ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี และการนำส่ง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

บทความวันที่ 19 พ.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 5681 ครั้ง

การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี และการนำส่ง

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม

และภาษีธุรกิจเฉพาะ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต   

_________________

 

1. เจตนารมณ์

โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี และการนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ออกไปอีก 8 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีลดการใช้กระดาษเพื่อสนับสนุนโครงการร่วมชดเชยการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกรมสรรพากร (RD Carbon Credit) อันเป็นการปลุกจิตสำนึกให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีส่วนร่วมกับสังคมในการลดภาวะโลกร้อน

 

2. กำหนดเวลาการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบแสดงรายการภาษีตามประมวลรัษฎากร

สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามประมวลรัษฎากรที่กำหนดให้ยื่นรายการภาษี ระหว่างเวลาดังต่อไปนี้

ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562

ทั้งนี้ โดยกรมสรรพากรได้ออกคำชี้แจงเกี่ยวกับการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี และการนำส่งภาษี สำหรับกรณีการยื่นแบบแสดงรายการผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตดังนี้

คำชี้แจงกรมสรรพากรฯ ฉบับแรก ลงวันที่ ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

คำชี้แจงกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2557

คำชี้แจงกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2558

คำชี้แจงกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559

 

3. สาระสำคัญของการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบแสดงรายการภาษีตามประมวลรัษฎากร  

3.1 ให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามประมวลรัษฎากรผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีที่บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้ยื่นรายการในระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ถึงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2562 ดังนี้

      3.1.1 แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่

             (1) ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปเป็นภายในวันที่ 8 เมษายนของปีถัดไป

             (2) ภ.ง.ด.94 ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในเดือนกันยายนของทุกปี ให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปเป็นภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี

      3.1.2 แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่

             (1) ภ.ง.ด.50 ภ.ง.ด.52 และ ภ.ง.ด.55 ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปเป็นภายใน 158 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

             (2) ภ.ง.ด.51 ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายใน 2 เดือนนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นภายใน 2 เดือน 8 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

             (3) ภ.ง.ด.54 ซึ่งต้องยื่นรายการและนำส่งภาษีภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินหรือจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย ให้ขยายกำหนดเวลาออกไปเป็นภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินหรือจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย

      3.1.3 แบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ได้แก่ ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.2 ภ.ง.ด.3 และ ภ.ง.ด.53 ซึ่งต้องยื่นรายการและนำส่งภาษีภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน ให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปเป็นภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน

      3.1.4 แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่

             (1) ภ.พ.30 ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปเป็นภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป

             (2) ภ.พ.36 ซึ่งจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ (กรณีผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว) เดือนที่ขายทอดตลาด (กรณีผู้ทอดตลาดซึ่งขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือเดือนที่ครบกำหนด 30 วันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น (กรณีผู้รับโอนสินค้าหรือผู้รับโอนสิทธิในบริการตามมาตรา 83/7 แห่งประมวลรัษฎากร) ให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปเป็นภายใน 15 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ เดือนที่ขายทอดตลาด หรือเดือนที่ครบกำหนด 30 วันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น แล้วแต่กรณี

      3.1.5 แบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ ภ.ธ.40 ซึ่งจะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ให้ขยายกำหนดเวลาดังกล่าวออกไปเป็นภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป

3.2 ผู้ที่จะได้รับสิทธิขยายกำหนดเวลาตามข้อ 3.1 จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีฉบับปกติและฉบับเพิ่มเติมผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเท่านั้น หากเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีฉบับปกติในรูปแบบของกระดาษ แม้ต่อมาจะได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีกครั้งผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะไม่ได้รับสิทธิให้ขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี หรือหากเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีฉบับปกติผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ต่อมายื่นแบบแสดงรายการภาษีอีกครั้งในรูปแบบของกระดาษ จะไม่ได้รับสิทธิให้ขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเช่นกัน ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร โดยการคำนวณเงินเพิ่มสำหรับกรณีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะเป็นไปตามตัวอย่างดังต่อไปนี้

               ตัวอย่าง

              กรณีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ พ.ศ. 25xx จะได้รับสิทธิขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หากปรากฏว่า

              (1) ผู้ประกอบการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับปกติผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 25xx กรณีดังกล่าวได้รับสิทธิขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี จึงไม่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด

              (2) ผู้ประกอบการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับปกติผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 25xx มีภาษีต้องชำระ กรณีดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 25xx จนถึงวันชำระ

              (3) ผู้ประกอบการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับปกติผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 25xx ต่อมายื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับเพิ่มเติมผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 25xx เพื่อปรับปรุงรายการยอดขายแจ้งไว้ขาด 30,000 บาท ภาษีขาย 2,100 บาท ทำให้มีภาษีต้องชำระเพิ่มเติม 2,100 บาท กรณีการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับเพิ่มเติมดังกล่าวจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 25xx จนถึงวันชำระ

              (4) ผู้ประกอบการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับปกติในรูปแบบของกระดาษ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 25xx ต่อมายื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับปกติอีกครั้งผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 25xx มีภาษีต้องชำระเพิ่มเติม กรณีการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับปกติอีกครั้งดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 25xx จนถึงวันชำระ

              (5) ผู้ประกอบการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับปกติในรูปแบบของกระดาษ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 25xx มีภาษีต้องชำระ กรณีดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมา ผู้ประกอบการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับเพิ่มเติมผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 25xx เพื่อปรับปรุงรายการยอดขายแจ้งไว้ขาด 30,000 บาท ภาษีขาย 2,100 บาท ทำให้มีภาษีต้องชำระเพิ่มเติม 2,100 บาท กรณีการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเช่นกัน ผู้ประกอบการต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 25xx จนถึงวันชำระ

              (6) ผู้ประกอบการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับปกติผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 25xx มีภาษีต้องชำระ กรณีดังกล่าวได้รับสิทธิขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี จึงไม่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร ต่อมาผู้ประกอบการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับเพิ่มเติมในรูปแบบของกระดาษ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 25xx เพื่อปรับปรุงรายการยอดขายแจ้งไว้ขาด 30,000 บาท ภาษีขาย 2,100 บาท ทำให้มีภาษีต้องชำระเพิ่มเติม 2,100 บาท กรณีการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 25xx จนถึงวันชำระ

3.3 กรณีที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับสิทธิให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตามคำชี้แจงฉบับนี้ แต่ปรากฏว่าในขณะที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีเหตุขัดข้องหรือข้อผิดพลาดของระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อันเป็นผลให้การยื่นแบบแสดงรายการภาษีดังกล่าวเกินกำหนดเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ขยายออกไปตามข้อ 3.1 โดยมิใช่ความผิดของผู้มีหน้าที่เสียภาษี ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะได้รับสิทธิขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีดังกล่าวออกไปอีก 7 วันนับแต่วันสุดท้ายของกำหนดเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ขยายออกไปตามข้อ 3.1 โดยผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ประสงค์จะใช้สิทธิขยายกำหนดเวลาดังกล่าว จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในรูปแบบของกระดาษ พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีต่ออธิบดี ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาท้องที่ ทั้งนี้ ตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี และการนำส่งภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546

3.4 กรณีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และได้รับสิทธิผ่อนชำระ 3 งวด ตามมาตรา 64 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องผ่อนชำระภายในกำหนดเวลาดังนี้

       - งวดที่หนึ่ง ต้องชำระพร้อมกับการยื่นแบบฯ ภายในกำหนดเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ขยายออกไป

       - งวดที่สอง ต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่หนึ่ง

       - งวดที่สาม ต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่สอง หากไม่ชำระงวดใดงวดหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็นรายงวดต่อไป และต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับงวดที่ไม่ชำระและงวดต่อ ๆ ไป โดยคำนวณเงินเพิ่มตั้งแต่พ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีที่ได้รับอนุมัติให้ขยายออกไปนั้นจนถึงวันชำระ

       ตัวอย่าง

       ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับปีภาษี 2554 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตภายในกำหนดเวลาที่ได้รับอนุมัติให้ขยายออกไป กล่าวคือภายในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 25xx (วันที่ 8-9 เมษายน พ.ศ. 25xx เป็นวันหยุดราชการ) โดยได้รับสิทธิผ่อนชำระ 3 งวด ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องชำระภาษีแต่ละงวดภายในกำหนดเวลาดังนี้

       - งวดที่หนึ่ง ต้องชำระภายในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 25xx

       - งวดที่สอง ต้องชำระภายในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 25xx

       - งวดที่สาม ต้องชำระภายในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 25xx

       หากปรากฏว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระงวดที่ 1 ภายในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 25xx แต่ไม่ชำระภาษีงวดที่สองภายในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 25xx ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็นรายงวดต่อไป และต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับงวดที่สองและงวดที่สาม โดยคำนวณเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 25xx จนถึงวันชำระ

 

ที่มา: คำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ฉบับแรก ถึง (ฉบับที่ 4) โดยสำนักกฎหมายกรมสรรพากร