ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีซื้อชื่อบริษัทผิด

บทความวันที่ 2 ต.ค. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 20989 ครั้ง

ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีซื้อชื่อบริษัทผิด

 

ตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร ได้บัญญัติเงื่อนไขเกี่ยวกับรายจ่ายต้องห้ามที่เป็นภาษีซื้อไว้ดังนี้ 

มาตรา 65 ตรี รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ...

      (6 ทวิ) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระหรือพึงชำระ และภาษีซื้อของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน เว้นแต่ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีซื้อของผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องเสียภาษีตามมาตรา 82/16 ภาษีซื้อที่ต้องห้ามนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/5 (4) หรือภาษีซื้ออื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา 

      ซึ่งได้แก่ มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2534 ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้ 
มาตรา 3 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำภาษีซื้อตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ 

1. ภาษีซื้อที่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม  

จากบทบัญญัติดังกล่าว อาจสรุปภาษีซื้อที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ได้ดังนี้  

1.1 ภาษีซื้อของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน

1.2 ภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (1)(2)(3) และ (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบด้วย

       1.2.1 กรณีตามมาตรา 82/5 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ กรณีไม่มีใบกำกับภาษีหรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ เว้นแต่จะเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตามข้อ 1 และข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) ดังต่อไปนี้ 

                "ข้อ 1 กรณีไม่มีใบกำกับภาษีตามมาตรา 82/5 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการไม่มีสิทธินำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษี

                ข้อ 2 กรณีมีใบกำกับภาษีแต่ไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อตามมาตรา 82/5 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้ประกอบการมีสิทธินำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

                        (ก) ใบกำกับภาษีถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย เช่น อัคคีภัย อุทกภัย หรือวาตภัย ซึ่งต้องมีหลักฐานทางราชการหรือหลักฐานอื่นที่เชื่อถือได้ว่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจริง และ

                        (ข) ผู้ประกอบการไม่สามารถขอใบแทนใบกำกับภาษีจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการได้ตามมาตรา 86/12 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไม่สามารถออกใบแทนใบกำกับภาษีได้เพราะเหตุสุดวิสัย"

       1.2.2 กรณีตามมาตรา 82/5 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ กรณีใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือ ไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามข้อ 3 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) ดังต่อไปนี้ 

                "ข้อ 3 กรณีมีใบกำกับภาษี และสามารถแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อไปจริงตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร ใบกำกับภาษีดังกล่าวต้องมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร"

       1.2.3 กรณีตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ กรณีภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ของผู้ประกอบการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) ดังต่อไปนี้ 

                "ข้อ 4 ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของผู้ประกอบการตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ ภาษีซื้อที่ไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ"

       1.2.4 กรณีตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ กรณีภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีตามส่วน 10 ได้แก่ กรณีตามมาตรา 86/1 และมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ 

                "มาตรา 86/1 ห้ามมิให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังต่อไปนี้ออกใบกำกับภาษี

                (1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร และได้ให้ตัวแทนของตนออกใบกำกับภาษีแทนตนตามมาตรา 86/2

                (2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ทรัพย์สินถูกนำออกขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นโดยบุคคลอื่นตามมาตรา 83/5

                (3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 83/6 (3)

                มาตรา 86/13 ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้ ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้

                บุคคลใดออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย บุคคลนั้นต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้นั้นเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน"

                นอกจากนี้ กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนดังต่อไปนี้ ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ ถือเป็นกรณีที่ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายด้วยเช้นเดียวกัน

                (1) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยไม่มีกิจกรรมที่อยู่ในข่ายทีต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มรองรับ หรือไม่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการจริง 

                (2) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยขายสินค้าหรือให้บริการแก่ผู่้ซื้อหรือผู้รับบริการรายหนึ่ง แต่ได้ใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ ให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการอีกรายหนึ่ง  

                (3) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยขายสินค้าหรือให้บริการชนิด หรือประเภทหนึ่งให้แก่ผู่้ซื้อหรือผู้รับบริการรายหนึ่ง แต่ได้ใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยแสดงเป็นสินค้าหรือบริการอีกชนิดหรือประเภทหนึ่ง 

 

2. ภาษีซื้อต้องห้ามที่ถือเป็นรายจ่ายได้

สำหรับภาษีซื้อต้องห้ามที่กำหนดยอมให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ได้แก่ 

2.1 กรณีตามมาตรา 82/5 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือ เพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกันตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) ดังต่อไปนี้ 

       "ข้อ 5 ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามมาตรา 82/5(4) แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

                (ก) ค่ารับรอง หรือค่าบริการไม่ว่าจะจ่ายเพื่อการรับรองหรือให้บริการแก่บุคคลใด ๆ และไม่ว่าจะอำนวยประโยชน์แก่กิจการหรือไม่ก็ตาม เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่ามหรสพ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกีฬา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

                (ข) ค่าสิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการตาม (ก) และบุคคลอื่น" 

2.2 กรณีตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ ภาษีซื้ออื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2534 ซึ่งตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 243) พ.ศ. 2524 ได้บัญญัติยอมให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำภาษีซื้อตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ

       สำหรับภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) ด้งต่อไปนี้ 

       "ข้อ 2 ภาษีซื้อดังต่อไปนี้ ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

                (1) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต

                        ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง และการให้บริการรับประกันวินาศภัยสำหรับรถยนต์ดังกล่าว

                (2) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 และมาตรา 86/7 แห่งประมวลรัษฎากร

                (3) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

                (4) ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้ขาย หรือให้เช่าหรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำภายในสามปีนับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ 

                (5) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งรายการตามมาตรา 86/4 (1) แห่งประมวลรัษฎากรมิได้ตีพิมพ์ขึ้น หรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ

                (6) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งรายการตามมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากรมิได้จัดทำขึ้นตามวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร

                (7) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา (copy) แต่ไม่รวมถึงใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับ และใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนามีข้อความว่า เอกสารออกเป็นชุดปรากฏอยู่ด้วย

                (8) ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร

                (9) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนนำไปใช้หรือจะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวใช้สิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด ทั้งนี้ ตามข้อ 3 (2) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อ ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535

                (10) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งรายการตามมาตรา 86/4 ได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง เว้นแต่รายการซึ่งได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 46/2537 ดังนี้ 

                        (ก) การแก้ไขที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษี พร้อมกับลงลายมือชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีกำกับการแก้ไข ทั้งนี้ เฉพาะใบกำกับภาษีที่ได้ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้าน ชื่อถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัด หรือได้ทำการแบ่งเขตถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัดใหม่

                        (ข) การแก้ไขที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษีด้วยวิธีการประทับตรายางที่อยู่ที่ถูกต้องเพิ่มเติม ทั้งนี้ เฉพาะใบกำกับภาษีที่ได้ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ทางราชการได้ประกาศเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้าน ชื่อถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัด หรือได้ทำการแบ่งเขตถนน หมู่บ้าน ตำบลหรือแขวง อำเภอหรือเขต หรือจังหวัดใหม่ 

                        (ค) การแก้ไขเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบกำกับภาษีพร้อมกับลงลายมือชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีกำกับการแก้ไข หรือประทับตรายางเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรที่ถูกต้องเพิ่มเติม ทั้งนี้ เฉพาะใบกำกับภาษีที่ได้ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่กรมสรรพากรได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรให้ใหม่

                (11) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์ที่มิใช่รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้มีการดัดแปลงรถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ทั้งนี้ เฉพาะที่ได้กระทำภายในสามปีนับแต่เดือนภาษีที่ได้รถยนต์ไว้ในครอบครอง

                        ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับการขายรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และการให้บริการเช่ารถยนต์ดังกล่าวของตนเองโดยตรง

                (12) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งรายการตามมาตรา 86/4(2) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้ตีพิมพ์ขึ้น หรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ 

                                    ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับสำหรับใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งได้เปลี่ยนสถานะจากรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตามที่มีกฎหมายจัดตั้ง ทั้งนี้ เฉพาะใบกำกับภาษีที่ได้ออกในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด

ดังนั้น กรณีใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีซื้อชื่อบริษัทผิด จึงไม่สามารถนำค่าภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เนื่องจากเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามปกติภาษีซื้อรายการดังกล่าวได้ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามที่บริษัทไม่มีสิทธินำไปถือเป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (2) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทฯ ประสงค์ที่จะใช้ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธิขอให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ให้ใหม่โดยปฏิบัติเกี่ยวกับการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิม ตามข้อ 24 และข้อ 25 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 86/2545 ดังนี้ 

         "ข้อ 24  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 22 ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จึงจะมีสิทธินำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

                กรณีเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้นำใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามวรรคหนึ่งไปถือเป็นภาษีซื้อแล้ว ถ้าเจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่ามีเหตุอันสมควรให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิม และนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมาให้ตรวจสอบภายในระยะเวลาที่กำหนด และผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมามอบให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

                กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคสอง ไม่สามารถนำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องมาให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับตามมาตรา 89(4) แห่งประมวลรัษฎากร ถ้าต่อมาผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องก็ยังคงมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติม ตามมาตรา 83/4 แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อขอคืนภาษีเป็นเงินสด แต่ต้องไม่เกินสามปีนับจากวันที่ได้มีการจัดทำใบกำกับภาษี

                กำหนดระยะเวลาตามวรรคสองต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจพบการกระทำความผิด

 

          ข้อ 25  ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 22 เมื่อได้รับการร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

                (1) เรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมและนำมาประทับตราว่า“ยกเลิก” หรือขีดฆ่า แล้วเก็บรวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม

                (2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลง วัน เดือน ปี ให้ตรงกับ วัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ

                (3) หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า “เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่แทนฉบับเดิมเลขที่ ... เล่มที่ ...” และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของเดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย

                 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จะต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ขอยกเลิกติดเรื่องไว้ด้วย"