา 2)
(5) ตามมาตรา 3
บัญญัติให้ใช้ประมวลรัษฎากรที่ตราไว้ต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมาย
เป็นผลให้ประมวลรัษฎากรมีลำดับศักดิ์ของกฎหมายเป็นพระราช บัญญัติโดยปริยาย
และกำหนดวันใช้บังคับประมวลรัษฎากร
(6) มาตรา 4 บัญญัติยกเลิกกฎหมายเก่าเพื่อนำมาบัญญัติขึ้นใหม่เป็นการรัษฎากรตามประมวลรัษฎากร
ซึ่งทำให้สามารถศึกษาประวัติศาสตร์การจัดเก็บภาษีอากรของไทยก่อน 1
เมษายน 2482 ได้โดยผ่านกฎหมายที่ยกเลิกโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
(7) มาตรา 5 บทเฉพาะกาล หรือมาตรการในช่วงเปลี่ยนแปลง (Transitional
Period)
(8) มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราช บัญญัตินี้
(เพื่อให้มีเจ้าภาพ)
การบ้าน "ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประมวลรัษฎากร"
1. ประมวลรัษฎากร
หมายความว่าอย่างไร
2. ประมวลรัษฎากร
บัญญัติขึ้นเมื่อใด
3. ประมวลรัษฎากรมีผลใช้บังคับเมื่อใด
4. มีเจตนารมณ์ในการบัญญัติประมวลรัษฎากร
อย่างไร
5. ทำไมต้องบัญญัติกฎหมายในรูปประมวลรัษฎากร
6. รูปแบบของประมวลกฎหมายเป็นอย่างไร
7. พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
มีลักษณะและบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องใด