



หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการหักรายจ่าย 1.5 เท่าสำหรับรายจ่ายในการลงทุนในทรัพย์สิน ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560
บทความวันที่ 11 ก.ค. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 15025 ครั้ง
บทความวันที่ 11 ก.ค. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 15025 ครั้ง
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการหักรายจ่าย 1.5 เท่า
สำหรับรายจ่ายในการลงทุนในทรัพย์สิน
ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560
รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศของผู้ประกอบการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น
อันจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวตามเป้าหมาย
รวมทั้งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
โดยให้นำรายจ่ายลงทุนในทรัพย์สินบางประเภทที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายไปในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่
1 มกราคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 มาถือเป็นรายจ่ายได้ 150%
ของมูลค่าทรัพย์สินที่ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
(ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2559 จึงขอนำมากล่าวเพื่อประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.
การลงทุนในทรัพย์สินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้
150% ของมูลค่าทรัพย์สิน ต้องเป็นการลงทุน โดยการซื้อ เช่าซื้อ สร้าง ก่อสร้าง
เป็นต้น หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน
แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร
สำหรับทรัพย์สินดังต่อไปนี้ (มาตรา 3)
(1) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์
เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์
“เครื่องจักร” หมายความว่า
สิ่งที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้นสำหรับใช้ก่อกำเนิด พลังงานเปลี่ยน
หรือแปลงสภาพพลังงาน หรือส่งพลังงาน ทั้งนี้ ด้วยกำลังน้ำ ไอน้ำ เชื้อเพลิง ลม
ก๊าซไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันและหมายความรวมถึงเครื่องอุปกรณ์
ไฟลวีล ปุลเล สายพาน เพลา เกียร์ หรือสิ่งอื่นที่ทำงานสนองกัน
แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ
(2) โปรแกรมคอมพิวเตอร์
(3) ยานพาหนะที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ
แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า
(4) อาคารถาวร
แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย ทั้งนี้
ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนฯ
ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2.
ทรัพสินตามข้อ 1 (1) (2) และ (3)
ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม
เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากสัญญาใบสั่งซื้อ
ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น
แล้วแต่กรณีที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม
พ.ศ. 2560 หรือ
(2)
ต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559
แต่การจ่ายเงินเพื่อการลงทุนยังไม่ได้จ่ายให้ครบถ้วนตามจำนวนที่ตกลงกันไว้
3.
ทรัพย์สินตามข้อ 1 (4)
ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ต้องเกิดจากการลงทุน
หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน ดังนี้
(ก) ต้องขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ.2522 โดยยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม
พ.ศ.2560 ถึงวันที่ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2560
กรณีขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร
พ.ศ.2522
โดนยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนวันที่
1 มกราคม พ.ศ.2560
ไม่ว่าจะมีการขอต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารนั้นหรือไม่ก็ตามต้องมีการทำสัญญาจ้าง
ใบสั่งจ้างหรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม
พ.ศ.2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2560 โดยต้องไม่มีการลงทุน หรือต่อเติม
เปลี่ยนแปลง ขยายออก
หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินตามใบอนุญาตดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนวันที่
1 มกราคม พ.ศ.2560 หรือ
(ข) ต้องแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา 39
ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2560 ถึงวันที่ 31
ธันวาคม พ.ศ.2560
กรณีแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา
39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2560 ต้องมีการทำสัญญาจ้าง
ใบสั่งจ้างหรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม
พ.ศ.2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2560 โดยต้องไม่มีการลงทุน หรือต่อเติม
เปลี่ยนแปลง ขยายออก
หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินตามการแจ้งดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนวันที่
1 มกราคม พ.ศ.2560 หรือ
(ค)
กรณีไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกฎกระทรวง
ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
จะต้องเกิดจากสัญญาจ้าง
ใบสั่งจ้างหรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้นที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1
มกราคม พ.ศ.2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2560 หรือ
(2)
ต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ.2559
แต่การจ่ายเงินเพื่อการลงทุนยังไม่ได้จ่ายให้ครบถ้วนตามจำนวนที่ตกลงกันไว้
การลงทุนในทรัพย์สินตามข้อ
1 (4) ไม่รวมถึงการลงทุนในทรัพย์สินโดยการซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินนั้นมา
4. ทรัพย์สินจะนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ 1.5 เท่า
ต้องมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้ (มาตรา 4)
(1)
ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน
(2)
เป็นทรัพย์สินที่นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ตามมาตรา 65 ทวิ
(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยทรัพย์สินนั้นต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่
31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เว้นแต่ทรัพย์สินเฉพาะเครื่องจักร และอาคารถาวร
ที่อาจได้มาหรืออยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.
2560 ก็ได้
(3) ต้องอยู่ในราชอาณาจักร
เว้นแต่ยานพาหนะจดทะเบียนในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ
แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า
(4)
ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
เว้นแต่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559
(5)
ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมาย
ว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
เว้นแต่เป็นการนำไปใช้ในโครงการตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
ที่ยังไม่มีการลงทุนจริงและเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิประโยชน์นั้น
5.
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้
จะต้องดำเนินการดังนี้ (มาตรา 5)
(1)
จัดทำโครงการลงทุนและแผนการจ่ายเงิน และแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร ทั้งนี้
ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่อธิบดีประกาศกำหนด
(2)
กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดลงทุน หรือต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก
หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา
65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร
และได้รับสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
(ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 แล้ว แต่การจ่ายเงินเพื่อการลงทุนดังกล่าว
ยังไม่ได้จ่ายให้ครบถ้วนตามจำนวนที่ตกลงกันไว้
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น
จะต้องแจ้งแผนการจ่ายเงินที่จะจ่ายระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31
ธันวาคม พ.ศ. 2560 ต่ออธิบดีกรมสรรพากร โดยไม่จำต้องแจ้งโครงการลงทุนตาม (1) ก็ได้
6. การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ตามมาตรา 3
สำหรับทรัพย์สินแต่ละประเภทให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข
และระยะเวลาตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 304) เรื่อง
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม
เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน
แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร
ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ดังต่อไปนี้ (มาตรา 6)
ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุนในทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ของข้อ
2 และข้อ 3
ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม
เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน
แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร
เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม
พ.ศ.2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2560
โดยให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประเภทของทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
เงื่อนไขและระยะเวลาดังนี้
(1)
ทรัพย์สินตามข้อ 1 (1) ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
(2)
ทรัพย์สินตามข้อ 1 (2)
ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับระยะเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
(3)
ทรัพย์สินตามข้อ 1 (3)
ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
(4)
ทรัพย์สินตามข้อ 1 (4)
ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับระยะเวลายี่สิบรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
7. ภายใต้บังคับของข้อ 8
ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อ
6 เริ่มใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้
(1)
กรณีการลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ 2 (1) ให้เริ่มใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมาตรา
65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
(2)
กรณีการลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ 2 (2)
ให้เริ่มใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้
(ก) กรณีการลงทุนในทรัพย์สินที่ไม่ใช่เครื่องจักร
ให้เริ่มใช้สิทธิยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายเงินเพื่อการลงทุนตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในระหว่างวันที่
1 มกราคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560
โดยการจ่ายเงินนั้นจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้เริ่มต้นใช้สิทธิยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีนั้น
(ข) กรณีการลงทุนในทรัพย์สินที่เป็นเครื่องจักร
ให้เริ่มใช้สิทธิยกเว้นดังนี้
1)
กรณีเครื่องจักรนั้นได้เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2)
แห่งประมวลรัษฎากร มาแล้วก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2560
ให้เริ่มใช้สิทธิยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายเงินเพื่อการลงทุนตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในระหว่างวันที่
1 มกราคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560
โดยการจ่ายเงินนั้นจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้เริ่มต้นใช้สิทธิยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีนั้น
2)
กรณีเครื่องจักรนั้นยังไม่ได้เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ
(2) แห่งประมวลรัษฎากร ก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560
ให้เริ่มใช้สิทธิยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมาตรา
65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
(3)
กรณีการลงทุนในทรัพย์สินที่เป็นอาคารเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ 3 (1)
ให้เริ่มใช้สิทธิยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมาตรา
65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
(4)
กรณีการลงทุนในทรัพย์สินที่เป็นอาคารเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ 3 (2)
ให้เริ่มใช้สิทธิยกเว้นดังนี้
(ก)
กรณีอาคารนั้นได้เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2)
แห่งประมวลรัษฎากร มาแล้วก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2560 ให้เริ่มใช้สิทธิยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายเงินเพื่อการลงทุนตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงในระหว่างวันที่
1 มกราคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560
โดยการจ่ายเงินนั้นจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด
ให้เริ่มต้นใช้สิทธิยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีนั้น
(ข) กรณีอาคารนั้นยังไม่ได้เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา
65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560
ให้เริ่มใช้สิทธิยกเว้นตั้งแต่รอบระยะบัญชีที่เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมาตรา
65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร
8.
ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อ
6 ที่นำทรัพย์สินตามข้อ 1
ไปใช้ในโครงการที่มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตราการเร่งรัดการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนจริงและเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิประโยชน์นั้น
ให้เริ่มใช้สิทธิยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีถัดจากรอบระยะเวลาบัญชีที่สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนสิ้นสุดลง
9. ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อ
5 ข้อ 6 ข้อ 7 และข้อ 8 ดำเนินการดังนี้
(1)
กรณีเป็นการลงทุนในทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ข้อ 4 (1) และข้อ 5 (1)
ให้จัดทำโครงการลงทุนและแผนการลงทุนตามแบบแจ้งโครงการลงทุนและแผนการจ่ายเงินตามที่แนบท้ายประกาศนี้ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์
(Web Site) ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th
ภายในวันที่ 31ธันวาคม พ.ศ. 2560
(2)
กรณีเป็นการลงทุนในทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ข้อ 4 (2) และข้อ 5 (2)
ให้แจ้งแผนการจ่ายเงินตามแบบแจ้งโครงการลงทุนและแผนการจ่ายเงินตามที่แนบท้ายประกาศนี้
ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์(Web Site) ของกรมสรรพากร
http://www.rd.go.th ภายในวันที่ 31ธันวาคม พ.ศ. 2560
(3)
จัดทำรายงานแสดงรายละเอียดของทรัพย์สินที่ใช้สิทธิยกเว้นนั้น
โดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ และเก็บรักษารายงานดังกล่าว
รวมทั้งเอกสารประกอบการลงรายการในรายงานไว้ ณ สถานประกอบการ
พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้
ทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งจะต้องมีอยู่ในทะเบียนทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือเอกสารอื่นใดในทำนองเดียวกันที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดทำขึ้น
10.
กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้
และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 1 ถึงข้อ 9 ในรอบระยะเวลาบัญชีใด
ให้สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลงและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น
เว้นแต่กรณีที่มีการขายทรัพย์สินหรือทรัพย์สินถูกทำลายหรือสูญหายหรือสิ้นสภาพ
ให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ขายทรัพย์สินหรือทรัพย์สินนั้นถูกทำลายหรือสูญหายหรือสิ้นสภาพ
แล้วแต่กรณี
โดยไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ที่ได้รับแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิอีก
(มาตรา 7)



