ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ประมวลรัษฎากร ไม่รู้ไม่ได้แล้ว

บทความวันที่ 4 ม.ค. 2560  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 12744 ครั้ง

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481

1. เกริ่นนำ

        กฎหมายภาษีอากรสมัยใหม่ถูกบัญญัติขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร์ และรัฐบาลในขณะนั้น เพื่อความทันสมัยการบริหารแผ่นดิน และมีเงินรายได้ (Revenue) เพียงพอต่อการใช้จ่ายงบประมาณ เริ่มตั้งแต่ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พ.ศ. 2475 พระราชบัญญัติภาษีการค้า พ.ศ. 2475 พระราชบัญญัติอากรแสตมป์ พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและประกันภัย พ.ศ. 2476 ซึ่งใช้ควบคู่กันไปกับกฏหมายภาษีอากรดั้งเดิมของประเทศไทยที่มีต่อเนื่องมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาทิ พระราชบัญญัติเงินรัชชูปการ พ.ศ. 2468 พระราชบัญญัติลักษณะเก็บเงินค่านา พ.ศ. 2468 พระราชบัญญัติลักษณะการเก็บภาษีค่าที่ไร่อ้อย พ.ศ. 2464 พระราชบัญญัติเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษียา ร.ศ. 119 และ ประกาศพระราชทานยกเงินอากรสวนใหญ่ค้างเก่า และเดินสำรวจต้นผลไม้ใหม่ สำหรับเก็นเงินอากรสวนใหญ่ ร.ศ. 130 ตามที่มีการยกเลิกโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481

        การมีกฎหมายภาษีอากรที่มุ่งจัดเก็บภาษีอากรจากราษฎรหรือประชาชนหลายฉบับ เป็นสิ่งที่ไม่สะดวกในการบังคับใช้ และอาจสร้างความแตกต่างของมาตรฐานในการบริหารการจัดเก็นภาษีอากรได้ จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2481 โดยให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 หรือในอีก 1 ปีถัดมา เพื่อการเตรียมการใช้บังคับ และให้โอกาสแก่ประชาชนได้ศึกษาและรับทราบถึงเนื้อหาของกฎหมายภาษีอากรสมัยใหม่ทั้งหมด ในรูปของ "ประมวลรัษฎากร"

        คำว่า "รัษฎากร" มีรากศัพท์มาจากคำว่า "ราษฎร" สนธิกับคำว่า "อากร" โดยเปลี่ยนสระอา เป็นสระอะ ลดรูปเป็นไม้หันอากาศเพราะมีตัวสะกด ตัด "ร" และ "อ" ออก แล้วสนธิเข้ากัน เป็น "รัษฎากร" ซึ่งแปลว่า ภาษีอากรที่จัดเก็บจากราษฎรหรือประขาชน ดังนั้น "ประมวลรัษฎากร" จึงหมายถึง กฎหมายภาษีอากรที่จัดเก็บจากราษฎรในรูปพระราชบัญญัติหลายฉบับที่ถูกรวบรวมเข้ามาไว้เป็นกฎหมายฉบับเดียวในรูปของ "ประมวลกฎหมาย" หรือ ประมวลกฎหมายภาษีอากรทั้งหลายบรรดาที่จัดเก็บจากราษฎร

        เป็นธรรมเนียมปฏบัติของการตรา "ประมวลกฎหมาย" ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ที่กำหนดให้ต้องมี "พระราชบัญญัติให้ใช้" ซึ่ง "ประมวลรัษฎากร" ก็เป็นเช่นนั้นโดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ลำดับศักดิ์ของ "ประมวลรัษฎากร" จึงเทียบเท่ากับ "พระราชบัญญัต" หรือ "พระราชกำหนด" การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร จึงต้องแก้ไขด้วยกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์เท่ากัน คือ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร พ.ศ. .... หรือกฎหมายอื่นที่มีศักดิ์เทียยเท่าพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด เช่น ประกาศของคณะปฏิวัติ (ปว.) ประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นต้น  

 

2. รูปแบบของกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู้หัวทรงตราขึ้น

        2.1 มีคำว่า "พระราช" นำหน้าชื้อกฎหมาย เว้นแต่รัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดว่าด้วยการปกครองประเทศ เว้นคำว่า "พระราชนำหน้า" แต่ก็ต้องตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นเดียวกัน 

        2.2 ท้ายชื่อกฎหมาย ระบุปีพุทธศักราช ที่ทรงตรากฎหมายนั้น ซึ่งสัมพันธ์ปีที่ทรงขึ้นครองราชย์ โดยจะเปลี่ยนแปลงในทุกวันที่ 1 ของปีพุทธศักราชที่ทรงครองราชย์ เช่น ปีพุทธศักราช 2481 เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล หมายความว่า ทรงครองราชย์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2477 ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ ให้นับปีพุทธศักราชที่ทรงขึ้นครองราชย์เป็นปีที่ 1 เมื่อเปลียนปีพุทธศักราชก็ให้นับเป็นปีที่ 2 และนับเช่นนั้นในปีต่อๆ ไป

พระราชบัญญัติ

ให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร

พุทธศักราช 2481

-----------------------------------------

ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480)
อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ.เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2481
เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน

         2.3 โดยทั่วไปในการตรากฎหมายนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ตามพะราชบัญญัติให้ใช่บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 นั้น ผู้ที่ลงพระนาม ได้แก่ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ประกอบด้วย พลโท พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ พลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เนื่องจากในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ยังทรงพระเยาว์ และเสด็จนิวัติยังต่างประเทศ 

        2.4  เจตนารมย์ในการตรากฎหมาย จะแสดงไว้ที่หมายเหตุท้ายกฎหมายฉบับนั้น แต่สำหรับพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ได้แสดงไว้ที่ย่อ หน้าแรกของกฎหมาย 

        2.5 มาตราแรกของกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตราขึ้น โดยทั่วไปจะเป็น "ชื่อกฎหมาย" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร

        2.6 มีการระบุวันที่กฎหมายใช้บังคับโดยแสดงให้เห็นชัดแจ้งในกฎหมาย

        2.7 มีผู้สนองพระบรมราชโองการ ตามหลัก The King can do no Wrong. ซึ่งปกป้องพระมหากษัตริย์ที่จะไม่ทรงถูกฟ้องร้องบังคับดดี จากการบัญญัิตกฎหมย ได้แก่ 

             (1) นายกรัฐมนตรี สำหรับกฎหมายที่ว่าด้วยอำนาจในการบริการราชการแผ่นดิน

             (2) ประธานรัฐสภา สำหรับกฎหมายที่ว่าด้วยอำนาจในทางนิติบัญญัติ

             (3) ปรธานศาลฎีกา สำหรับกฎหมายที่ว่าด้วยอำนาจในทางตุลาการ 

             (4) ประธานองคมนตรี สำหรับกฎหมายที่ด้วยองคมนตรี 

 

3. เจตนารมณ์ในการตรา "ประมวลรัษฎากร" 

        เจตนารมณ์ในการตรา "พระราชบัญญัติให้ใช่บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481" ปรากฏในวรรคแรกของพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ "สมควรตราประมวลรัษฎากร เพื่อปรับปรุงการรัษฎากรตามหลักความเป็นธรรมแก่สังคม" 

        3.1 หลักความเป็นธรรมแก่สังคม เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะภาษีอากรที่ดี ที่ประกอบด้วย

             (1) เป็นธรรม

             (2) แน่นอน

             (3) สะดวก

             (4) ประหยัด

             (5) อำนวนรายได้

             (6) เป็นกลางทางเศรษฐกิจ

             (7) ยืดหยุ่น 

        3.2 จึงเป็นที่ชัดเจนว่า การตราบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรนี้ขึ้นมา เพื่อความเป็นธรรมแก่สังคม การตีความ การบังคับใช้จึงต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายเท่านั้น

       

4. โครงสร้างพระราชบัญญัติให้ใช่บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 

พระราชบัญญัติให้ใช่บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 แบ่งออกเป้น 6 มาตรา ดังนี้ 

มาตรา 1 ชื่อกฎหมาย ซึ่งบัญญัติว่า กฎหมายนี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติให้ใช่บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481"

มาตรา 2 กำหนดวันที่ใช้บังคับกฎหมายฉบับนี้ โดยบัญญัติว่า ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2582 เป็นต้นไป

      เหตุที่ต้องกำหนดให้กฎหมายนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 หรืออีก 1 ปี ถัดจากวันที่ตรากฎหมาย นอกจากจะเป็นการเตรียการใช้บังคับแล้ว ในขณะนั้นการเปลี่ยปีของประเทศไทย (ปีใหม่) ให้ใช้วันที่ 1 เมษายนของทุกปี เรียกว่า "ปีปฏิทินหลวง" มีกำหนดเวลา 12 เดือน คือ นับแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม ของปีถ้ดไป

      ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 ไดมีการตราพระราชบัญญัติ ปีประดิทิน พ.ศ. 2483 ขึ้น โดยกำหนดให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเป็นวันเริ่มต้นปี ทั้งนี้ นับแต่ปี พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา ซึ่งได้มีการแก้ไข คำว่า "ปีภาษี" ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่เดิมบัญญัติให้หมายความว่า "ปีปฏิทินหลวง" เป็น "ปีประดิทิน" และคำว่า "เดือนภาษี" ตมมมาตรา 77 แห่งประมวลรัษฎากร ให้หมายความว่า "เดือนประดิทิน" นับแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 เป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน

มาตรา 3 กำหนดให้ใช้ประมวลรัษฎากรตามที่ตราไว้ต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้ เป็นกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 เป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 6 ว่าด้วยอากรแสตมป์นั้น ให้ใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2482 เป็นต้นไป หรือเป็นเวลาอีก 61 วัน ซึ่งช้ากว่าบทบัญญัติอื่นใดทั้งหลายในประมวลรัษฎากร

      สาเหตุที่หมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องใช้บังคับล่าช้าไปกว่าบทบัญญัติอื่นอีก 61 วัน นั้นเป็นผลมาจากตามมาตรา 4 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในอันที่จะออกกฎกระทรวง เพื่อให้ใช้หรือยกเลิกแสตมป์ โดยกำหนดให้นำมาแลกเปลี่ยนกับแสตมป์ที่ใช้ได้ ภายในเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด แต่ต้องให้เวลาไม่น้อยกว่าหกสิบวัน เนื่องจากในขณะนั้น มีการใช้บังคับตามพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ พ.ศ. 2475 อยู่ จึงจำเป็นที่ต้องมีการให้กำหนดเวลาในการนำแสตมป์เก่าตามพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ พ.ศ. 2475 มาแลกกับแสตมป์ใหม่ตามหมวด 6 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน ซึ่งกำหนดเวลาระหว่างวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 เป็นระยะเวลา 61 วัน ไม่น้อยกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว 

มาตรา 4 กำหนดให้ยกเลิกกฎหมายภาษีอากรทั้งกฎหมายดั้งเดิมและกฎหมายสมัยใหม่ที่บัญญัติขึ้นอีก 4 ฉบับดังนี่ 

      (1) พระราชบัญญัติเงินรัชชูปการ พ.ศ. 2468 ได้ถูกยกเลิกไปโดยเด็ดขาด กล่าวคือ นับแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 เป็นต้นไป ชายไทยทุกต้องเป็นทหาร ไม่สามารถผลัดผ่อนโดยการจ่ายเงินให้แก่ทางราชการตามอัตราที่กฎหมายกำหนด เพื่อยกเว้นการเกณฑ์ทหารได้อีกต่อไป  

      (2) พระราชบัญญัติลักษณะเก็บเงินค่านา พ.ศ. 2468 พระราชบัญญัติลักษณะการเก็บภาษีค่าที่ไร่อ้อย พ.ศ. 2464 พระราชบัญญัติเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษียา ร.ศ. 119 และ ประกาศพระราชทานยกเงินอากรสวนใหญ่ค้างเก่า และเดินสำรวจต้นผลไม้ใหม่ สำหรับเก็นเงินอากรสวนใหญ่ ร.ศ. 130 และบรรดาพิกัดอัตรา ข้อบังคับ กฎ ประกาศ และบทกฎหมายอื่น ซึ่งออกเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมหรือดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ถูกนำมาตราเป็น ลักษณะ 3 ภาษีบำรุงท้องที่ ตั้งแต่มาตรา 144 ถึงมาตรา 164 และบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่

      (3) พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ ถูกนำมาบัญญัติเป็นหมวด 3 ภาษีเงินได้ ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 38 ถึงมาตรา 76 และบัญชีอัตราภาษีเงินได้

      (4) พระราชบัญญัติภาษีการค้า พ.ศ. 2475 ถูกนำมาบัญญัติเป็นหมวด 4 ภาษีการค้า ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 77 ถึงมาตรา 93 และบัญชีอัตราภาษีการค้า

      (5) พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและประกันภัย พ.ศ. 2476 ถูกนำมาบัญญัติเป็นส่วนหนึ่งของหมวด 4 ภาษีการค้า ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 77 ถึงมาตรา 93 และบัญชีอัตราภาษีการค้า

      (6) พระราชบัญญัติอากรแสตมป์ พ.ศ. 2475 ถูกนำมาบัญญัติเป็นหมวด 6 อากรแสตมป์ ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 103 ถึงมาตรา 129

      นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มหมวด 5 ภาษีป้าย ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 84 ถึงมาตรา 102 และหมวด 7 อากรมหรสพ ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มาตรา 130 ถึงมาตรา 143 ขึ้นใหม่อีกด้วย

มาตรา 5 กำหนดบทเฉพาะกาลขึ้น เพื่อจัดเก็บภาษีอากรที่ได้ถูกยกเลิกไปตามมาตรา 4 ดังกล่าว โดยบัญญัติว่า

      “มาตรา 5 บรรดาพระราชบัญญัติ ประกาศ พิกัดอัตรา ข้อบังคับ กฎ และบทกฎหมาย ที่ให้ยกเลิกตามความในมาตรา 4 วรรคแรกนั้น ยังคงให้ใช้บังคับได้ในการเก็บภาษีอากรจำนวนพุทธศักราชต่าง ๆ ก่อนใช้ประมวลรัษฎากร

           ส่วนพระราชบัญญัติ พิกัดอัตรา ข้อบังคับ กฎ และบทกฎหมาย ที่ให้ยกเลิกตามความในมาตรา 4 วรรคสุดท้าย ก็ยังคงให้ใช้บังคับได้ในการเก็บอากร ที่จะพึงเรียกเก็บได้ก่อนใช้บทบัญญัติในลักษณะ 2 หมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร ว่าด้วยอากรแสตมป์”

มาตรา 6 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

 

5. บทสรุป

พระราชบัญญัติให้ใช่บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 นับกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อการตรา “ประมวลกฎหมาย” ฉบับแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงกาปกครอง และเป็นรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน สามารถนำไปปรับใช้กับประมวลกฎหมายฉบับอื่นๆ ได้ มีเจตนา เพื่อรวบรวมกฎหมายภาษีอากรทั้งหลายบรรดาที่จัดเก็บจากประชาชน ที่รวมเรียกว่า “ภาษีสรรพากร” มาบัญญัติรวมกันไว้เป็นกฎหมายเพียงฉบับเดียว โดยคำนึงถึงหลักภาษีอากรที่ดิ และนำลักษณะภาษีอากรที่ดีทั้งหลายมากำหนดเป็นเจตนรมณ์ของกฎหมาย และเป็นมาตรฐานในการบัญญัติและแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ความสำคัญของพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร คือ มาตรา 3 ที่กำหนดให้ใช้ประมวลรัษฎากรตามที่ตราไว้แต่ท้ายพระราชบัญญัติฯ เป็น "กฎหมาย" อันเป็นรูปแบบที่สำคัญของ "ประมวลกฎหมาย" ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นผลให้ประมวลรัษฎากร มีศักดิ์เป็น พระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังได้เห็นรอยต่อของกฎหมายภาษีอากรดั้งเดิม กับกฎหมายภาษีอากรสมัยใหม่ ที่ชัดเจนในปี พ.ศ. 2482 เป็นต้นมา