ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

หักรายจ่ายสองเท่าสำหรับการลงทุนในทรัพย์สินตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559

บทความวันที่ 25 ก.ค. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 74085 ครั้ง

หักรายจ่ายสองเท่าสำหรับการลงทุนในทรัพย์สิน

 

ด้วยรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศของผู้ประกอบการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นเพิ่มขึ้นรวมทั้งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยให้นำมาถือเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้จ่ายไปภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา การลงทุนในทรัพย์สินประเภทใดบ้างที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของมูลค่าทรัพย์สิน

วิสัชนา ต้องเป็นการลงทุน โดยการซื้อ เช่าซื้อ สร้าง ก่อสร้าง เป็นต้น หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับทรัพย์สินดังต่อไปนี้

      (1) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์

      (2) โปรแกรมคอมพิวเตอร์

      (3) ยานพาหนะที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า

      (4) อาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย

      ทั้งนี้ ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนฯ ตามประกาศอธิบดี เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ปุจฉา คุณลักษณะของทรัพย์สินที่จะนำมาหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่ามีอย่างไร

วิสัชนา ทรัพย์สินจะนำมาหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่า ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

       (1) ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน

     "(2) เป็นทรัพย์สินที่นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยทรัพย์สินนั้นต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เว้นแต่ทรัพย์สินเฉพาะเครื่องจักรตามมาตรา 3 (1) และอาคารถาวรตามมาตรา 3 (4) ที่อาจได้มาหรืออยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ก็ได้"

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 622) พ.ศ. 2559)  

       (3) ต้องอยู่ในราชอาณาจักร เว้นแต่ยานพาหนะที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ

       (4) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

       (5) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่เป็นการนำไปใช้ในโครงการตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนจริงและเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิประโยชน์นั้น

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน อย่างไร 

วิสัชนา สำหรับทรัพย์สินที่เป็นส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และยานพาหนะที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น แล้วแต่กรณี ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559

        เนื่องจากทรัพย์สินบางประเภท เช่น เครื่องจักรและอาคารถาวร เป็นทรัพย์สินที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการติดตั้ง หรือก่อสร้าง สำหรับทรัพย์สินที่เป็นเครื่องจักร อาจได้มาหรืออยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ก็ได้

     และสำหรับอาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินดังนี้

       “(1) ต้องขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

             กรณีขออนุญาตหรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ไม่ว่าจะมีการขอต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารนั้นหรือไม่ก็ตาม ต้องมีการทำสัญาจ้าง ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะเดียวกันทั้งสิ้นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 โดยต้องไม่มีการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินตามใบอนุญาตดังกล่าวก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ

(2) ต้องแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
กรณีแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ต้องมีการทำสัญาจ้าง ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะเดียวกันทั้งสิ้นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 โดยต้องไม่มีการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินตามใบอนุญาตดังกล่าวก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ"

(ความใน (1) และ (2) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 300) ลงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560) หรือ

       (3) กรณีที่ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522  และกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522  จะต้องเกิดจากสัญญาจ้าง ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น แล้วแต่กรณี ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

(ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 270))

       การลงทุนในทรัพย์สินประเภทอาคารถาวร ไม่รวมถึงการลงทุนในทรัพย์สินโดยการซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินนั้นมา

ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาการหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของมูลค่าทรัพย์สินอย่างไร

วิสัชนา ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจริงตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 โดยให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นสำหรับระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันตามระยะเวลาดังนี้

       (1) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ หรือ และ ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยสำหรับระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน

       (2) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยสำหรับระยะเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน

       (3) ยานพาหนะที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า ให้ยกเว้นสำหรับระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน

       (4) อาคารถาวร ให้ยกเว้นสำหรับระยะเวลายี่สิบรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกำหนดเวลาการเริ่มใช้สิทธิหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของมูลค่าการลงทุนในทรัพย์สินอย่างไร 

วิสัชนา ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสองเท่าของมูลค่าการลงทุนในทรัพย์สิน โดยเริ่มใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้

       (1) กรณีทั่วไปนอกจาก (2) ให้เริ่มใช้สิทธิยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

       (2) กรณีที่นำทรัพย์สินตามข้อ 1 ไปใช้ในโครงการที่มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนจริงและเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิประโยชน์นั้น ให้เริ่มใช้สิทธิยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีถัดจากรอบระยะเวลาบัญชีที่สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนสิ้นสุดลง โดยถือเสมือนเป็นการใช้สิทธิยกเว้นเช่นเดียวกับกรณี (1) และให้ถือว่าการเริ่มใช้สิทธิยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว เป็นการเริ่มใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแทนการเริ่มต้นใช้สิทธิยกเว้นตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำรายงานแสดงรายละเอียดของทรัพย์สินเพื่อการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน ที่ใช้สิทธิหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของมูลค่าการลงทุนในทรัพย์สิน อย่างไร 

วิสัชนา ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของมูลค่าการลงทุนในทรัพย์สิน ต้องจัดทำรายงานแสดงรายละเอียดของทรัพย์สินที่ใช้สิทธิยกเว้นนั้น โดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อย ตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ และเก็บรักษารายงานดังกล่าว รวมทั้งเอกสารประกอบการลงรายการในรายงานไว้ ณ สถานประกอบการ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

       ทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องมีอยู่ในทะเบียนทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือเอกสารอื่นใดในทำนองเดียวกันที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดทำขึ้น

ปุจฉา กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้โดยหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของมูลค่าการลงทุนในทรัพย์สินตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 แล้ว ต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จะมีผลอย่างไร 

วิสัชนา กรณีเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลง และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น เว้นแต่กรณีที่มีการขายทรัพย์สินหรือทรัพย์สินถูกทำลายหรือสูญหายหรือสิ้นสภาพ ให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ขายทรัพย์สินหรือทรัพย์สินนั้นถูกทำลายหรือสูญหายหรือสิ้นสภาพ แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ที่ได้รับแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิอีก

ปุจฉา ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่จ่ายเพื่อการลงทุนหรือต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม เรียนสอบถามอาจารย์ สาระสำคัญของทรัพย์สินดังประกาศคือ ต้องเกิดจากสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงที่กระทำตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เท่านั้นหรือไม่

      1. กรณีบริษัทฯ เปิดใบสั่งซื้อโต๊ะ วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 แต่ได้โต๊ะในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 สามารถได้สิทธิประโยชน์ของประกาศฉบับนี้หรือไม่

      2. บริษัทฯ มีเครื่องจักรระหว่างติดตั้ง โดยทำสัญญาซื้อเครื่องจักร วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 มีระยะเวลาติดตั้งและ test run ระบบ 90 วัน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 บริษัทฯ เริ่มใช้งานเครื่องจักร จึงมีการโอนปิดงานระหว่างติดตั้งเข้าเป็นทรัพย์สินเพื่อคิดคำนวณค่าเสื่อมราคา บริษัทฯจะได้สิทธิประโยชน์ประกาศฉบับนี้หรือไม่

      3. บริษัทฯ ประกอบอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ 1 เครื่อง โดยประกอบไปด้วย เครื่องมือ และอะไหล่ เป็นส่วนประกอบ โดยเครื่องมือบริษัทฯ สั่งซื้อจากsupplier ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 และเบิกอะไหล่ spare part ใน stock ของบริษัทฯ เพื่อมาประกอบอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ดังกล่าว รายการอะไหล่ spare part เป็น stock เก่าของบริษัทฯ บริษัทฯจะได้สิทธิประโยชน์ประกาศฉบับนี้หรือไม่

      มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกำหนดเวลาการเริ่มใช้สิทธิหักเป็นรายจ่ายได้สองเท่าของมูลค่าการลงทุนในทรัพย์สินอย่างไร

วิสัชนา สาระสำคัญของทรัพย์สินตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับดังกล่าว คือ ต้องมีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นระหว่าง 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เท่านั้น ทั้งนี้ ตามพะราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) 

      1. สำหรับทรัพย์สินที่เป็นเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และยานพาหนะที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น แล้วแต่กรณี

      2. สำหรับอาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่มีการขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร และได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามคำขอนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว

      3. การจ่ายเงิน และ

      4. การเริ่มต้นคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา

      ดังนั้น กรณีตามคำถามข้อ 1 และข้อ 2 บริษัทฯ ไม่สามารถได้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายดังกล่าว  เพราะบริษัทฯ ได้ทำสัญญาซื้อเครื่องจักรก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558  สำหรับรายการอะไหล่ spare parts เป็น stock เก่าของบริษัทฯ ย่อมไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายดังกล่าว เพราะบริษัทฯ ได้ spare parts มาก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558

ปุจฉา รบกวนสอบถามว่า

      1. กรณีที่ใน 1 รหัสทรัพย์สิน ประกอบด้วยการซื้อหลาย ๆ ครั้ง และการซื้อนั้นไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดทั้งหมด สามารถนำบางส่วนมาใช้ได้หรือไม่

      2. กรณีที่ใน 1 รหัสทรัพย์สิน ประกอบด้วยการซื้อ และ การเบิกจาก stock รายการเบิกจาก stock ไม่สามารถนำมา Match กับใบเสร็จรับเงินที่ซื้อของดังกล่าวมาได้ ทรัพย์สินดังกล่าว จะใช้สิทธิประโยชน์ แค่บางส่วนเท่าที่สามารถพิสูจน์การจ่ายเงินได้หรือไม่ เช่น ซื้อเครื่องจักร จากผู้จำหน่ายภายนอกมา 5,000,000 บาท เบิกของอุปกรณ์ต่างๆจาก Stock มา 100,000 บาท รวมทรัพย์สินรายการนี้มีมูลค่า 5,100,000 บาท จะนำเฉพาะรายการ 5,000,000 บาท มาใช้สิทธิประโยชน์ 2 เท่า ได้หรือไม่

      3. การคำนวณสิทธิประโยชน์ เช่น เครื่องจักร อายุงาน 10 ปี จำนวนเงินที่นำมาใช้สิทธิประโยชน์คือ 5,000,000 บาท ให้นำ 10 ปี มาหาร ได้เลย คือ ตกปีละ 500,000 บาท ปี 2558 ก็ใช้สิทธิประโยชน์ได้ 500,000 บาท โดยไม่สนใจระยะเวลาใช่หรือไม่ เช่นปี 2558 ช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดคือ เริ่ม 3.11.2558

วิสัชนา:

      1. กรณีที่ใน 1 รหัสทรัพย์สิน ประกอบด้วยการซื้อหลาย ๆ ครั้ง และการซื้อนั้นไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดทั้งหมด ถ้าเป็นทรัพย์สินชิ้นเดียวกัน หรือเครื่องเดียวกัน จะไม่สิทธิตามกฎหมายดังกล่าว 

      2. กรณีที่ใน 1 รหัสทรัพย์สิน ประกอบด้วยการซื้อ และ การเบิกจาก stock รายการเบิกจาก stock หากจัดซื้อมาในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ย่อมสามารถนำมา Match กับใบเสร็จรับเงินที่ซื้อของดังกล่าวมาได้ เช่น ซื้อเครื่องจักร จากผู้จำหน่ายภายนอกมา 5,000,000 บาท เบิกของอุปกรณ์ต่างๆจาก Stock มา 100,000 บาท รวมทรัพย์สินรายการนี้มีมูลค่า 5,100,000 บาท หาก บริษัทฯ ได้จัดซื้อ Stock มาในช่วงเลาดังกล่าว ก็ย่อมใช้สิทธิประโยชน์ 2 เท่า ได้เต็มจำนวนทั้ง 5,100,000 บาท แต่ถ้าบริษัทฯ ได้จัดซื้อ Stock มาก่อนระยะเวลาดังกล่าว บริษัทฯ ก็จะไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายดังกล่าวได้เลย ซึ่งน่าเสียดายมาก   

      3. การคำนวณสิทธิประโยชน์ เช่น เครื่องจักร อายุงาน 10 ปี จำนวนเงินที่นำมาใช้สิทธิประโยชน์คือ 5,000,000 บาท ให้นำ 5 ปี มาหาร ได้เลย คือ ตกปีละ 1,000,000 บาท ใช้สิทธิประโยชน์ได้ 1,000,000 บาท ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2558 ได้เลย โดยไม่คำนึงถึงระยะเวลาการได้มาซึ่งทรัพย์ ที่ใช้ในการคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา




พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604)

พ.ศ. 2559

------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

เป็นปีที่ 71 ในรัชกาลปัจจุบัน