ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

หนังสือกรมสรรพากร เรื่อง การเปรียบเทียบโดยกำหนดค่าปรับ กรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร

บทความวันที่ 15 ต.ค. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 6501 ครั้ง

บันทึกข้อความ

ส่วนราชการ      กรมสรรพากร สำนักสืบสวนและคดี โทร.0-2272-8423

ที่  กค 0727/ว.5103              วันที่   22 มิ.ย.2559

เรื่อง การเปรียบเทียบโดยกำหนดค่าปรับ กรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร

เรียน  ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีกลาง

        ผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่

        สรรพากรภาค (ทุกภาค)

        สรรพากรพื้นที่ (ทุกพื้นที่)

        สรรพากรพื้นที่สาขา (ทุกพื้นที่สาขา)

                ด้วยได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 41) พ.ศ.2559 ซึ่งตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ยกเลิกความในมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2512 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา 35 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 17 มาตรา 50 ทวิ มาตรา 51 หรือมาตรา 69 เว้นแต่จะแสดงว่าได้มีเหตุสุดวิสัย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาทการที่กฎหมายกำหนดกรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร มีความผิดตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร เพิ่มเติม อาจทำให้มีกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร เกินกำหนดเวลาหรือไม่ยื่นบัญชีดังกล่าว และต้องมีการเปรียบเทียบโดยกำหนดค่าปรับตามมาตรา 3 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามมาตรา 69 บัญญัติว่า ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นรายการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามมาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ มาตรา 66 และมาตรา 67 เกี่ยวกับรายรับ รายจ่าย กำไรสุทธิและรายการอื่นๆ ต่อเจ้าพนักงานประเมินตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมด้วยบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับรายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว แล้วแต่กรณี”  ดังนั้น เพื่อให้การเปรียบเทียบโดยกำหนดค่าปรับเป็นไปโดยถูกต้องและเป็นแนวทางเดียวกัน กรมสรรพากรจึงกำหนดแนวทางให้หน่วยงานสรรพากรถือปฏิบัติ ดังนี้

                1. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ยื่นบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ถือเป็นความผิดสอบกระทง เนื่องจากการไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นการกระทำต่างหากจากการไม่ยื่นบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร

                2. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นแบบแสดงรายการภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่ยื่นบัญชีพร้อมแบบแสดงรายการดังกล่าวตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร หากยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร จึงยังไม่เป็นความผิดตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยังมีสิทธิที่จะยื่นบัญชีได้ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร

                3. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 68  แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร เกินกำหนดระยะเวลาหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี หรือยื่นแบบแสดงรายการตามาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร เกินกำหนดระยะเวลาหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แต่ไม่ยื่นบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นความผิดสองกระทงทั้งสองกรณี เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการและการยื่นบัญชีเป็นการกระทำต่างหากจากกัน

                4. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร และยื่นบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร เกินกำหนดระยะเวลาหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แต่ไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เปรียบเทียบปรับกระทงละ 1,000.-  บาท ส่วนมูลนิธิหรือสมาคมให้เปรียบเทียบปรับกระทงละ 500.- บาท

                5. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร และยื่นบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร เกินกำหนดระยะเวลาหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และเกินเจ็ดวันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ให้เปรียบเทียบปรับกระทงละ 2,000.- บาท ส่วนมูลนิธิหรือสมาคมให้เปรียบเทียบปรับกระทงละ 1,000.- บาท

                6. กรณีเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลรวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมไม่ยื่นแบบแสดงรายการตามมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ยื่นบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ให้เปรียบเทียบปรับกระทงละ 2,000.- บาท

                รายละเอียดอัตราค่าปรับปรากฏตามบัญชีอัตราการเปรียบเทียบโดยกำหนดค่าปรับตามมาตรา 3 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ส่งมาพร้อมนี้

                จึงเรียนมาเพื่อทราบ  และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดทราบเพื่อถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

 

 (นายประสงค์ พูนธเนศ)

อธิบดีกรมสรรพากร