เกณฑ์รับรู้รายได้ดอกเบี้ยเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ และการรับรู้ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
บทความวันที่ 25 มิ.ย. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 14099 ครั้ง
บทความวันที่ 25 มิ.ย. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 14099 ครั้ง
เกณฑ์รับรู้รายได้ดอกเบี้ยเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ และการรับรู้ภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
1.
เกณฑ์รับรู้รายได้ดอกเบี้ยในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
1.1
สำหรับธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการธนาคาร
ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กิจการธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์
และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน
ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และกิจการธุรกิจหลักทรัพย์
ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยทั่วไปให้ใช้ “เกณฑ์สิทธิ” ในการรับรู้รายได้รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
เว้นแต่รายได้ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลาหลังจากที่ได้ผิดนัดชำระติดต่อกันเป็นเวลาเกินสามเดือนแล้ว
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะนำดอกเบี้ยส่วนนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระก็ได้
(ข้อ 3.1 วรรคแรก ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528)
1.2 การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการประกันชีวิต
กิจการธุรกิจบัตรเครดิต หรือกิจการอื่นทำนองเดียวกัน โดยทั่วไปให้ใช้ “เกณฑ์สิทธิ”
ในการรับรู้รายได้รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
เว้นแต่รายได้ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลาหลังจากที่ได้ผิดนัดชำระติดต่อกันเป็นเวลาเกินหกเดือน
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะนำดอกเบี้ยส่วนนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระก็ได้
เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (ข้อ 3.1 วรรคสอง ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.
1/2528)
(1) คาดหมายได้แน่นอนว่าจะไม่สามารถได้รับชำระหนี้
และ
(2)
มีกรณีแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า ลูกหนี้ไม่มีเงินหรือทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระ เช่น
(ก)
มีหลักประกันไม่คุ้มกับหนี้ที่ต้องชำระ
(ข)
ลูกหนี้ดำเนินธุรกิจขาดทุนติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี หรือเลิกกิจการแล้ว
หรืออยู่ระหว่างการชำระบัญชี
(ค)
ได้ดำเนินคดีแพ่งหรือได้ยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้แล้ว
(ง) ได้ดำเนินคดีล้มละลาย
หรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว
1.3 สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น
ที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
ตามข้อ 1.1 และบริษัทประกันชีวิต กิจการธุรกิจบัตรเครดิต
หรือกิจการอื่นทำนองเดียวกัน ตามข้อ 1.2 ให้ใช้เกณฑ์สิทธิในการรับรู้รายได้รายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
และไม่อาจหยุดรับรู้รายได้ดอกเบี้ยค้างรับ (Stop Accrued)
ดังเช่นกรณีตามข้อ 1.1 แฃะ 1.2 (ข้อ 2
ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528)
2. เกณฑ์รับรู้รายรับดอกเบี้ยในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ
2.1 ตามมาตรา 91/8
วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นการทั่วไปดังนี้
“การคำนวณรายรับ ให้เป็นไปตามวิธีการ
หลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชี และเพื่อประโยชน์ในการคำนวณรายรับ
เมื่อได้เลือกปฏิบัติเป็นอย่างใดแล้วให้ถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันตลอดไป
เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนแปลงได้”
2.2 อย่างไรก็ตามกรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 75/2541 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2541 วางแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะของกิจการธนาคาร กิจการธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/5 แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
(1) ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะของกิจการธนาคาร
กิจการธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
กิจการธุรกิจหลักทรัพย์ และกิจการประกันภัยเฉพาะกรณีการรับประกันชีวิต
การคำนวณรายรับส่วนที่เป็นดอกเบี้ย
หากได้ใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามข้อ 3.1
ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.1/2528 เรื่อง
การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.
155/2549 เรื่อง
การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2546 ให้ถือว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะรายนั้น ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชีตามมาตรา
91/8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว
(2) ให้นำความใน (1)
มาใช้บังคับกับผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะที่ได้ใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
สำหรับรายรับส่วนที่เป็นดอกเบี้ย ตามข้อ 3.1 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528
เรื่อง
การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ด้วย
3. การรับรู้ภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับดอกเบี้ยเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
การคำนวณรายได้รายจ่ายเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น
บริษัทฯ จะต้องใช้เกณฑ์สิทธิ์ เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงได้
ตามมาตรา 65 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
และค่าภาษีธุรกิจเฉพาะที่บริษัทฯ พึงต้องจ่ายย่อมถือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้าม
ตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
3.1 ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะที่ถึงกำหนดชำระ
และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้จ่ายไปแล้ว บริษัทฯ ย่อมมีสิทธิถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นได้
3.2 ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาต้องชำระ
และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ยังไม่ได้จ่าย จะนำมาถือเป็นรายจ่ายยังไม่ได้
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่พึงต้องชำระภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น
(อ้างอิงหนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากรเลขที่ กค
0811/05531 วันที่ 11 มิถุนายน 2542)
เลขที่หนังสือ : กค 0811/05531
วันที่ : 11 มิถุนายน 2542
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณรายจ่ายเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65, มาตรา 65 ตรี
ข้อหารือ :
....บริษัทฯ ประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์และมีรายได้เป็นดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงิน โดยการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะรับรู้รายได้ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีแม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระเป็นรายได้ของรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามเกณฑ์สิทธิ์ สำหรับการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์จากการให้กู้ยืมเงิน บริษัทฯ จะรับรู้รายรับตามเกณฑ์เงินสด บริษัทฯ ขอทราบว่า
….1. รายได้ดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงินที่บริษัทฯ บันทึกเป็นรายได้ตามเกณฑ์สิทธิ์ และนำส่ง
ภาษีธุรกิจเฉพาะตามส่วนที่ได้รับจริง (เกณฑ์เงินสด) ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าวจะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น ได้หรือไม่
2. รายได้ดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงินที่บริษัทฯ บันทึกเป็นรายได้ตามเกณฑ์สิทธิ์ แต่ยังมิได้
นำส่งภาษีธุรกิจเฉพาะเนื่องจากยังไม่ได้รับชำระ ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะที่ยังมิได้จ่ายดังกล่าว จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีใด
แนววินิจฉัย :
....การคำนวณรายได้รายจ่ายเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น บริษัทฯ จะต้องใช้เกณฑ์สิทธิ เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรจะอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงได้ ตามมาตรา 65 วรรคสอง และวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร และค่าภาษีธุรกิจเฉพาะที่บริษัทฯ พึงต้องจ่ายย่อมถือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น
….1. กรณีตาม 1 ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะที่ถึงกำหนดชำระ และบริษัทฯ ได้จ่ายไปแล้ว บริษัทฯ ย่อมมีสิทธิถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นได้
….2. กรณีตาม 2 ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาต้องชำระ และ บริษัทฯ ยังไม่ได้จ่ายตามข้อเท็จจริง จะนำมาถือเป็นรายจ่ายยังไม่ได้ บริษัทฯ จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่พึงต้องชำระภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น
เลขตู้ : 62/27911