ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

รายจ่ายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬา

บทความวันที่ 3 มิ.ย. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 14101 ครั้ง

รายจ่ายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬา

 

แนวคิด

โดยที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬา โดยยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้สนับสนุนการกีฬาที่ได้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด สมาคมกีฬาที่ใช้คําว่า แห่งประเทศไทยหรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย และกรมพลศึกษา เพื่อนำไปใช้ในการจัดหาอุปกรณ์กีฬาการฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน การจัดสร้างและพัฒนาสนามกีฬาหรือศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ การส่งเสริมสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาหรือการพัฒนานักกีฬาและบุคลากรด้านกีฬา เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านการกีฬามากขึ้น ด้วยการตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 596) พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ โดยให้ต่อเนื่องกับพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 559) พ.ศ. 2556 ซึ่งมีผลใช้บังคับระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 

 

การยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 596) พ.ศ. 2559

ให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการบริจาคให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด สมาคมกีฬาที่ใช้คําว่า แห่งประเทศไทยหรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย และกรมพลศึกษา เพื่อนำไปใช้ในการจัดหาอุปกรณ์กีฬา การฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน การจัดสร้างและพัฒนาสนามกีฬาหรือศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬา หรือการพัฒนานักกีฬาและบุคลากรด้านกีฬา ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ดังต่อไปนี้

1. สำหรับบุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1)(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับการจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น

2. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ยกเว้นสำหรับเงินได้เป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

 

หลักเกณฑ์ วิธิการ และเงื่อนไขสำหรับการบริจาค

อธิบดีกรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธิการ และเงื่อนไขสำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬาตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสมป์ สำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬา ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559 ที่ผู้บริจาคจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรเป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่บริจาค ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 596) พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป ดังนี้

ผู้รับบริจาค ต้องเป็น การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด สมาคมกีฬาที่ใช้คําว่า แห่งประเทศไทยหรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย และกรมพลศึกษา

กรณีผู้บริจาคมีหน้าทีเสียภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา จะต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น

กรณีผู้บริจาคเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาค จะบริจาคเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าก็ได้ กรณีบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้

1. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดหาทรัพย์สินหรือสินค้ามาเพื่อการบริจาคดังกล่าว ต้องมีหลักฐานการได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือสินค้าที่ระบุจำนวนและมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้านั้น โดยให้ถือว่ามูลค่าตามหลักฐานดังกล่าว เป็นมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

2. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลบันทึกบัญชีทรัพย์สินที่จะนำมาบริจาคดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ให้ถือเอามูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือจากการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน เป็นมูลค่าของทรัพย์สินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

3. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้ผลิตสินค้าเพื่อขายหรือเป็นผู้ขายสินค้าให้ถือเอามูลค่าต้นทุนของสินค้าดังกล่าวที่สามารถพิสูจน์ได้ เป็นมูลค่าของสินค้าที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

ผู้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่ผู้รับบริจาคดังกล่าวข้างต้น จะต้องมีเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้จากผู้รับบริจาค พร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

1. กรณีบริจาคเป็นเงิน ได้แก่ ใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานอื่นเป็นหนังสือที่ออกโดยผู้รับบริจาค เช่น หนังสือขอบคุณ ใบประกาศเกียรติคุณ ซึ่งหลักฐานดังกล่าวต้องระบุจำนวนเงินที่ได้บริจาคและสามารถพิสูจน์การรับบริจาคจากผู้บริจาคได้ โดยมีการรับรองอย่างชัดแจ้งจากผู้รับบริจาคว่าได้รับบริจาคจริง

2. กรณีบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า ได้แก่ หลักฐานเป็นหนังสือที่ออกโดยผู้รับบริจาคที่พิสูจน์ได้ว่าได้บริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าให้แก่ผู้รับบริจาค เช่น หนังสือขอบคุณ ใบประกาศเกียรติคุณซึ่งหลักฐานดังกล่าวได้ระบุมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้านั้นตามหลักเกณฑ์ข้างต้น

 

บทสรุป

ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 596 พ.ศ. 2559 ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้สนับสนุนการกีฬาที่ได้บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่การ

- การกีฬาแห่งประเทศไทย

- คณะกรรมการกีฬาจังหวัด

- สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด

- สมาคมกีฬาที่ใช้คําว่า แห่งประเทศไทย

- กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย และ

- กรมพลศึกษา

ทั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ในการจัดหาอุปกรณ์กีฬาการฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน การจัดสร้างและพัฒนาสนามกีฬาหรือศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ การส่งเสริมสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาหรือการพัฒนานักกีฬาและบุคลากรด้านกีฬา เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านการกีฬามากขึ้น โดยที่ผู้บริจาคจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรเป็นจำนวนสองเท่าของรายจ่ายที่บริจาค ทั้งนี้ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธิการ และเงื่อนไขสำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬาตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสมป์ สำหรับการบริจาคเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการกีฬา ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2559  

มีข้อสังเกตว่า กรณีผู้บริจาคมีหน้าทีเสียภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา จะต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น ส่วนกรณีผู้บริจาคเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาค จะบริจาคเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าก็ได้ กรณีบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และผู้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคให้แก่ผู้รับบริจาคดังกล่าวข้างต้น จะต้องมีเอกสารหลักฐานจากผู้รับบริจาค พร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ ใบเสร็จรับเงิน หรือหลักฐานอื่นเป็นหนังสือที่ออกโดยผู้รับบริจาค เช่น หนังสือขอบคุณ ใบประกาศเกียรติคุณ ซึ่งหลักฐานดังกล่าวต้องระบุจำนวนเงินที่ได้บริจาคและสามารถพิสูจน์การรับบริจาคจากผู้บริจาคได้ โดยมีการรับรองอย่างชัดแจ้งจากผู้รับบริจาคว่าได้รับบริจาคจริง หรือระบุมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้านั้นตามหลักเกณฑ์ข้างต้น

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้รยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่ผู้รับบริจาค และผู้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีดังกล่าวจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือที่ออกโดยผู้รับบริจาคที่พิสูจน์ได้ว่าได้บริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าให้แก่ผู้รับบริจาค เช่น หนังสือขอบคุณ ใบประกาศเกียรติคุณ ซึ่งหลักฐานดังกล่าวได้ระบุมูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้านั้นตามหลักเกณฑ์ในข้อ 4 พร้อมให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

ยิ่ง ครม. มีมติให้จัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติปีละ 2 ครั้ง ก็ยิ่งจำเป็นต้องขอรับบริจาคกันมากขึ้นละครับ การใช้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายนี้ ก็ย่อมจะมีมากขึ้นเป็นลำดับครับ