การจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e -Tax Invoice by Email
บทความวันที่ 16 มี.ค. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 3615 ครั้ง
บทความวันที่ 16 มี.ค. 2560 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 3615 ครั้ง
การจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
ผ่านระบบ e -Tax Invoice by Email
กรมสรรพากรโดยความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
(องค์การมหาชน) (สพธอ.) และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
(องค์การมหาชน) (สรอ.) ได้จัดทำระบบ
e-Tax Invoice by Email ขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำ ส่งมอบและเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน
จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email) โดยการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ผ่านระบบกลางของ สพธอ. ประกอบกับกรมสรรพากรได้ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามโครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการบริการภาครัฐ
โดยเฉพาะในด้านการจัดเก็บภาษีอากรให้สอดคล้องกับระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์
(e- Payment) และเพื่อให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถจัดทำใบกำกับภาษีที่มีการจัดทำข้อความขึ้น เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ก่อนที่จะมีการออกกฎหมายบังคับต่อไป
อาศัยอำนาจตามมาตรา
35 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ประกอบมาตรา 8
แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ พ.ศ.
2549 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีการปฏิบัติงานตามกฎหมายที่แตกต่างเป็นการเฉพาะ อาจกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติงานตามกฎหมายที่แตกต่างนั้นได้
โดยออกเป็นระเบียบ ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงความถูกต้องครบถ้วน
ความน่าเชื่อถือ สภาพความพร้อมใช้งาน และความมั่นคงปลอดภัยของระบบ และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
อธิบดีกรมสรรพากรจึงออกระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ
และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e -Tax Invoice by Email พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560 ไว้ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่
1 มีนาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป และให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเสียภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้รักษาการตามระเบียบดังกล่าว
(ข้อ 4) โดยจัดแบ่งเป็น 5 หมวดดังนี้
หมวด 1 การยื่นคำขอ (ข้อ 5 – ข้อ
10)
หมวด 2 การจัดทำและส่งมอบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (ข้อ 11 – ข้อ
20)
หมวด 3 การเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (ข้อ 21 – ข้อ
22)
หมวด 4 การเปลี่ยนแปลง
การยกเลิก และการเพิกถอนการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (ข้อ 23 – ข้อ
25)
1. ข้อกำหนดเบื้องต้น
ในระเบียบกรมสรรพากรนี้
เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น (ข้อ 1)
“ผู้ประกอบการจดทะเบียน” หมายความว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (6)
แห่งประมวลรัษฎากร
“ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้มีการประทับรับรองเวลาโดย
สพธอ. และให้หมายความรวมถึง ใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้มีการประทับรับรองเวลาโดย
สพธอ.
“อิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า การประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอนไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือวิธีการอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน
และให้หมายความรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสง วิธีการทางแม่เหล็ก หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิธีต่างๆ
เช่นว่านั้น
“ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
“ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้จัดทำ
ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ตามระเบียบนี้
“ระบบ e-Tax Invoice by Email” หมายความว่า การจัดทำใบกำกับภาษีที่มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมสรรพากรอนุมัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถจัดทำโดยผ่านการประทับรับรองเวลาและจัดส่งไปยังผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
(Email)
“การประทับรับรองเวลา” หมายความว่า วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ สพธอ. ได้กระทำต่อข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
เพื่อรับรองความมีอยู่ของข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ณ ขณะที่มีการรับรอง และสามารถตรวจพบได้หากมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นับแต่เวลาที่ได้มีการรับรอง
“สพธอ.” หมายความว่า สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
“แบบ ก.อ.01” หมายความว่า แบบคำขอจัดทำ
ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบนี้
2. การยื่นคำขอ
2.1 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีความประสงค์จะจัดทำ
ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice by Email ยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร หรือโดยวิธีการอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
ตามแบบ ก.อ.01 ที่แนบท้ายระเบียบนี้ (ข้อ
5)
2.2 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิยื่นคำขอตามข้อ
2.1 ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (ข้อ 6)
2.1.1 เป็นบุคคลธรรมดามีเงินได้พึงประเมินไม่เกินสามสิบล้านบาทต่อปีภาษี
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2558 เป็นต้นไป หรือเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรายได้ต่อรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท
ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
2.1.2 ต้องไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับอนุมัติหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติ ให้จัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบ กรมสรรพากร
ว่าด้วยการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์
พ.ศ. 2555
2.1.3
ไม่มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร และไม่มีประวัติการออกหรือใช้ใบกำกับภาษีปลอม
หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
2.3 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ยื่นคำขอตามข้อ 5 จัดส่งเอกสารประกอบการพิจารณา
โดยวิธีการอัปโหลด (Upload) บนระบบที่กรมสรรพากรเปิดให้บริการ
ดังต่อไปนี้ (ข้อ 7)
2.3.1 แบบ ก.อ.01 ที่ลงนามโดยผู้มีอำนาจ
2.3.2 หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกินหกเดือนนับถึงวันที่
อัปโหลด (Upload) หนังสือรับรอง
2.3.3 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจลงนามในแบบ กอ.01
ในการยื่นคำขอ ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องยอมรับและปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในขั้นตอนการลงทะเบียนการขอใช้งานระบบ
e-Tax Invoice by Email (ข้อ 8)
เพื่อประโยชน์ในการยื่นคำขอ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยืนยันตัวตนผ่านที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์
(Email Address) ที่แจ้งไว้ในคำขอ
และดำเนินการอัปโหลด (Upload) เอกสารตาม 2.3.1 2.3.2 และ 2.3.3
ภายใน 7 วันทำการนับแต่วันถัดจากที่บันทึกและส่งคำขอ
2.4 เมื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านจากระบบ
e-Tax Invoice by Email แล้ว ให้ทำการแจ้งที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email Address) ที่ประสงค์จะใช้สำหรับการจัดทำ ส่งมอบและเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในระบบ
e-Tax Invoice by Email
การใช้ที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email Address) ที่ประสงค์จะใช้สำหรับการจัดทำ ส่งมอบและเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว
จะต้องเป็นที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์
(Email Address) ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือ
(ข้อ 9)
2.5 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ยื่นคำขอตาม
2.1 จัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice by
Email ได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร
ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ตามวรรคหนึ่ง
จะจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ
e-Tax Invoice by Email คราวหนึ่งคราวใดที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการก็ได้ (ข้อ 10)
3. การจัดทำและส่งมอบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
3.1 ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ (ข้อ 11)
3.2 การจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะต้องจัดเตรียมข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งมีสาระสำคัญครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร (ข้อ
12) โดยให้ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์บันทึกให้อยู่ในรูปของไฟล์ประเภท
Microsoft Word (.doc, .docx), Microsoft Excel (.xls, .xlsx) หรือ
Portable Document Format (.pdf) เท่านั้น โดยหากเป็น PDF ประเภท PDF/A-3 ต้องประกอบด้วยข้อมูล xml ตามรูปแบบที่กำหนดในข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ว่าด้วยข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อขายสินค้าและบริการที่ สพธอ. ประกาศกำหนด
ห้ามมิให้ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ใช้วิธีการแปลงเอกสารและข้อความให้อยู่ในรูปของ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือนำสิ่งที่เกิดขึ้นจากการแปลงดังกล่าวมาใช้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในการจัดเตรียม ข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
การจัดเตรียมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะต้องบันทึกให้อยู่ในรูปของ
PDF/A-3 เท่านั้น
3.3 ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ต้องส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จัดเตรียมตามข้อ
12 ผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
(Email) ที่ได้แจ้งตามข้อ 9 โดยแนบไฟล์ข้อมูลดังกล่าวส่งไปยัง
ที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์
(Email Address) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
และที่อยู่จดหมาย อิเล็กทรอนิกส์ (Email
Address) ของระบบ e-Tax Invoice by Email ที่กรมสรรพากรกำหนด
เพื่อทำการประทับรับรองเวลาในคราวเดียวกัน (ข้อ 13)
3.4 การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ
13 ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะต้องระบุข้อความไว้ในชื่อเรื่องของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์
(Email) ที่ทำการจัดส่ง เป็นข้อมูลประกอบด้วย “[วันเดือนปีที่ออกใบกำกับภาษี] [INV] [เลขที่ใบกำกับภาษี]”
(ข้อ 14)
3.5 เมื่อผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้ประทับรับรองเวลาจาก
สพธอ. ซึ่งจัดส่งผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email) แล้ว ให้ถือว่า ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นั้นได้จัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการแล้ว ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
มีหน้าที่ติดตามและตรวจสอบการได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ประทับรับรองเวลาจาก สพธอ.
แล้ว (ข้อ 15)
3.6
การจัดทำ ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้
ให้มีข้อความเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นี้ ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะต้องจัดเตรียมข้อความ
ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ ขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีสาระสำคัญครบถ้วนตาม
มาตรา 86/9 และมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร (ข้อ 16)
ให้นำความตามข้อ
3.1 3.2
3.3 และ 3.5
มาใช้บังคับกับใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10
แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยอนุโลม
3.7 การส่งข้อมูลใบเพิ่มหนี้ ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะต้องระบุข้อความ
ไว้ในชื่อเรื่องของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email) ที่ทำการจัดส่ง
เป็นข้อมูลประกอบด้วย “[วันเดือนปีที่ออกใบเพิ่มหนี้] [DBN]
[เลขที่ใบเพิ่มหนี้] [เลขที่ใบกำกับภาษีเดิม]” (ข้อ 17)
3.8 การส่งข้อมูลใบลดหนี้ ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จะต้องระบุข้อความ
ไว้ใน ชื่อเรื่องของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email) ที่ทำการจัดส่ง
เป็นข้อมูลประกอบด้วย “[วันเดือนปีที่ออกใบลดหนี้] [CRN]
[เลขที่ใบลดหนี้] [เลขที่ใบกำกับภาษีเดิม]” (ข้อ
18)
3.9 การยกเลิกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เดิมเพื่อออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ใหม่
ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จัดเตรียมข้อความของใบกำกับภาษีที่ประสงค์ทำการยกเลิกขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
โดยจัดให้มีข้อความว่า “ยกเลิก” ในข้อมูลของใบกำกับภาษีนั้น
และต้องระบุข้อความไว้ใน ชื่อเรื่องของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email) ที่ทำการจัดส่ง เป็นข้อมูลประกอบด้วย “[วันเดือนปีที่ออกใบกำกับภาษี]
[CIV] [เลขที่ใบกำกับภาษีเดิมที่ต้องการยกเลิก]” (ข้อ 19)
เมื่อดำเนินการยกเลิกขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จัดเตรียมข้อความของใบกำกับภาษีใหม่ขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
และต้องระบุข้อความไว้ในชื่อเรื่องของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำการจัดส่ง
เป็นข้อมูลประกอบด้วย “[วันเดือนปีที่ออกใบกำกับภาษี] [INV] [เลขที่ใบกำกับภาษีใหม่]
[เลขที่ใบกำกับภาษีเดิม]”
ให้นำความตามข้อ 3.2 ข้อ 3.3 และข้อ 3.5
มาใช้บังคับแก่โดยอนุโลม
3.10 ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งได้รับอนุมัติให้จัดทำ
ส่งมอบและเก็บรักษา ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ มีหน้าที่จัดทำและส่งมอบรายงานภาษีที่เกี่ยวข้องกับการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดทำขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ข้อ 20)
4.
การเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
4.1 ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่ได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ e-Tax Invoice by
Email ต้องเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวไว้ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
และถ้าได้เก็บรักษาในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าทได้มีการเก็บรักษาไว้ตามระเบียบกรมสรรพากรนี้แล้ว
(ข้อ 21)
4.1.1
ข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นั้นสามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง และ
4.1.2
ได้เก็บรักษาข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นั้นให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นอยู่ในขณะที่ได้รับข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นั้นจากระบบ e-Tax Invoice by
Email และ
4.1.3
ต้องเก็บรักษาข้อความส่วนที่ระบุถึงแหล่งกำเนิด ต้นทางที่สร้าง ส่ง
จำนวนใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่ง วัน เดือน ปี และเวลาที่ส่ง หน่วยงานที่ส่ง
และปลายทางของข้อมูล จำนวนใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลายทางได้รับ วัน เดือน ปี
และเวลาที่ได้รับข้อมูล
4.2 กรณีที่ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
รู้หรือควรได้รู้ว่ามีบุคคลอื่นใดใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email)
ของตนซึ่งใช้ในการจัดทำและส่งมอบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ตามระเบียบกรมสรรพากรนี้โดยมิชอบ
หรือมีการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email)
ของตนโดยมิชอบ ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นั้น
แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รู้หรือ ควรได้รู้เหตุแห่งการนั้น
ตามวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ข้อ 22)
5. การเปลี่ยนแปลง การยกเลิก
และการเพิกถอนการจัดทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์
5.1 กรณีผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์มีความประสงค์จะยกเลิกการใช้งานระบบ
e-Tax
Invoice by email ให้แจ้งยกเลิกตามวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ข้อ
23)
5.2 กรณีผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ถูกเพิกถอนการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจะทำการยกเลิกการใช้งานระบบ e-Tax Invoice by Email โดยทันที
(ข้อ 24)
5.3 กรณีผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามข้อ
6 ให้ผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นั้นไม่มีสิทธิในการออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ตามระเบียบนี้
นับถัดจากแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากอธิบดีกรมสรรพากรเป็นต้นไป (ข้อ 25)
กรณีผู้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ปฏิบัติไม่ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบกรมสรรพากรนี้
และมิได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในกำหนดเวลา 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากกรมสรรพากร
ให้ถือว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ตามระเบียบกรมสรรพากรนี้เมื่อพ้น 60 วัน
นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากอธิบดีกรมสรรพากรเป็นต้นไป