ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

บทความวันที่ 30 ก.ค. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 4967 ครั้ง

การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ตามที่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 600) พ.ศ. 2559 กำหนดให้มีการลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2559 ต่อไปจากที่เคยตราพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 576) พ.ศ. 2558 ต่อไปอีกหนึ่งปี มีปัญหาว่า มีการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้สุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท แรกหรือไม่ อย่างไร ฉะนั้น เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการยกเว้นเงินได้สุทธิ 150,000 บาท แรก จึงขอทบทวนความเป็นมาของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการยกเว้นเงินได้สุทธิ ดังนี้

1. ตามมาตรา 26 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2535 กำหนดให้ยกเลิกความใน (1) สำหรับบุคคลธรรมดา แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 37 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(1) สำหรับบุคคลธรรมดา

เงินได้สุทธิไม่เกิน             100,000 บาท                                          ร้อยละ  5

เงินได้สุทธิส่วนที่เกิน         100,000 บาท  แต่ไม่เกิน     500,000 บาท    ร้อยละ 10

เงินได้สุทธิส่วนที่เกิน         500,000 บาท  แต่ไม่เกิน   1,000,000 บาท   ร้อยละ 20

เงินได้สุทธิส่วนที่เกิน      1,000,000 บาท  แต่ไม่เกิน   4,000,000 บาท    ร้อยละ 30

เงินได้สุทธิส่วนที่เกิน      4,000,000 บาท                                          ร้อยละ 37

    อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าว ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องจนถึงปีภาษี 2555 เป็นปีสุดท้าย

2. ในช่วงเวลาที่มีการใช้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 1. ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับต่างๆ เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้สุทธิตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

    2.1 พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 352) พ.ศ. 2542 ยกเว้นเงินได้สุทธิจำนวน 50,000 บาทแรก สำหรับปีภาษี 2542 – 2545

    2.2 พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 352) พ.ศ. 2545 ยกเว้นเงินได้สุทธิจำนวน 80,000 บาทแรก สำหรับปีภาษี 2546

    2.3 พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 430) พ.ศ. 2548 ยกเว้นเงินได้สุทธิจำนวน 100,000 บาทแรก สำหรับปีภาษี 2547 – 2550 และ

    2.4 พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551 ยกเว้นเงินได้สุทธิจำนวน 1500,000 บาทแรก สำหรับปีภาษี 2551 จวบจนปัจจุบัน  

3. ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 575) พ.ศ. 2556  มาตรา 3 กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตาม (1) สำหรับบุคคลธรรมดา ของบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ใน ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2535 สำหับเงินได้สุทธิที่ได้รับในปี พ.ศ. 2556 และ 2557 โดยมีการแบ่งขั้นของเงินได้สุทธิออกเป็น 7 ขั้น ดังนี้

         เงินได้สุทธิไม่เกิน            150,000 บาท                                          ร้อยละ 5

          เงินได้สุทธิส่วนที่เกิน       150,000 บาท แต่ไม่เกิน      300,000 บาท    ร้อยละ 5

         เงินได้สุทธิส่วนที่เกิน        300,000 บาท แต่ไม่เกิน      500,000 บาท    ร้อยละ 10

         เงินได้สุทธิส่วนที่เกิน        500,000 บาท แต่ไม่เกิน      750,000 บาท    ร้อยละ 15

         เงินได้สุทธิส่วนที่เกิน        750,000 บาท แต่ไม่เกิน   1,000,000 บาท     ร้อยละ 20

         เงินได้สุทธิส่วนที่เกิน     1,000,000 บาท แต่ไม่เกิน   2,000,000 บาท     ร้อยละ 25

         เงินได้สุทธิส่วนที่เกิน     2,000,000 บาท แต่ไม่เกิน   4,000,000 บาท     ร้อยละ 30

         เงินได้สุทธิส่วนที่เกิน     4,000,000 บาท                                           ร้อยละ 35

 

4. ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 576) พ.ศ. 2557 ขยายกำหนดเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าวสำหรับปีภาษี 2558 ออกไปอีกหนึ่งปี และได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 600) พ.ศ. 2559 ขยายกำหนดเวลาการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังกล่าวสำหรับปีภาษี 2559 ออกไปอีกหนึ่งปี

5. ต่อปัญหาที่ว่ามีการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2559 ต่อเนื่องจากปีภาษี 2556 2557 และ 2558 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 600) พ.ศ. 2559 ดังกล่าว มีการยกเว้นเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรกหรือไม่ เพราะตามพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับต่างๆ ดังกล่าว มิได้กล่าวถึงการยกเว้นเงินได้สุทธิ 150,000 บาท แรก แม้แต่น้อย แล้วเช่นนั้น ที่มีเสียงกล่าวขานว่า มีการยกเว้นเงินได้สุทธิ 150,000 บาท แรก มีที่มาอย่างไร

    คำตอบก็คือ มีการยกเว้นเงินได้สุทธิ 150,000 บาท แรก อย่างแน่นอน เพราะการยกเว้นดังกล่าว เป็นการยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551 ที่กำหนดยกเว้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีภาษี 2551 เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน แม้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 600) พ.ศ. 2559 จะมิได้กล่าวถึงก็ยังคงมีการยกเว้นเงินได้สุทธิจำนวน 150,000 บาทแรก อยู่ต่อไปตามเท่าที่ไม่มีการแก้ไข หรือยกเลิกการยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551 ดังกล่าว