ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ปัญหาการยกเว้น และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล “วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)”

บทความวันที่ 2 ต.ค. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 3892 ครั้ง

ปัญหาการยกเว้น และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

 

ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็น “วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม”  (SMEs) ให้มีการจัดทำบัญชีและงบการเงินที่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และวางแผนการดำเนินธุรกิจและสร้างความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการหรือธุรกิจอันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ อีกทั้งจะเป็นสิ่งสะท้อนสภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง จึงได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 ลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล “วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม”  (SMEs) สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีตามที่กำหนด เพื่อเป็นการจูงใจแก่วิสาหกิจดังกล่าวในการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

1. ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งจัดตั้งขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 และมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิดังต่อไปนี้

    (1) กำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

    (2) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกินสามแสนบาทแรก สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

2. ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 (2) และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละสิบของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

3. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิในการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 1 และข้อ 2 ดังกล่าวข้างต้น (มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558) ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (มาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558)

    (1) ไม่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินห้าล้านบาทและไม่มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินสามสิบล้านบาท

    (2) ได้จดแจ้งเป็นผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

    (3) ไม่ถูกเพิกถอนการได้รับยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

    ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดนิยามศัพท์ของคำว่า “ขาย” “สินค้า” และ “บริการ” ไว้ดังนี้

    “ขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอน ไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

   “สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น

   “บริการ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า 

   ดังจะเห็นได้ว่า บทนิยามดังกล่าว สอดคล้องกับบทบัญญัติตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อให้สิทธิประโยชน์ โดยการยกเว้นและอราาษี

   มีปัญหาว่า คำว่า “รายได้จากการขายสินค้า” และ “รายได้จากการให้บริการ” กินความแค่ไหนเพียงใด ดังนั้น เพื่อความกระจ่างชัดในเรื่องนี้ จึงนำประเด็นดังกล่าวมาวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การตีความว่า รายได้ในส่วนที่เป็นกำไรจากการขายหลักทรัพย์หรือหุ้นที่มีไว้เพื่อการลงทุนเป็นรายได้ที่นับรวมอยู่ในเงื่อนไขรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เกินสามสิบล้านบาท

 

1. คำว่า “รายได้จากการขายสินค้า” และ “รายได้จากการให้บริการ”

1.1 จากนิยามศัพท์คำว่า “ขาย” และคำว่า “สินค้า” อาจจำกัดความคำว่า “รายได้จากการขายสินค้า” ได้ดังนี้  

      “รายได้จากการขายสินค้า” หมายถึง รายได้จากการขายสินค้า ที่เป็นทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ ดังต่อไปนี้

      (1) การจำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้าที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน

      (2) สัญญาให้เช่าซื้อสินค้าที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น

      (3) สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว หรือ

      (4) การส่งสินค้าที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น ออกนอกราชอาณาจักร

1.2 คำว่า “รายได้จากการให้บริการ” หมายถึง รายได้จากการกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

      คำว่า “บริการ” นั้น กฎหมายมุ่งที่จะให้พิจารณาเฉพาะประเด็นการให้บริการเท่านั้น จึงย่อมไม่ใช่การตีความอย่างแคบว่า หากไม่ใช่การขายสินค้าที่มีเพื่อขาย ก็ให้ถือเป็นการให้บริการทั้งสิ้น แม้ธรรมชาติการกระทำนั้น จะไม่ใช่การให้บริการก็ตาม หากแต่เป็นกฎหมายพิเศษที่มุ่งเน้นการให้บริการอย่างแท้จริง โดยเฉพาะตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 ที่มุ่งเน้นวัตถุประสงค์ในอันที่จะเป็นการจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมดังกล่าวในการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร 

      จากนิยามคำว่า "บริการ" อาจจำแนกรายได้จากการให้บริการได้ดังนี้ 

      1.2.1 รายได้จากการให้บริการโดยแท้ อาทิ รายได้จากการรับทำงานให้ หรือจากการรับเป็นนายหน้าตัวแทน รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน รายได้จากวิชาชีพอิสระ (ได้แก่ การประกอบโรคศึลปะ กฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี และประณีตศิลปกรรม) รายได้จากการรับเหมาที่ต้องจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ รายได้จากการให้บริการทางธุรกิจทั้งหลาย เช่น การประกอบกิจการโรงแรมภัตตาคาร การถ่าย ล้าง อัดหรือขยายรูป ภาพยนตร์ การตัด เย็บ ถัก ปักเสื้อผ่าหรือสิ่งอื่นๆ การทำ ตกแต่ง หรือซ่อมแซมเครื่องเรือน การดัด ตัด แต่งผมหรือตกแต่งร่างกาย การประกอบกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน การขนส่งหรือรับจ้างด้วยยานพาหนะ การทำบล็อก และตราย่าง การรับพิมพ์ หรือเย็บสมุด เอกสาร การซักรีดหรือย้อมสื การจัดการแสดงภาพยนนตร์ ละครเวที ละครวิทยุหรือโทรทัศน์ การขับร้อง ดนตรี การแข่งขันกีฬาอาชีพ เป็นต้น 

      1.2.2 การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า เช่น 

                (1) รายได้ค่าดอกเบี้ยที่ได้จากการนำเงินทุน เงินกู้ยืม เงินเพิ่มทุน หรือเงินอื่นที่เหลืออยู่ไปฝากธนาคารหรือซื้อตั๋วเงินของสถาบันการเงินอื่น โดยได้รับดอกเบี้ยตามอัตราปกติ 

                (2) รายได้จากเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไร จากการลงทุนถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม  

1.3 ดังนั้น รายได้เนื่องจากกิจการดังต่อไปนี้ ย่อมไม่อยู่ในส่วนของรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการจำนวน 30 ล้านบาทต่อรอบระยะเวลาบัญชี

      1.3.1 รายได้จากการขายทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิใช่การขายสินค้า ไม่ว่าจะมีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่าง ได้แก่ กำไรจากการขายทรัพย์สินที่มีไว้ใช้ในการดำเนินกิจการ เช่น

              (1) กำไรจากการขายเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ คอมพิวเตอร์ ยานพาหนะ อาคารถาวร ที่ดินและอาคารถาวร หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น สิทธิการเช่า สิทธิในกรรมวิธีสูตร กู๊ดวิล เครื่องหมายการค้า สิทธิประกองกิจการตามใบอนุญาต สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น หรือทรัพย์สินอย่างอื่น เศษซากวัสดุ อุปกรณ์ ของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต เป็นต้น

              (2) รายได้จากการขายสินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และเศษซากวัสดุ อุปกรณ์ ของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตที่รอการทำลาย ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 79/2541

              (3) รายได้ในส่วนที่เป็นกำไรจากการขายหลักทรัพย์เผื่อค้าหรือหลักทรัพย์ที่กิจการซื้อมาเพื่อการลงทุนหาผลประโยชน์ในรูปของเงินปันผล เนื่องจาก หลักทรัพย์ที่มีไว้เพื่อการลงทุน เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สิน (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/02504 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2542) และหุ้นเข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/7653 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2544)

      1.3.2 รายได้ที่ไม่เกิดจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ เช่น

               (1) กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นรายได้เนื่องจากกิจการปกติทั่วไป ซึ่งมิได้มีการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ หรือเครดิตฟองซิเอร์ หรือการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์

               (2) ค่าปรับเนื่องจากการผิดสัญญา

               (3) เงินอุดหนุนหรือเงินช่วยเหลือให้เปล่า รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากการส่งเสริมการขาย

               (4) รางวัลจากการประกวดแข่งขันหรือชิงโชค เป็นต้น

 

2. ปัญหารายได้ในส่วนที่เป็นกำไรจากการจำหน่าย “หลักทรัพย์”

2.1 หลักทรัพย์ที่มีไว้เพื่อการลงทุน ถือเป็นทรัพย์สิน

      2.1.1 ตามหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรเลขที่ กค 0811/02504 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2542 ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับหลักทรัพย์ว่า

              “การที่ธนาคารซื้อหลักทรัพย์และต่อมาราคาของหลักทรัพย์ลดลงแยกพิจารณาเป็น 2 กรณี ดังนี้

              (1) หลักทรัพย์ที่ซื้อมาเพื่อค้า เข้าลักษณะเป็นสินค้า เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ธนาคาร ต้องคำนวณราคาสินค้าคงเหลือ ณ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า และในกรณีที่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีราคาตลาดน้อยกว่าราคาทุน มีผลทำให้ธนาคารขาดทุน ผลขาดทุนจากการตีราคาสินค้าคงเหลือ ตามมาตรา 65 ทวิ (6) แห่งประมวลรัษฎากร จะนำมาหักเป็นรายจ่ายไม่ได้ เพราะการตีราคาตามราคาตลาดซึ่งต่ำกว่าทุนนั้น เท่ากับเป็นการหักรายจ่ายไปครั้งหนึ่งแล้วทั้งนี้ ไม่ว่าการที่หลักทรัพย์ราคาลดลงจะเกิดจากการที่ทางราชการมีคำสั่งลดทุน หรือถูกปิดกิจการ

              (2) กรณีหลักทรัพย์ที่มีไว้เพื่อการลงทุน เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สิน และมีราคาตามที่พึงซื้อมาตามมาตรา 65 ทวิ (3) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อมีการตีราคาหลักทรัพย์ให้ลดลงจากราคาที่พึงซื้อครั้งแรกมูลค่าหลักทรัพย์ลดลงจึงเข้าลักษณะเป็น "ค่าของทรัพย์สินที่ตีราคาต่ำลง" ตามมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร ธนาคารไม่มีสิทธินำมูลค่าหลักทรัพย์ที่ลดลงมาถือเป็นรายจ่ายได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (17) แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ไม่ว่าการที่หลักทรัพย์ราคาลดลงจะเกิดจากการที่ทางราชการมีคำสั่งลดทุนหรือถูกปิดกิจการ”

      2.1.2 ตามหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรเลขที่ กค 0811/7653 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2544 ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับหุ้น และดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินเพื่อนำมาซื้อหุ้น ว่า

              “กรณีบริษัทฯ ได้ซื้อหุ้นมาเพื่อการลงทุนหาผลประโยชน์อันเข้าลักษณะเป็นทรัพย์สิน ราคาหุ้นที่บริษัทฯ ได้ซื้อมาดังกล่าวถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สินนั้น

              ส่วนดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินเพื่อนำมาซื้อหุ้นดังกล่าว หากการซื้อหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินดังกล่าวเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้บริษัทฯ ปฏิบัติดังนี้

              (1) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ ให้ถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน

              (2) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี โดยบริษัทฯ จะต้องไม่นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือไม่หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 92) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2544

              อนึ่ง วันที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์นั้น คือวันที่บริษัทฯ มีกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าว”

      2.1.3 ตามหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/5694 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2550 ได้วินิจฉัยว่า

              “บริษัทฯ ลงทุนซื้อหุ้นสามัญจาก ข. ครั้งแรกเมื่อปี 2537 จำนวน 99,993 หุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท ให้ ข. ทำหน้าที่บริหารศูนย์การค้าให้กับบริษัทฯ จึงเป็นการลงทุนเพื่อหาผลประโยชน์ และหุ้นจำนวนดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ ต่อมาบริษัทฯ ได้ขายหุ้นให้บริษัท ป. จำกัด เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547 ในราคา หุ้นละ 0.07 สตางค์ (ซื้อมาราคาหุ้นละ 100 บาท) และเกิดผลขาดทุน กรณีย่อมถือได้ว่า ผลขาดทุนดังกล่าวเป็นผลขาดทุนที่เกิดขึ้น เนื่องจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธินำผลขาดทุน ที่เกิดจากการขายหุ้นดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ใน รอบระยะเวลาบัญชีที่ผลขาดทุนดังกล่าวเกิดขึ้น ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากราคาหุ้นที่ขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินราคาหุ้น ตามราคาตลาดได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร”

2.2 ดังนั้น หลักทรัพย์ที่มีไว้เพื่อการลงทุน หรือหลักทรัพย์เผื่อขาย หรือหุ้นมาเพื่อการลงทุนหาผลประโยชน์ เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สิน กำไรจากการจำหน่ายหลักทรัพย์หรือหุ้นเพื่อการลงทุน หรือหลักทรัพย์ที่มีไว้เผื่อขาย จึงถือเป็นรายได้อื่นที่มิใช่รายได้จากการขายสินค้าที่มีเพื่อขาย และโดยรากศัพท์ก็เป็นการ “ขาย” ทรัพย์สิน ที่มิใช่รายได้จากการให้บริการ เพราะคำว่า “บริการ” นั้น กฎหมายมุ่งที่จะให้พิจารณาเฉพาะประเด็นการให้บริการโดยแท้จริงเท่านั้น จึงย่อมไม่อาจใช้ “การตีความอย่างแคบ” หรือ “การตีความโดยเคร่งครัด” เพราะเป็นบทกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรและลดอัตรารัษฎากร ว่า “หากไม่ใช่การขายสินค้าที่มีเพื่อขาย ก็ให้ถือเป็นการให้บริการทั้งสิ้น แม้ธรรมชาติการกระทำนั้น จะไม่ใช่การให้บริการก็ตาม” อันเป็นการผิดวิสัยของวิญญูชนที่จะคิดหรือตีความเยื่ยงนั้น หากแต่ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 เป็นกฎหมายพิเศษที่มุ่งเน้นการให้บริการอย่างแท้จริง  โดยเฉพาะตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 ที่มุ่งเน้นวัตถุประสงค์ในอันที่จะเป็นการจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมดังกล่าวในการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร 

2.3 เมื่อ “รายได้ในส่วนที่เป็นกำไรจากการขายหลักทรัพย์หรือหุ้นที่มีไว้เพื่อการลงทุน หลักทรัพย์ที่มีไว้เผื่อขาย ถือเป็นรายได้อื่นที่มิใช่รายได้จากการขายสินค้าที่มีเพื่อขาย” จึงไม่อาจถือว่า เป็นรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการ ที่ไม่อาจนับรวมอยู่ในเงื่อนไขรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เกินสามสิบล้านบาท อันเป็นคุณสมบัติของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากรตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 ซึ่งรัฐมีนโยบายพิเศษที่มุ่งเน้นจูงใจในการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรอย่างแท้จริง