ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ภาษีโรงพยาบาลสัตว์

บทความวันที่ 8 ก.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 19738 ครั้ง

ภาษีโรงพยาบาลสัตว์

  


          เงินได้จากกิจการโรงพยาบาลสัตว์ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร การเปิดโรงพยาบาลสัตว์มีภาระตามประเภทภาษีอากรดังต่อไปนี้

1. ภาษีเงินได้

1.1 กรณีประกอบกิจการในรูปบุคคลธรรมดาเจ้าของคนเดียว ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร (ค่าใช้จ่ายจริง) โดยให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม

      ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและชำระภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง ดังนี้

      (1) เงินได้จากโรงพยาบาลสัตว์ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.94) พร้อมกับชำระภาษีภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องมีเงินได้ขั้นต่ำดังต่อไปนี้ จึงจะมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ

           (ก) กรณีไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน เกินกว่า 60,000 บาท

           (ข) กรณีมีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน เกินกว่า 120,000 บาท

      (2) เงินได้จากโรงพยาบาลสัตว์ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) พร้อมกับชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยให้นำภาษีที่ชำระไว้แล้วตาม (1) มาเป็นเครดิตหักออกจากภาษีที่ต้องชำระได้ โดยต้องมีเงินได้ขั้นต่ำดังต่อไปนี้ จึงจะมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ

           (ก) กรณีไม่มีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินได้รับในปีภาษีที่ล่างมาแล้วเกิน 60,000 บาท

           (ข) กรณีมีสามีหรือภริยาและมีเงินได้พึงประเมินได้รับในปีภาษีทีล่วงมาแล้วเกิน 120,000 บาท

      ทั้งนี้ ในกรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้มีคู่สมรส ไม่ว่าความเป็นสามีภริบาจะได้มีอยู่ตลอดปีภาษีในปีที่มีเงินได้หรือไม่ก็ตาม สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยา ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง โดยผู้มีเงินได้จะถือเอาเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของคู่สมรส และให้คู่สมรสมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี ตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร

1.2 กรณีประกอบกิจการโรงพยาบาลสัตว์ในรูปของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วเกินจำนวนตาม (1) ให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในชื่อของห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นที่ได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วภายในกำหนดเวลาและตามแบบเช่นเดียวกับวรรคก่อน การเสียภาษีในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้อำนวยการหรือผู้จัดการรับผิดเสียภาษีในชื่อของห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นจากยอดเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้น เสมือนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียวโดยไม่มีการแบ่งแยก ทั้งนี้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละตนไม่จำต้องยื่นรายการเงินได้ สำหรับจำนวนเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเพื่อเสียภาษีอีก แต่ถ้าห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลนั้นมีภาษีค้างชำระ ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลทุกคนร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชำระนั้นด้วย

      กรณีประกอบกิจการในรูปของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้คำนวณและเสียภาษีเงินได้เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาตามข้อ 1.1 ข้างต้น และเมื่อมีการแบ่งเงินส่วนแบ่งของกำไร ก็ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนนำเงินได้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกครั้งหนึ่งด้วย และให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล จัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงยอดเงินคงเหลือยกมา จำนวนรวมของยอดรายได้และยอดรายจ่ายที่ได้มีการรับมาหรือจ่ายไปในระหว่างปีภาษี และยอดเงินคงเหลือยกไป โดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 249) เรื่อง กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลจัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่าย ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557 และให้ยื่นบัญชีดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ของทุกปีภาษี

1.3 กรณีประกอบกิจการโรงพยาบาลสัตว์ในรูปของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

      บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการโรงพยาบาลสัตว์มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิจะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีดังนี้

      (1) การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี จะต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมชำระภาษี(ถ้ามี) ตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของทุก 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี เว้นแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรก และรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายทีมีกำหนดเวลาน้อยกว่า  12 เดือนตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

      (2) การเสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีจะต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมชำระภาษี (ถ้ามี) ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี พร้อมทั้งแนบบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนที่ต้องจัดทำตามมาตรา 68 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ไปพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.50 นั้นด้วย ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร

1.4 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

      (1) กรณีผู้จ่ายเงินได้ค่ารักษาสัตว์เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% ของเงินได้ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 

      (2) กรณีผู้จ่ายเงินได้ค่ารักษาสัตว์เป็นรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ้น ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% ของเงินได้ตามมาตรา 50 (4) หรือมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี

 

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

การให้บริการรักษาสัตว์ของโรงพยาบาลสัตว์ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำรายได้ที่ได้รับมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้

2.1 กรณีมีรายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 จึงไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

      หากผู้ประกอบการโรงพยาบาลสัตว์ประสงค์จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็ให้กระทำได้โดยให้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตามมาตรา 81/3 (2) และมาตรา 85/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร

2.2 กรณีมีรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ตัวแทนหรือนายหน้าหรือหัวหน้าตัวแทนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ตามมาตรา 85/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร