ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

แนวคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล

บทความวันที่ 15 พ.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 8378 ครั้ง

แนวคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

นิติบุคคลหรือบุคคลโดยผลของกฎหมายนั้น มีหลายประเภท แต่ที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก กำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

กลุ่มที่ 2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้มีการประกอบกิจการในประเทศไทย ในกิจการอื่นใดที่มิใช่การขนส่งระหว่างประเทศ อันเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทยจากกิจการดังกล่าว

กลุ่มที่ 3 รัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และได้มีการประกอบกิจการในประเทศไทย ในกิจการอื่นใดที่มิใช่การขนส่งระหว่างประเทศ อันเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทยจากกิจการดังกล่าว

กลุ่มที่ 4 กิจการร่วมค้า ได้แก่ กิจการที่ดำเนินร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไรในประเทศไทยระหว่าง บริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือระหว่างบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น

แม้ "กิจการร่วมค้า" จะเป็นเพียง ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนเป็น นิติบุคคลตามกฎหมายใดๆ แต่เพราะเหตุที่เป็นการรวมระหว่างผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นหลัก ซึ่งโดยพื้นฐานของผู้เป็นหุ้นส่วนที่เข้าร่วมในกิจการร่วมค้า ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีมาตรฐานสูง และโปร่งใส พร้อมที่จะซื่อสัตย์ต่อผู้ร่วมลงทุน ตลอดจนเจ้าหนี้ และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ อาทิ รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชน ด้วยการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีอากรประเภทอื่นให้ถูกต้องครบถ้วน ด้วยการทำบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วน

ในการนี้สภาวิชาชีพบัญชีได้กำหนดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2553 อันเป็นกรอบปฏิบัติของนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั้งหลายได้แก่ ความโปร่งใส ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความรู้ความสามารถ มาตรฐานในการปฏิบัติงาน การรักษาความลับ ความรับผิดชอบต่อผู้รับบริการ ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน บุคคล หรือนิติบุคคลที่ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติหน้าที่ให้มีหน้าที่ และความรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ และจรรยาบรรณทั่วไป

 

แนวคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล (2)

 

การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐาน กำไรสุทธิทางภาษีอากรนั้น เป็นการจัดเก็บภาษีอากรตามหลัก ความสามารถในการเสียภาษี โดยใช้ กำไรสุทธิเป็นเกณฑ์ ซึ่งตามประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้คำนวณกำไรสุทธิจากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้และการประกอบกิจการทั้งหลายตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ โดยอาศัยหลักการทางบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีมาบัญญัติเป็นกฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคล การจัดทำบัญชีทางการเงินจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีอากร

ในปัจจุบัน ประมวลรัษฎากรยังได้กำหนดให้มีการตรวจสอบและรับรองบัญชีเพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และผู้สอบบัญชีภาษีอากร แล้วแต่กรณี เพื่อให้มีการสอบยันความถูกต้องของการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประเด็นที่กรมสรรพากรกำหนด ด้วย

     ได้กล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลว่า มุ่งจัดเก็บจากกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามหลักความสามารถในการเสียภาษีอากร ซึ่งวัดจาก กำไรสุทธิโดยอาศัยพื้นฐานในการจัดทำบัญชีตามหลักการหรือมาตรฐานการบัญชี ทั้งนี้ หากกิจการมีผลขาดทุนสุทธิทางภาษีอากรในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ไม่ต้องคำนวณและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปีนั้นๆ

กล่าวสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม หลักถิ่นที่อยู่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั้งที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรเสมอ

ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ รวมทั้งกิจการที่ดำเนินเป็นทางค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การหรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ นั้น ให้คำนวณและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเฉพาะจากกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้นตาม หลักแหล่งเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศดังกล่าว ต้องเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย จึงจะมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ประมวลรัษฎากร

ภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยเฉพาะที่จัดเก็บจากฐานกำไรสุทธิดังกล่าว จัดเป็น ภาษีทางตรงซึ่งกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ต้องรับภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้เอง ไม่สามารถผลักภาระภาษีไปยังบุคคลได้ ด้วยเหตุนี้ ในทางกฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงกำหนดห้ามมิให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำค่า ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องเสียตามประมวลรัษฎากร (ภ.ง.ด.50) ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร

การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิมีสองระดับ คือ ระดับที่เป็นกำไรสุทธิของบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้เสียในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิ และระดับที่เป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร รวมทั้งเงินกำไรที่จำหน่ายไปต่างประเทศ อีก 10% ของเงินดังกล่าว

ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดอยู่ในประเภท ภาษีอากรประเมินกล่าวคือ กฎหมายกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่ รวมทั้งผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด พร้อมกับชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล (ถ้ามี) ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อประเมินตนเองว่า มีรายได้ รายจ่าย ตลอดจนจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กฎหมายกำหนด และให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินความถูกต้องของจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคล และการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ทางภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีที่พบว่า มีการเสียภาษีหรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บหรือดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย

ภาษีเงินได้นิติบุคคลกำหนดจัดเก็บเป็นราย รอบระยะเวลาบัญชีซึ่งโดยทั่วไปมีกำหนดเวลา 12 เดือนใดๆ ไม่จำเป็นต้องตรงกับปีปฏิทิน โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องคำนึงไว้เสมอว่า พึงคำนวณและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ถูกต้องตรงตามรอบระยะเวลาบัญชี จะแสดงรายได้ รายจ่าย ผิดหรือข้ามรอบระยะเวลาบัญชีไม่ได้ มิฉะนั้น อาจมีโทษทัณฑ์ตามกฎหมาย

 

แนวคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล (3)

 

กล่าวโดยทั่วไปภาษีเงินได้นิติบุคคลว่า มุ่งจัดเก็บจากกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามหลักความสามารถในการเสียภาษีอากร ซึ่งอาศัยพื้นฐานในการจัดทำบัญชีตามหลักการหรือมาตรฐานการบัญชี ที่พัฒนาถึงขั้นสูงสุดมาก่อนที่จะระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคลจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

เราท่านทั้งหลายจึงได้เห็นหลักการบัญชีที่แฝงหรือฝังอยู่ในหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิเป็นอันมาก โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่หลักเกณฑ์ในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีอากรได้นำ หลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไปตามมาตรฐานการบัญชีของประเทศสหรัฐอเมริกามาประยุกต์ใช้ ซึ่งเน้นหลักการคำนวณกำไรสุทธิให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด (Rule Base) และยังคงใช้บังคับเพื่อการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายไทยหรือประมวลรัษฎากร ตราบจนปัจจุบัน

แม้ในทางการบัญชีจะได้ปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีให้เป็นไปตามหลักการ หรือ Principle Base ที่อาศัยการตีความในข้อเท็จจริงในประเด็นนั้นๆ มากกว่าที่จะยึดถือการกฎเกณฑ์ที่ตายตัวก็ตามที แต่ในทางภาษีอากรก็ยังคงยึดมั่นในความถูกต้องและเกิดขึ้นจริงแล้วของรายการ โดยไม่คำนึงถึงเนื้อหาหรือข้อเท็จจริงที่ต้องการการตีความแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามนับได้ว่า หลักการบัญชีได้มีคุณูปการต่อระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นอย่างมาก การเข้าใจหลักการบัญชีย่อมช่วยให้เข้าถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขทางภาษีอากรได้ง่ายและสะดวกที่จะปฎิบัติตาม อาทิ

หลัก ทุกเดบิต (ด้านจ่าย) ต้องมีเครดิต (ด้านรับ) ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันถูกนำมาปรับใช้เป็นกฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร ที่บัญญัติว่า รายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับจะนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ได้ เป็นการสะท้อนหลักความสุจริต โปร่งใส และตรวจสอบยันกันได้ เพราะเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้จ่ายรายจ่ายย่อมต้องมีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มีรายได้ ซึ่งต้องออกหลักฐานการรับเงินมาให้แก่ฝ่ายผู้จ่ายเงิน โดยตนเองต้องนำรายได้นั้นไปคำนวณเพื่อเสียภาษีอากรต่อไป แต่เมื่อฝ่ายผู้จ่ายเงินไม่อาจพิสูจน์ผู้รับเงิน ก็ทำให้ขาดความเชื่อมโยงไปยังผู้รับ ทำให้รัฐอาจเสียหรือขาดประโยชน์ไป รัฐจึงกำหนดไม่ยอมให้นำรายการรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในทางภาษีอากร

หลัก ความสม่ำเสมอเช่นเดียวกับรอบระยะเวลาบัญชีปีก่อนๆ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานการบัญชีที่สำคัญที่จะใช้เปรียบเทียบกันได้ในกิจการเดียวกัน และในระหว่างกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ได้ถูกนำมาบัญญัติเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในทางกฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวนมาก เช่น การมีและใช้รอบระยะเวลาบัญชี วิธีการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินถาวร วิธีการตีราคาทุนของสินค้า

หลัก การแยกแยะรายการของกิจการกับส่วนของเจ้าของกิจการได้ถูกนำมาบัญญัติเป็นมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ห้ามมิให้นำรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีอากร

สำหรับหลักการข้ออื่นๆ จะได้นำมากล่าวในคราวต่อไปครับ

 

แนวคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล (4)

 

การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่มุ่งจากกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามกฎหมายไทย หรือประมวลรัษฎากร นั้น เป็นการจัดเก็บภาษีเงินได้ตาม หลักความสามารถในการเสียภาษีโดยใช้ผลการดำเนินกิจการในส่วนที่เป็น กำไรสุทธิซึ่งคำนวณหามาได้จากมาตรฐานการบัญชีหรือหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป ที่ได้รับการพัฒนาเป็น วิชาชีพที่มีความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ โดยนักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักกฎหมาย รวมทั้งนักบัญชีของโลก ได้ร่วมมือกันนำหลักการบัญชีมาบัญญัติเป็นกฎหมายภาษีเงินได้ แล้วเผยแพร่ให้มีการใช้เพื่อการจัดเก็บภาษีอากรกันไปทั่วโลก

กล่าวกันว่า การแพร่ระบาดของภาษีเงินได้ในโลกใบนี้ เป็นการแพร่ระบาดที่แพร่หลายกว้างขวางและทั่วถึง เร็วที่สุดระบบหนึ่งที่เคยมีมาในโลกนี้ แม้จะเป็นช่วงที่ยังไม่มีการใช้ระบบไอทีก็ตาม

ในประเทศไทยได้รับอิทธิพลของภาษีเงินได้ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 และพัฒนาเป็นประมวลรัษฎากรในปี พ.ศ. 2481 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2482 เป็นต้นมา ตราบกระทั่งปัจจุบัน

รูปแบบของภาษีเงินได้ที่ใช้กันในปัจจุบัน ได้เริ่มใช้บังคับเมื่อปี 2496 เป็นต้นมา โดยการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลใหม่หมด

ในประเทศไทยยึดถือหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ เป็นสองระดับตั้งแต่เริ่มใช้บังคับ กล่าวคือ ระดับที่หนึ่ง จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี และในระดับที่สอง จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

ในปัจจุบัน อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จัดเก็บจากกำไรสุทธิกำหนดไว้ที่อัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ ภายหลังการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงคงเหลือกำไรสะสมอยู่อีกร้อยละ 80 ของกำไรสุทธิ หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้นำกำไรสะสมในส่วนที่เหลือจากการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวมาจ่ายเป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ผู้มีเงินได้ก็จะต้องถูกหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ ได้เป็นเงินภาษีรวมทั้งสิ้น 8 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของกำไรสุทธิ ซึ่งผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้เท่าที่ถูกหักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 48 (3) แห่งประมวลรัษฎากร

ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่าเมื่อนำจำนวนภาษีเงินได้ทั้งสองระดับมารวมกันก็จะได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 28 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของกำไรสุทธินั่นเอง แต่เมื่อเทียบเคียงกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นสูงสุดสำหรับท่านที่มีเงินได้สุทธิเกินกว่า 2 ล้านบาท ก็จะต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 30 และสำหรับเงินได้สุทธิในส่วนที่เกินกว่า 4 ล้านบาท ก็จะต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 35

ซึ่งผู้มีเงินได้ที่มีเงินได้สุทธิสูงเกินกว่า 2 ล้านบาท จะต้องรับภาระภาษีเงินได้สูงกว่าผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่มีเงินได้เป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร อย่างแน่นอน

 

แนวคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล (5)

 

โดยทั่วไปภาษีเงินได้นิติบุคคลมุ่งจัดเก็บจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นั้น เป็นการจัดเก็บตามหลัก ความสามารถในการเสียภาษีโดยใช้กำไรสุทธิที่จัดทำตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีเป็นเครื่องวัดความสามารถ ดังนั้น ในกรณีที่กิจการมีผลประกอบการเป็นขาดทุนสุทธิจึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และเพื่อความเป็นธรรม ตามกฎหมายภาษีอากรจึงยอมให้กิจการนำผลขาดทุนสุทธิที่เกิดขึ้นไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบันตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร

เนื่องจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีทั้งที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ในส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยนั้น ใช้หลัก ถิ่นที่อยู่เป็นหลักในการจัดเก็บภาษี ด้วยยึดถือเอาการจดทะเบียนตามกฎหมายไทยว่า ภูมิลำเนาของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเป็น ถิ่นที่อยู่ดังนั้น แม้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไทยทั้งหลายจะมีรายได้จากแหล่งเงินได้ในต่างประเทศ ก็ยังต้องนำรายได้จากการประกอบกิจการทั่วโลกนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายไทยด้วย

ในส่วนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศนั้น ท่านใช้หลัก แหล่งเงินได้กล่าวคือ กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศมีหน้าที่เสียเงินได้นิติบุคคลเฉพาะจากรายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศเหล่านั้นต้องเข้าองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ จึงจะมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคตามกฎหมายไทย

1. เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยแห่งเดียวโดยเฉพาะ หรือ

2. ประกอบกิจการในที่อื่นรวมทั้งในประเทศไทย โดยให้เสียภาษีเงินได้เฉพาะการรายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น หรือ

3. ประกอบกิจการขนส่งระหว่างประเทศในที่อื่นรวมทั้งในประเทศไทย โดยให้เสียภาษีเงินได้เฉพาะรายได้ค่าโดยสารที่เรียกเก็บในประเทศไทย หรือรายได้ค่าระวางที่เกิดจากขนสินค้าออกจากประเทศไทยเท่านั้น หรือ

4. กรณีมีลูกจ้าง ผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย หรือ

5. มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2)(3)(4)(5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร

อนึ่ง การที่ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น ภาษีอากรประเมินก็เพื่อที่จะวางระบบบริหารการจัดเก็บภาษีอากรที่จัดอยู่ในประเภทภาษีอากรประเมินด้วยกัน อันได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะที่ได้บัญญัติรวมกันไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกันคือ ประมวลรัษฎากรนั้น ให้เป็นมีมาตรฐานเดียวกัน ในเรื่องต่างๆ อันได้แก่ วิธีการเสียภาษีอากร เจ้าพนักงานประเมิน และอำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการตรวจสอบความถูกต้องของการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากร การขอคืนภาษีอากร การปฏิบัติหน้าที่อื่นทางภาษีอากร เช่น การจัดทำบัญชี การจัดทำรายงาน การแจ้งรายการ เป็นต้น การอุทธรณ์ และบทกำหนดโทษทางภาษีอากร

 

แนวคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล (6)

 

โดยเหตุที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งมุ่งจัดเก็บจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล อัน เป็นการจัดเก็บตามหลัก ความสามารถในการเสียภาษีโดยใช้กำไรสุทธิที่จัดทำตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีเป็นเครื่องวัดความสามารถนั้น ในกฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคลลจึงปรากฏหลักเกณฑ์ทางบัญชีที่ถูกนำมาประยุกต์ให้เป็นหลักเกณฑ์ทางภาษีอากรอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในกฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคลยิ่งๆ ขึ้นไป จึงขอนำหลักเกณฑ์ทางบัญชีที่ถูกนำมาบัญญัติเป็นกฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้

ในส่วนของข้อสมมติฐานทางการบัญชี ซึ่งในปัจจุบันในทางบัญชีได้นำมากำหนดเป็นแม่บทการบัญชี ซึ่งประกอบด้วย

หนึ่ง หลักการใช้หน่วยเงินตรา กำหนดให้ใช้หน่วยเงินตราไทย

สอง หลักความเป็นหน่วยงานของกิจการ ที่กำหนดให้หน่วยงานทางบัญชีเป็นหน่วยงานที่แยกต่างหากจากเจ้าของกิจการและหน่วยงานอื่น ซึ่งในทางภาษีอากรได้นำมาบัญญัติห้ามมิให้นำรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวมาถือเป็นรายจ่ายทางภาษีอากร

หลักการใช้หลักฐานอันเที่ยงธรรม

หลักรอบเวลา โดยกำหนดให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี

หลักความดำรงอยู่ของกิจการ

หลักราคาทุน

หลักการเกิดขึ้นของรายได้ โดยทั่วไปกำหนดให้สอดคล้องกับหลักการบัญชีเพื่ออำนวยให้เกิดความสะดวกในการคำนวณกำไรสุทธิและการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

หลักการจับคู่ค่าใช้จ่ายกับรายได้ ถูกนำมาใช้เพื่ออำนวยให้เกิดความเป็นนนมา

หลักเงินค้าง ซึ่งในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลปรับให้เป็น เกณฑ์สิทธิ

หลักโดยประมาณ

หลักความสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับรอบระยะเวลาบัญชีปีก่อน เพื่อก่อให้เกิดความมีมาตรฐานและการเสี่ยได้ถูกนำมาบัญญัติเป็นกฏหมายภาษีเงินได้บุคคหลายประการ อาทิ การใช้รอบระยะเวลาบัญชี วิธีการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา การตีราคาสินค้าคงเหลือตามวิธีราคาทุน

หลักการเปิดเผยของข้อมูลอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ยังได้นำข้อควรคำนึงในการใช้ข้อสมมติฐานทางบัญชีมาใช้ในการบัญญัติกฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้

หลักความระมัดระวัง อาทิ หลักการตีราคาสินค้าคงเหลือตามวิธีราคาทุนหรือราคาตลาดที่ต่ำกว่า

หลักเนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ

หลักความมีนัยสำคัญ

หลักการปฏิบัติเฉพาะธุรกิจ

การทำความเข้าใจหลักการบัญชีจะมีส่วนให้เกิดความเข้าใจในกฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก

 

แนวคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล (7)

 

     โดยทั่วไปภาษีเงินได้นิติบุคคลมุ่งจัดเก็บจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมุ่งจัดเก็บภาษีตาม หลักความสามารถในการเสียภาษี" โดยถือว่า กิจการที่มี กำไรสุทธิเป็นกิจการที่มีความสามารถในการเสียภาษี ซึ่งมีข้อกำหนดให้กิจการทำการปรับปรุงกำไรสุทธิทางบัญชีที่ทำมาหาได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีให้เป็นกำไรสุทธิทางภาษีอากรด้วยเงื่อนไขเกี่ยวกับรายได้ เงื่อนไขเกี่ยวกับรายจ่าย และหลักเกณฑ์ในการตีราคาทรัพย์สินและหนี้สิน

แต่อย่างไรก็ตาม ตามประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดอยู่ในประเภท ภาษีอากรประเมินซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้มีหน้าที่เสีย รวมทั้งผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่หักภาษีดังกล่าวมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการประเมินความถูกต้องของรายได้ รายจ่าย รวมทั้งจำนวนภาษีเงินได้ที่ต้องเสียหรือนำส่ง แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด และให้เจ้าพนักงานประเมินมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตรา และปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีอากรตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เพียงใด

ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่า มีการเสียและนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ท่านให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีพร้อมทั้งเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม แต่ผู้ต้องเสียหรือนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และศาลภาษีอากร รวมทั้งศาลฎีกาต่อไป

ดังนั้น การเสียภาษีอากรที่ประหยัดที่สุดจึงได้แก่ การเสียภาษีอากรให้ถูกต้องครบถ้วน ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะทำให้ผู้ต้องเสียหรือผู้นำส่งภาษีอากรไม่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ตลอดจนค่าปรับทางอาญาใดๆ อันเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่พึงต้องเสีย และเป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่สูญเปล่า เนื่องจากในทางภาษีเงินได้นิติบุคคล มีข้อห้ามมิให้นำเบี้บปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับอาญาตามประมวลรัษฎากรมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีอากร อันเป็นผลให้กิจการที่ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าปรับทางอาญาเหล่านั้น ต้องปรับปรุงบวกกลับรายจ่ายดังกล่าว ทำให้จำนวนกำไรสุทธิที่ต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งถือเป็นความเสียหาย

ในการจัดเก็บจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นสองระดับ คือ ระดับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กำหนดให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 เป็นต้นไป กำหนดจัดเก็บในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ แล้วยังคงจัดเก็บในระดับที่เป็นเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ด้วยการกำหนดให้มีการหักภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรารร้อยละ 10 ของเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ซึ่งก็ได้แก่กำไรสุทธิส่วนที่เหลือจากการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั่นเอง อันจะทำให้ภาระภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิโดยรวมสูงสุดเป็นร้อยละ 28 ของกำไรสุทธิ ซึ่งหลักการนี้ ถูกนำมาปรับใช้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎมายของต่างประเทศ และเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพียงแต่ในระดับที่สอง ได้กำหนดให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการจำหน่ายกำไรสุทธิไปต่างประเทศตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เพื่ออำนวยให้เกิดความเป็นธรรมในการบริหารการจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ

นอกจากนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเป็นภาษีทางตรง (Direct Tax) ที่กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ โดยไม่สามารถผลักภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลไปให้บุคคลอื่นรับภาระไม่ได้ ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการบัญญัติห้ามมิให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลไปถือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งจะแตกต่างไปจากหลักเกณฑ์ทางบัญชีที่บันทึกค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ อันเป็นความแตกต่างของหลักเกณฑ์ทางบัญชีกับหลักเกณฑ์ทางภาษีอากร

ดังนั้น กำไรสุทธิทางบัญชี จึงย่อมไม่เท่ากับกำไรสุทธิทางภาษีอากร เพราะมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณกำไรสุทธิที่แตกต่างกันหลายต่อหลายรายการ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลพึงต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ และปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อที่จะไม่เกิดปัญหาในการชำระและการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ทางภาษีอากรให้ถูกต้องบริบูรณ์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม โดยแท้จริงแล้ว บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่มีตัวตน เพียงแต่เป็นบุคคลโดยผลขอกฎหมายเท่านั้น บุคคลที่เป็นผู้เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิทั้งหลาย นั้น ได้แก่ ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนที่เป็น บุคคลธรรมดานั่นเอง