ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การเลิกกิจการ และการควบโอนกิจการ

บทความวันที่ 8 ม.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 45449 ครั้ง

การเลิกกิจการ และการควบโอนกิจการ


1. บทบัญญัติเกี่ยวกับการเลิกกิจการ และการควบโอนกิจการ  

การเลิกกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแตกต่างไปจากการควบโอนกิจการซึ่งในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลมีประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลิกและการควบโอนกิจการดังนี้

1.1 การเลิกกิจการ เป็นไปตามมาตรา 72 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เลิกกิจการย่อมไม่เกี่ยวพันกับนิติบุคคลอื่น เว้นแต่ในกรณีเป็นผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน โดยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลิกกิจการ

      (1) ให้ผู้ชำระภาษีและผู้จัดการมีหน้าที่ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานประเมิน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคผู้เลิกกิจการตั้งอยู่ทราบการเลิกของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับจดทะเบียนเลิก

           กรณีไม่ปฏิบัติตาม บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นอาจต้องเสียเงินภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย  

      (2) เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษี ให้ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้ผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการมีหน้าที่และความรับผิดร่วมกันในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี 

      (3) ในกรณีกิจการร่วมค้าที่เลิกกันโดยไม่มีการชำระบัญชี ให้ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ชำระบัญชี ร่วมกับผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งมีอำนาจจัดการตามที่กล่าวข้างต้น

1.2 กรณีควบหรือโอนกิจการเป็นไปตามมาตรา 73 แห่งประมวลรัษฎากร แบ่งเป็น

      กรณีที่ 1 การควบกิจการ หมายถึง การที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองกิจการขึ้นไปมาตกลงควบเข้ากัน โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ควบกิจการเข้าด้วยกันต้องเลิกกิจการไปทั้งหมด แล้วโอนกิจการให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อดำเนินกิจการต่อไป

      (1) เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษี ให้ถือว่าแต่ละบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งควบเข้ากันนั้นได้เลิกกัน และให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใหม่อันได้ควบเข้ากัน มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีแทนแต่ละบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งให้ถือว่าเลิกกันนั้น

      (2)  กรณีบริษัทจำกัดควบกิจการ ให้กรรมการของบริษัทนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่ มีหน้าที่และความรับผิดชอบเช่นเดียวกับผู้ชำระบัญชีในกรณีเลิกกิจการตามมาตรา 72 แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ มีหน้าที่แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมิน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคผู้เลิกกิจการตั้งอยู่ทราบการเลิกของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับจดทะเบียนเลิก มิฉะนั้นอาจต้องเสียเงินภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย

      กรณที่ 2 การโอนกิจการ หมายถึง การที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองกิจการขึ้นไปมาตกลงโอนกิจการให้แก่กัน โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่โอนกิจการทั้งหมดต้องเลิกกิจการ ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้รับโอนกิจการยังคงดำเนินกิจการต่อไป

      (1) เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษี ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้โอนกิจการนั้นได้เลิกกัน และให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอันได้รับโอนกิจการ มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีแทนแต่ละบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้โอนกิจการนั้น

      (2)  กรณีบริษัทจำกัดโอนกิจการ ให้กรรมการของบริษัทที่รับโอน มีหน้าที่และความรับผิดชอบเช่นเดียวกับผู้ชำระบัญชีในกรณีเลิกกิจการตามมาตรา 72 แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ มีหน้าที่แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมิน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคผู้เลิกกิจการตั้งอยู่ทราบการเลิกของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับจดทะเบียนเลิก มิฉะนั้นอาจต้องเสียเงินภาษีเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย

 

2. การโอนกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียน ในทางภาษีมูลค่าเพิ่ม

ในทางภาษีมูลค่าเพิ่มมีประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการโอนกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนดังนี้

2.1 ผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้โอนและผู้รับโอนกิจการต้องแจ้งการโอนต่อเจ้าพนักงานสรรพากร ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาท้องที่ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งอยู่ให้ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันโอนกิจการ ตามมาตรา 85/13 แห่งประมวลรัษฎากร

2.2 สินค้าที่มีอยู่ ณ วันโอนกิจการถือเป็นการขาย เว้นแต่กรณีโอนกิจการทั้งหมดตามมาตรา 77/1 (8) แห่งประมวลรัษฎากร

 

3. การตีราคาทรัพย์สินกรณีเลิกกิจการ  

ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตีราคาทรัพย์สินที่มีอยู่ ณ วันเลิกกิจการให้เป็นตามราคาตลาดในวันเลิกกิจการนั้น ก่อให้เกิดผลในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้

3.1 กรณีทรัพย์สิน ณ วันเลิกมีราคาตลาดต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี ก่อให้เกิดผลขาดทุนจากการตีราคาทรัพย์สิน ให้นำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่เลิกกิจการนั้น

3.2 กรณีทรัพย์สิน ณ วันเลิกมีราคาตลาดสูงกว่ามูลค่าตามบัญชี ก่อให้เกิดผลกำไรจากการตีราคาทรัพย์สิน ให้นำไปถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่เลิกกิจการนั้น

เหตุผลที่กฎหมายกำหนดให้มีการดำเนินการดังเช่นที่กล่าวข้างต้น ก็เพื่อที่จะให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นมีส่วนได้ส่วนเสีย (Equity) ในกิจการตามจำนวนที่ควรจะเป็นอย่างแท้จริง เพราะในท้ายที่สุดหลังจากที่ได้เลิกการและมีการชำระบัญชีเสร็จสิ้นแล้ว กิจการต้องคืนทุนและจ่ายส่วนเกินทุน (ถ้ามี) ให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร

 

4. ตีราคาทรัพย์สินการควบกิจการหรือการโอนกิจการ  

ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกัน ให้ตีราคาทรัพย์สินที่มีอยู่ ณ วันเลิกกิจการให้เป็นตามราคาตลาดในวันเลิกกิจการนั้น ก่อให้เกิดผลในทางภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้

4.1 สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องจดทะเบียนเลิกกิจการเพราะการควบกิจการหรือโอนกิจการ ให้ตีตามราคาตลาดในวันที่ควบเข้ากัน แต่ไม่ให้ถือว่าราคาดังกล่าวเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมอันได้ควบกิจการหรือโอนกิจการนั้น ซึ่งมีเหตุผลในทางภาษีอากรและธุรกิจเช่นเดียวกับกรณีเลิกกิจการทั่วไป ที่จำเป็นต้องคำนวณหาส่วนได้ส่วนเสีย (Equity) ของผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน ในอันที่จะเข้าร่วมในกิจการที่ได้ตั้งขึ้นใหม่จากการควบกิจการ หรือในกิจการที่ได้รับโอนกิจการ

4.2 สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใหม่อันเกิดแต่การที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบกิจการเข้าด้วยกัน หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้รับโอนกิจการ

      (1) ให้ถือราคาของทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ปรากฏในบัญชีของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมในวันที่ควบเข้ากันเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ จนกว่าจะได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป ทรัพย์สินรายการใดมีสิทธิหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมใช้อยู่เพียงเท่าที่ระยะเวลาและมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่สำหรับทรัพย์สินนั้นเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากในทางกฎหมายให้ถือเสมือนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้เลิกกิจการเพราะเหตุของการควบกิจการหรือโอนกิจการนั้นยังคงประกอบกิจการต่อเนื่องไป (Going Concern Assumption)

           อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการในทางบัญชีให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใหม่อันเกิดแต่การที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบกิจการเข้าด้วยกัน หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้รับโอนกิจการ ผู้ซึ่งรับโอนทรัพย์สินยังคงบันทึกรายการทางบัญชีเกี่ยวกับทรัพย์สินที่รับโอนตามราคาตลาดที่ได้ตกลงรับโอนมา และคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินตามราคาตลาดที่ได้ตกลงรับโอนกันนั้นในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางบัญชี แล้วทำการปรับปรุงรายการที่แตกต่างจากหลักเกณฑ์ทางภาษีอากรตามมาตรา 74(1)(ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 ต่อไป

           (ก) กรณีทรัพย์สินที่รับโอนมีราคาตลาดต่ำกว่าราคาทางบัญชี ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของมูลค่าต้นทุนในส่วนเกินกว่าราคาตลาดที่ได้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร ต้องถูกปรับปรุงกลับมาเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินนั้น

           (ข) กรณีทรัพย์สินที่รับโอนมีราคาตลาดสูงกว่าราคาทางบัญชี ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของมูลค่าต้นทุนในส่วนเกินกว่าราคาทางบัญชีที่ได้ปรับปรุงบวกกลับ โดยไม่ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร ต้องถูกปรับปรุงกลับมาเป็นรายจ่ายหรือต้นทุนของทรัพย์สินในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินนั้น

      (2) ห้ามมิให้นำผลขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ

 

5. การยกเว้นภาษีอากรสำหรับการโอนกิจการทั้งหมด

ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 มีบทบัญญัติที่กำหนดให้ยกเว้นภาษีอากรสำหรับการโอนกิจการทั้งหมดดังนี้

5.1 สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล

      “มาตรา 5 สัตตรส ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมด ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนและการโอนหุ้นที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมด

      การควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 542) พ.ศ. 2555 ใช้บังคับวันที่ 19 กันยายน 2555 เป็นต้นไป)

5.2 สำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะ

      “มาตรา 5 โสฬส ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ เฉพาะการโอนอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัดควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 330) พ.ศ. 2541 ใช้บังคับ 17 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไป)

5.3 สำหรับอากรแสตมป์

      มาตรา 6  ให้ยกเว้นอากรแสตมป์ ตามหมวด 6 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร แก่...

            “(31) ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เฉพาะกรณีที่ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 357) พ.ศ. 2542 ใช้บังคับ 2 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไป)

5.4 สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

      ตามข้อ 2 (50) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 291 (พ.ศ. 2555) ใช้บังคับตั้งแต่ 14 กันยายน 2555 เป็นต้นไป กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการที่ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน โดยโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นในบริษัทใหม่อันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทผู้รับโอนกิจการทั้งหมด ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน และการโอนหุ้นที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมด

5.5 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากัน หรือโอนกิจการทั้งหมด ให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร

      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 โสฬส มาตรา 5 สัตตรส และมาตรา 6 (31) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 และข้อ 2 (50) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากร ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันจึงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงดังกล่าว ไว้ดังต่อไปนี้  

      การควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัดหรือบริษัทจำกัด จะต้องมีลักษณะและหรือเงื่อนไขดังต่อไปนี้

      (1) ต้องเป็นการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัท มหาชน จำกัด และบริษัทจำกัด ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

      (2) ให้บริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด อันได้ตั้งขึ้นใหม่ด้วย ควบเข้ากันนั้น และบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัดผู้รับโอน แจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้น และมูลค่าหุ้น ตามทะเบียนหุ้นทั้งของต่างบริษัทที่ควบเข้ากัน บริษัทที่ตั้งใหม่ บริษัทผู้โอน และบริษัทผู้รับโอน ต่ออธิบดีกรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่ กรณีควบ หรือนับแต่วันจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรณีโอน ตามแบบที่อธิบดีกำหนด ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด อันได้ตั้งขึ้นใหม่ด้วย ควบเข้ากัน และบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด ผู้รับโอน แล้วแต่กรณี

      (3) บริษัทที่ควบเข้ากัน และบริษัทผู้โอนหรือผู้รับโอนจะต้องไม่เป็นลูกหนี้ภาษีอากรค้างของกรมสรรพากร ณ วันที่ควบหรือวันที่โอน เว้นแต่ได้จัดให้มีธนาคารหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ภาษีอากรค้างและค่าใช้จ่ายในการบังคับหนี้ดังกล่าวแล้ว

      (4) กรณีการโอนกิจการให้แก่กัน บริษัทผู้โอนกิจการต้องจดทะเบียนเลิกและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น

      (5) ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากร ให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย

      กำหนดให้แบบต่อไปนี้เป็นแบบสำหรับการแจ้งรายการกรณีการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร

      (1) แบบ ค.อ.1 แบบแจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้นและแจ้งการเป็นลูกหนี้ค่าภาษีอากรสำหรับการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด

      (2) แบบ ค.อ.2 แบบแจ้งรายชื่อบริษัทที่ควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด

      (3) แบบ ค.อ.3 แบบแจ้งรายชื่อผู้ถือหุ้นสำหรับการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด

      (4) แบบ ค.อ.4 แบบแจ้งการเป็นลูกหนี้ค่าภาษีอากรสำหรับการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัด  


ตัวอย่างแนวคำตอบข้อหารือของกรมสรรพากร

เลขที่หนังสือ  : 0702/663 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557

เรื่อง    : ภาระภาษีอากร กรณีการโอนกิจการทั้งหมด

ข้อกฎหมาย    : มาตรา 74 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ       

1. กลุ่มบริษัทฯ ได้รับสินเชื่อจากธนาคารฯ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์) โดยเงื่อนไขหนึ่งของการรีไฟแนนซ์ กำหนดให้บริษัทในกลุ่มโอนกิจการทั้งหมดรวมถึงที่ดินและอาคารที่มีมูลค่าสูงของบริษัท เอ็ม (บริษัทผู้รับโอน) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนตั้งขึ้นใหม่ให้เป็นเจ้าของโรงแรมและเป็นผู้กู้เงินจากธนาคารฯ บริษัทฯ อื่น ๆ ในเครือได้ดำเนินการจดทะเบียนเลิกกิจการต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เรียบร้อยแล้วในปี 2554 เช่นกัน

2. บริษัท เอ็ม และบริษัท ดี บริษัทในเครือซึ่งมีรอบระยะเวลาบัญชีปกติ ๑ มกราคม ถึง ๓๑ ธันวาคม ได้ยื่นแบบคำขอโอนกิจการทั้งหมด (แบบ คอ. ๑ - ๔) ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ๑๔ และสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ๑๔ ได้ออกหนังสือแจ้งการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทดังกล่าวไปยังกรมที่ดินเพื่อประกอบการยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

3. บริษัท เอ็ม และบริษัท ดี บริษัทในเครือได้โอนกิจการที่ดินและอาคารทั้งหมดให้แก่บริษัทผู้รับโอนแล้วในปี 2554

4. รายการคงเหลือในงบดุล ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนกิจการ ที่มิได้โอนไปยังบริษัทผู้รับโอน สรุปได้ดังนี้

    4.1 ลูกหนี้กรมสรรพากร เช่นสิทธิในการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเกิดจากรายการค้าก่อนวันโอนกิจการ

    4.2 เงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า ประปา

    4.3 ลูกหนี้การค้าและเจ้าหนี้การค้า สำหรับรายการค่าเช่าอุปกรณ์ เครื่องมือระหว่างบริษัทในเครือ ซึ่งได้ชำระเสร็จสิ้นแล้วระหว่างชำระบัญชี

    4.4 เจ้าหนี้ค่าวิชาชีพสอบบัญชี

    4.5 มูลหนี้ตามกฎหมายสำหรับมูลค่าทรัพย์สินและหนี้สินตามสัญญาโอนกิจการทั้งหมดที่บริษัทผู้รับโอนกิจการต้องชำระให้แก่บริษัทผู้โอนกิจการ อันเนื่องมาจากการตีราคาตลาดในการโอนกิจการทั้งหมด

กลุ่มบริษัทฯ จึงหารือดังนี้

1. กรณีบริษัท เอ็ม บริษัท ดี จำกัด และบริษัทอื่นๆในเครือ ได้โอนกิจการตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเข้าลักษณะเป็นการโอนกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีอากร ตามมาตรา 5 โสฬส มาตรา 5 สัตตรส และมาตรา 6 (31) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่

2. กรณีบริษัทผู้โอนมีทรัพย์สินและหนี้สินคงเหลือ ณ วันที่มีการโอนกิจการทั้งหมดที่บริษัทไม่ได้โอนให้กับผู้รับโอนกิจการ และเนื่องจากรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินเหล่านั้นเป็นสิทธิเฉพาะของผู้โอนกิจการ และเป็นรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินที่เกิดจากการดำเนินการที่เสร็จสิ้นก่อนวันโอนกิจการ ไม่เข้าลักษณะเป็นการขาย ตามบทนิยามของคำว่า "ขาย" ในมาตรา 77/1 (8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่

3. กรณีภายหลังบริษัทผู้โอนจดทะเบียนเลิกกิจการ และได้จ่ายเงินคืนให้ผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนเงินที่เกินกว่าเงินลงทุน ผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีอากรตามมาตรา 5 สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ประกอบกับข้อ 2 (50) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ถูกต้องหรือไม่

แนววินิจฉัย   

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

    กรณีบริษัทผู้โอนได้จดทะเบียนเลิกกิจการและมีการชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการโอนกิจการ แม้ยังไม่เสร็จการชำระบัญชีก็ตาม ทรัพย์สินที่บริษัทผู้โอนได้โอนให้กับบริษัทผู้รับโอนจะต้องตีราคาตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิก แต่ไม่ให้ถือราคาดังกล่าวเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของบริษัทผู้โอน ดังนั้น หากราคาตลาดนั้นสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาทุน ผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้น บริษัทผู้โอนไม่ต้องนำมาถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 74 (1) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

    การโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันระหว่างบริษัทผู้โอนกับบริษัทผู้รับโอน หากบริษัทผู้รับโอนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และบริษัทผู้โอนได้หยุดประกอบกิจการตั้งแต่วันโอนกิจการเป็นต้นไป แม้ว่าบริษัทผู้โอนจะไม่สามารถโอนบัญชีลูกหนี้และเจ้าหนี้คงเหลือบางรายการให้กับบริษัทผู้รับโอน แต่โดยที่บัญชีลูกหนี้และเจ้าหนี้คงเหลือนั้น เกิดจากการดำเนินกิจการที่เสร็จสิ้นก่อนวันโอนกิจการ การโอนกิจการดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการโอนกิจการทั้งหมดซึ่งไม่ถือเป็นการขายตามมาตรา 77/1 (8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทผู้โอนจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการโอนกิจการดังกล่าวแต่อย่างใด

3. ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์

    การโอนกิจการของกลุ่มบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามข้อ 2 (1) และ (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 ออกตามความในมาตรา 5 โสฬส มาตรา 5 สัตตรส มาตรา 6 (31) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 และข้อ 2 (50) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ แล้ว และหากบริษัทผู้โอนหรือบริษัทผู้รับโอน ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขอื่นตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฯ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 แล้ว การโอนอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามมาตรา 5 โสฬส และมาตรา 6 (31) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

4. กรณีผู้ถือหุ้น

    ผลประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้นได้รับจากการคืนทุนในส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร และการโอนกิจการของกลุ่มบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามข้อ 2 (1) และ (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด เพื่อยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 ออกตามความในมาตรา 5 โสฬส มาตรา 5 สัตตรส มาตรา 6 (31) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 และข้อ 2 (50) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ( พ.ศ. 2509) ฯ แล้ว และหากบริษัทผู้โอนหรือบริษัทผู้รับโอน ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขอื่นตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2542 แล้ว ผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2 (50) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับยกเว้ภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา ๕ สัตตรส แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500

    อนึ่ง การยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าว ใช้เฉพาะกับผลประโยชน์จากการคืนทุนในส่วนที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนซึ่งเกี่ยวข้องกับการโอนกิจการทั้งหมดเท่านั้น

เลขตู้   : 77/38869