ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ

บทความวันที่ 30 ต.ค. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 77731 ครั้ง

รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ

 

     จากบทบัญญัติมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร อาจแยกพิจารณารายจ่ายการกุศลได้ดังนี้

     1. รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการกุศล แบ่งเป็น

          (1) รายจ่ายเพื่อการกุศลทั่วไปที่มิใช่รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณประโยชน์

          (2) รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์

          (3) รายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือรายจ่ายเพื่อการกีฬา

     2. รายจ่ายเพื่อการกุศลทั่วไป ที่มิใช่รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์หมายถึง รายจ่ายค่าการกุศล คือ รายจ่ายที่กิจการได้จ่ายไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น อาทิ การให้ทาน การช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ การช่วยเหลือเกื้อกูลแก่บุคคลทั่วไป การช่วยงานศพ งานบวช ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร

     3. รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์

          (1) รายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ ได้แก่ รายจ่ายในการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินที่จ่ายให้แก่หรือเพื่อกิจการดังต่อไปนี้

              (ก) รัฐบาล

              (ข) กระทรวง ทบวง กรม เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่นรัฐวิสาหกิจที่มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

                   การบริจาคเงินให้กรุงเทพมหานครเนื่องในดอกาสจัดนิทรรศการการทางการแพทย์และอนามัย เป็นการบริจาคเพื่อการกุศลสาธารณะตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0804/2015 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2520)

                   บริษัทฯ ผลิตโทรทัศน์ บริจาคเครื่องรับโทรทัศน์ให้แก่กรมประชาสัมพันธ์ เพื่อมอบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปติดตั้งที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการกุศลสาธารณะ (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/5234 ลงวันที่ 29 เมษายน 2529)

                   ยกที่ดินให้แก่ทางราชการเพื่อจัดสร้างสวนสาธารณะ ถือเป็นการบริจาคเพื่อการกุศลสาธารณะตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0804/1855 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2521)

              (ค) โรงพยาบาลของรัฐบาล หรือโรงพยาบาลขององค์การของรัฐบาล

              (ง) สภากาชาดไทย

              (จ) วัดวาอาราม

                   บริจาคเงินให้แก่โบสถ์คริสต์ ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0804/2040 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2525)

              (ฉ) มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด ให้เป็นองค์การสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

                   การที่บริษัทฯ บริจาคเงินให้แก่สมาคม ไม่ถือว่าเป็นกิจการบริจาคเพื่อการกุศลสาธารณะ เพราะสมาคมจัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ของกลุ่มสมาชิกของตนเท่านั้น ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถ้าบริจาคให้แก่สมาคมต่อต้านโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ถือเป็นรายจ่ายได้ร้อยละ 1 ของกำไรสุทธิ (ปัจจุบันเพิ่มเป็นร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ) (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0804/6939 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2515)

                   ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีรายชื่ออยู่ในเวบไซต์ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th/publish/29157.0.html หรือไม่ก็ตาม แต่ถ้ามีก็นับว่าปลอดภัยกว่า หรือแน่นอกว่า เพราะไม่ต้องพิสูจน์ความเป็นองค์การกุศลสาธารณะของหน่วยงานที่รับบริจาค นอกจากนี้รายชื่อองค์การกุศลดังกล่าว เป็นรายชื่อมูลนิธื สมาคม องค์การสาธารณกุศลที่บุคคลธรรมดาบริจาคแล้วสามารถนำเงินบริจาคมาหักลดหย่อนในการคำนวณเงินได้สุทธิตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากร เท่านั้น

              (ช) องค์การสาธารณกุศลอื่นๆ เช่น กิจการแพทย์หลวง (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0804/11050 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2519) องค์การยูนิเซฟ (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0802/10858 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2527)

          (2) รายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ ได้แก่ รายจ่ายที่จ่ายให้แก่หรือเพื่อกิจการดังต่อไปนี้

              (ก) การส่งเสริม อนุรักษ์ และรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนปละคุ้มครองสัตว์ป่า

              (ข) การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ

              (ค) การคุ้มครองและรักษาป่าสงวนแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ

              (ง) การส่งเสริม คุ้มครอง และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม และรักษาคุณภาพคุณภาพสิ่งแวดล้อม

              (จ) การควบคุม ป้องกัน แก้ไข ตลอดจนการลดและขจัดอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษหรือภาวะมลพิษและของเสียอันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

              (ฉ) กองทุนสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

              ทั้งนี้ รายจ่ายตาม (ก) ถึง (ฉ) ต้องเป็นรายจ่ายที่จ่ายให้แก่กิจการตามโครงการพระราชดำริ หรือของทางราชการ หรือองค์การของรัฐบาล หรือองค์การกุศลสาธารณะที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร (ข้อ 1 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 44))

     4. รายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือรายจ่ายเพื่อการกีฬา

         (1) รายจ่ายเพื่อการศึกษา ได้แก่ รายจ่ายในการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินที่จ่ายให้แก่หรือเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้

              (ก) สถานศึกษา หอสมุดหรือห้องสมุด หรือสถาบันวิจัย ทั้งนี้ เฉพาะของทางราชการ

              (ข) การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา เป็นการทั่วไป

              (ค) กระทรวง ทบวง กรม เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่นเพื่อสร้างสถานศึกษา หอสมุด หรือห้องสมุดของทางราชการ

              (ง) สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น และสถานศึกษาที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (เพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 54) ใช้บังคับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป)

          (2) รายจ่ายเพื่อการกีฬา

              (ก) การกีฬาแห่งประเทศไทย

              (ข) คณะกรรมการกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมกีฬาจังหวัด

              (ค) กรมพลศึกษา เพื่อการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน

              (ง) สมาคมกีฬาสมัครเล่นที่ได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (เพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 46) ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไป)

             บริษัทจ่ายเงินเป็นค่าโฆษณา โดยวิธีการมอบเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดี และมีความประพฤติดีในโรงเรียนต่างๆ การให้ทุนการศึกษาดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการโฆษณาบริษัทฯ จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ตามถ้าการให้ทุนการศึกษานั้น บริษัทฯ ได้ให้กับสถานศึกษาหรือองค์การกุศลสาธารณะตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ก็เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ บริษัทฯ ย่อมนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร  (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0804/4650 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2518)

     5. เงื่อนไขเกี่ยวกับการนำรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือรายจ่ายเพื่อสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือรายจ่ายเพื่อการกีฬา

          รายจ่ายเพื่อการสาธารณกุศล หรือรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ และรายจ่ายเพื่อการศึกษา หรือรายจ่ายเพื่อการกีฬา ให้หักได้อีกไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

          (1) ในกรณีที่กิจการมีผลขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร จะนำรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายไม่ได้

          (2) ในกรณีที่กิจการมีผลกำไรสุทธิทางภาษีอากร และมีรายจ่ายเพื่อการสาธารณกุศลหรือรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ เกินกว่าร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ โดยไม่มีรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือรายจ่ายเพื่อการกีฬา หรือมีแต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

   รายจ่ายเพื่อการสาธารณกุศลฯ = กำไรก่อนหักรายจ่ายเพื่อการสาธารณกุศลฯ x 2/102 

           (3) ในกรณีที่กิจการมีผลกำไรสุทธิทางภาษีอากร และมีรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือรายจ่ายเพื่อการกีฬา เกินกว่าร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ โดยไม่มีรายจ่ายเพื่อการสาธารณกุศล หรือรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ หรือมีแต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

  รายจ่ายเพื่อการศึกษา/การกีฬา = กำไรก่อนหักรายจ่ายเพื่อการสาธารณกุศลฯ x 2/102

          (4) ในกรณีที่กิจการมีผลกำไรสุทธิทางภาษีอากร และทั้งรายจ่ายเพื่อการสาธารณกุศลหรือรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษา หรือรายจ่ายเพื่อการกีฬาเกินกว่าร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

รายจ่ายเพื่อการสาธารณกุศลฯ  = กำไรก่อนหักรายจ่ายเพื่อการสาธารณกุศลฯ และรายจ่าย

                                         เพื่อการศึกษา/การกีฬา  x 2/104            

รายจ่ายเพื่อการศึกษา/การกีฬา = กำไรก่อนหักรายจ่ายเพื่อการสาธารณกุศลฯและรายจ่าย   

                                          เพื่อการศึกษา/การกีฬา  x 2/104