ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ทางอินเทอร์เน็ต ต้องแนบบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนหรือไม่

บทความวันที่ 22 พ.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 24544 ครั้ง


การยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ทางอินเทอร์เน็ต ต้องแนบบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนหรือไม่ 


อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 มาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 296) ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 กำหนดการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษีและสถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไว้ดังต่อไปนี้

"ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 127) เรื่อง กำหนดการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี และสถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2546 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

        “ข้อ 7 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามข้อ 1 ต้องยื่นบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับ รายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ กรณีวันสุดท้ายของการยืนบัญชีดังกล่าวตรงกับวันหยุดราชการ ให้ยื่นได้ภายในวันทำการถัดไป”

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นบัญชีดังกล่าวในหรือหลังวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป"

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 296) เรื่อง กำหนดการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี และสถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ให้ยกเลิกความในข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 127) (เรื่องเดียวกัน) ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2546 มีดังนี้

“ข้อ 7 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามข้อ 1 ต้องมีบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับ รายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันสุดท้ายของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น”

การที่กำหนดให้ใช้ข้อความใหม่แทนข้อความเดิมดังกล่าวนั้น ขอลำดับความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ดังนี้

1. การยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เป็นไปตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งโดยทั่วไปต้องยื่นด้วยแบบพิมพ์กระดาษตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 16) เรื่อง    กำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้ของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 โดยต้องแนบบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนไปพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.50 นั้นเสียด้วย

   กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ล่าช้า ต้องระวางโทษอาญาตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรมสรรพากรเปรียบเทียบโดยกำหนดค่าปรับแต่เพียงสถานเดียวตามความในมาตรา 3 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

    กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบ ต้องระวางโทษปรับ 1,000 บาท และ 

    กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เกินกว่า 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบ ต้องระวางโทษปรับ 2,000 บาท 

   กรณีมีเงินภาษีที่ต้องชำระ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบคุคลนั้น ยังต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร อีกด้วย 

2. ต่อมาอธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 127) ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2546 กำหนดให้การยื่นรายการข้อมูลตามแบบแสดงรายการภาษีดังต่อไปนี้ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th เป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ใช้บังคับสำหรับการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นไป 

   ซึ่งกำหนดความตามข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 127) ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2546 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ต้องแนบบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันสุดท้ายของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น 

3. จนกระทั่งกรมสรรพากรมีดำริที่จะเรียกเก็บค่าปรับทางอาญาแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 โดยแบบกระดาษที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด โดยไม่แนบบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 35 แหงประมวลรัษฎากร โดยเพิ่มโทษกรณีฝ่าฝืนมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร เข้าไปอีกหนึ่งมาตรา โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 41) พ.ศ. 2559 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป เป็นผลให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ล่าช้าต้องระวางโทษปรับตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร เป็น 2 กระทงความผิด คือ 

    (1) กรณีฝ่าฝืนมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร โดยยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เกินกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และ 

    (2) กรณีฝ่าฝืนมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่นำส่งบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท 

    ซึ่งกลายเป็นว่า หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ล่าช้า ต้องระวางโทษอาญาตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรมสรรพากรเปรียบเทียบโดยกำหนดค่าปรับแต่เพียงสถานเดียวตามความในมาตรา 3 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ 

    กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบ ต้องระวางโทษปรับ 1,000 + 1,000 บาท รวมเป็น 2,000 บาท และ 

    กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เกินกว่า 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบ ต้องระวางโทษปรับ 2,000 + 2,000 บาท รวมเป็น 4,000 บาท 

4. กรมสรรพากรเกิดคิดได้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมบทลงโทษตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร นั้น กินความไปถึงการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th โดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 127) (เรื่องเดียวกัน) ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2546 ด้วย จึงได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 296) เรื่อง กำหนดการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี และสถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ให้ยกเลิกความในข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 127) (เรื่องเดียวกัน) ลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2546 ด้วยข้อความใหม่ดังกล่าว โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป อันเป็นวันที่เดียวกับที่บทบัญญัติมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 41) พ.ศ. 2559 มีผลใช้บังคับ เพื่อมิให้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว 

5. อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแก้ปํญหาดังกล่าว และเป็นการบรรเทาภาระค่าปรับอาญา อธิบดีกรมสรรพากร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 อัฏฐ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป โดยขยายกำหนดเวลาการยื่นบัญชีงบดุล บัญชีทำการ บัญชีรายรับ รายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันสุดท่ายแห่งกำหนดเวลาในการยื่นบัญชีดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ออกไปเป็นวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560 อันจะมีผลให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวไม่ต้องรับผิดเสียค่าปรับทางอาญา ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร 

    การที่อธิบดีกรมสรรพากรขยายกำหนดเวลาการยื่นบัญชีดังกล่าว สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันสุดท่ายแห่งกำหนดเวลาในการยื่นบัญชีดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ออกไปเป็นวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560 สืบเนื่องมาจากกำหนด 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 นั้น ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 จึงเลื่อนมาเป็นวันเปิดทำการคืนวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560 อธิบดีกรมสรรพากรจึงขยายกำหนดเวลาออกไปเป็นวันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560 อันเป็นวันสิ้นเดือน 

    การขยายกำหนดเวลาดังกล่าว เป็นผลให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรอบระยะเวลาบัญซีสิ้นสุดวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ที่ยืนแบบ ภ.ง.ด.50 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ไม่ต้องแนบบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนไปพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.50 

6. ถามว่า สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรอบระยะเวลาบัญซีสิ้นสุดวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ที่ยืนแบบ ภ.ง.ด.50 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ไม่ต้องแนบบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนไปพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.50 ใช่หรือไม่ 

ตอบว่า ถูกต้องแล้วครับ