ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

การยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

บทความวันที่ 1 ต.ค. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 9036 ครั้ง

การยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

 

นับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่ไม่เคยมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีเกินกว่าห้าล้านบาท และ/หรือไม่เคยมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีเกินกว่า 30 ล้านบาท นั้น ได้มีพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 กำหนดหลักเกณฑ์การยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีนโยบายในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ดังกล่าว ให้มีการจัดทำบัญชีและงบการเงินที่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และวางแผนการดำเนินธุรกิจและสร้างความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการหรือธุรกิจอันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ อีกทั้งจะเป็นสิ่งสะท้อนสภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 กำหนดให้มีการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 และ 2560 เพื่อเป็นการจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการดังกล่าวในการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ฉะนั้น เพื่อประโยชน์ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ดังกล่าว จึงขอนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับกับการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามความในพระราชกฤษฎีกาฯ ทั้งสองฉบับดังกล่าว มากล่าวตามประเด็นดังต่อไปนี้

1. ผู้ประกอบการซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

2. การยกเว้นและการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

3. การปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาสิทธิยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร

 

1. ผู้ประกอบการซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

1.1 คุณสมบัติวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554

      ตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบการซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ดังนี้

      1.1.1 ต้องบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เนื่องจากคำว่า “มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท” นั้น จะมีได้ก็แต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของไทยเท่านั้น เพราะได้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและจำนวนเงินทุน รวมทั้งมีการระบุทุนที่เรียกชำระแล้วต่อทางราชการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรณีจึงไม่รวมถึงบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ รวมทั้งกิจการร่วมค้าตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

             (2) การที่จะได้รับสิทธิในการยกเว้น และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล นั้น ต้องไม่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดเกิน 5 ล้านบาทและต้องไม่มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดเกิน 30 ล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป

1.2 คุณสมบัติวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 ดังต่อไปนี้

      1.2.1 ไม่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินห้าล้านบาทและไม่มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินสามสิบล้านบาท

      1.2.2 ได้จดแจ้งเป็นผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

      1.2.3 ไม่ถูกเพิกถอนการได้รับยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

1.3 จากนิยามศัพท์ของคำว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)ซึ่งหมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท นั้น

      1.3.1 คำว่า ขายหมายความว่า จำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

             คำว่า สินค้าหมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น

             คำว่า บริการหมายความว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า

      1.3.2 คำว่า “รายได้จากการขายสินค้า” หมายถึง รายได้จากการขายสินค้า ที่เป็นทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น ไม่รวมถึงการขายทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการ หรือเพื่อการอื่นในที่มิใช่เพื่อการขาย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกระทำการใดๆ ดังต่อไปนี้

             (1) การจำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า

             (2) การสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว หรือ

             (3) การส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

             คำว่า “รายได้จากการให้บริการ” หมายถึง รายได้จากการกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นั้น กฎหมายมุ่งที่จะให้พิจารณาเฉพาะประเด็นการให้บริการเท่านั้น ไม่ใช่การตีความอย่างแคบว่า หากไม่ใช่การขายสินค้า ก็ให้ถือเป็นการให้บริการทั้งสิ้น แม้ธรรมชาติการกระทำนั้น จะไม่ใช่การให้บริการก็ตาม หากแต่เป็นกฎหมายพิเศษที่มุ่งเน้นการให้บริการอย่างแท้จริง

      1.3.3 ดังนั้น รายได้เนื่องจากกิจการดังต่อไปนี้ ย่อมไม่อยู่ในส่วนของรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการจำนวน 30 ล้านบาทต่อรอบระยะเวลาบัญชี

             - รายได้จากการขายทรัพย์สินที่มิใช่การขายสินค้า  ไม่ว่าจะมีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่าง ได้แก่ กำไรจากการขายทรัพย์สินที่มีไว้ใช้ในการดำเนินกิจการ เช่น กำไรจากการขายเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์ คอมพิวเตอร์ ยานพาหนะ อาคารถาวร ที่ดินและอาคารถาวร หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น สิทธิการเช่า สิทธิในกรรมวิธีสูตร กู๊ดวิล เครื่องหมายการค้า สิทธิประกองกิจการตามใบอนุญาต สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น หรือทรัพย์สินอย่างอื่น

              - รายได้จากการขายสินค้าที่เสื่อมคุณภาพ สินค้าที่มีตำหนิ สินค้าที่หมดสมัยนิยม สินค้าที่หมดอายุ และของเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต เศษซากวัสดุ อุปกรณ์ ที่รอการทำลายตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 79/2541 

              - รายได้ในส่วนที่เป็นกำไรจากการขายหลักทรัพย์เผื่อค้าหรือหลักทรัพย์ที่กิจการซื้อมาเพื่อการลงทุนหาผลประโยชน์ในรูปของเงินปันผล เนื่องจาก หลักทรัพย์ที่มีไว้เพื่อการลงทุน เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สิน (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/02504 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2542) และหุ้นเข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/7653 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2544)

              - รายได้จากเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไร

              - รายได้ดอกเบี้ยที่ได้จากการนำเงินทุน เงินกู้ยืม เงินเพิ่มทุน หรือเงินอื่นที่เหลืออยู่ไปฝากธนาคารหรือซื้อตั๋วเงินของสถาบันการเงินอื่น โดยได้รับดอกเบี้ยตามอัตราปกติ

              - กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นรายได้เนื่องจากกิจการปกติทั่วไป ซึ่งมิได้มีการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ หรือเครดิตฟองซิเอร์ หรือการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์

              - ค่าปรับเนื่องจากการผิดสัญญา

              - เงินอุดหนุนหรือเงินช่วยเหลือให้เปล่า รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากการส่งเสริมการขาย

              - รางวัลจากการประกวดแข่งขันหรือชิงโชค เป็นต้น

 

2. การยกเว้นและการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

2.1 การยกเว้นและการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554

      2.1.1 ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 กำหนดให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 471) พ.ศ. 2551 ที่กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาทแรก และให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของไทยที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท เท่านั้น ทั้งนี้ ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป และ

           ตามมาตรา 10 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 กำหนดให้บทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 471) พ.ศ. 2551 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะแก่การลดอัตราภาษีเงินได้และการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555  นั้น

           ย่อมหมายความว่า สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 โดยเฉพาะรอบระยะเวลาบัญชีปี 2554 ที่จะยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ยังคงต้องใช้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเดิมคือ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 471) พ.ศ. 2551 นั่นเอง

      2.1.2 ตามมาตรา 6 และมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ได้กำหนดให้ลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังต่อไปนี้

             (1) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้  

                   (ก) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังเช่นที่เคยได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 471) พ.ศ. 2551

                   (ข) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกิน 150,000 บาท แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิ

                   (ค) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้

                         1) ร้อยละ 23 ของกำไรสุทธิ สำหรับหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555

                         2) ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีถัดมาที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป  

             (2) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้  

                   (ก) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2551

                   (ข) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกิน 300,000 บาท ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

                   (ค) ร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกินสามล้านบาท และร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ สำหรับกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

                   อย่างไรก็ตามตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2551 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดเกิน 30 ล้านบาท ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกิน 300,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

2.2 ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2551 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งจัดตั้งขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 และมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิดังต่อไปนี้

      2.2.1 กำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

      2.2.2 กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกินสามแสนบาทแรก สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

 

3. การปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาสิทธิยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร

ตามที่มีพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด ได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร นั้น

เนื่องจากพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว ได้กำหนดให้ยกเว้นการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรในบางกรณี และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป ซึ่งมีข้อปฏิบัติตามพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว ตามคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ตามกฎหมาย ว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559 ดังต่อไปนี้

3.1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เฉพาะเป็น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)จะได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 หรือมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เข้าลักษณะและปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้

      3.1.1 เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ ซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ 1.2 ข้างต้นหรือตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558

      3.1.2 มีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ซึ่งคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่เกิน 30 ล้านบาท ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาและมีกำหนดครบสิบสองเดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558

             รายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการ ซึ่งคำนวณตามหลักเกณฑ์ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่ การคำนวณรายได้นั้น ตามเกณฑ์สิทธิที่แสดงไว้ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50)

      3.1.3 ได้มีการจดแจ้งต่อกรมสรรพากรตามแบบแจ้งขอเป็นผู้ประกอบการตามกฎหมาย ว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2559

3.2 ประเภทภาษีอากรและช่วงระยะเวลาที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นตาม 3.1 ได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร มีดังนี้

      3.2.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันเริ่มต้นของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว

      3.2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับมูลค่าของฐานภาษีที่เกิดขึ้นของเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 และเดือนก่อนเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 ทุกเดือน และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับ ภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว

      3.2.3 ภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับรายรับที่เกิดขึ้นของเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 และเดือนก่อนเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 ทุกเดือน และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าว

      3.2.4 อากรแสตมป์ สำหรับการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับอากรแสตมป์ดังกล่าว

      ทั้งนี้ สำหรับภาษีอากรที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรไปแล้ว หรือได้ดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับภาษีอากรนั้น ๆ ก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 แล้ว คงมีผลตามกฎหมาย เช่นเดิม การได้รับยกเว้นตาม 3.2.1 ถึง 3.2.4 ไม่มีผลสำหรับกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด

3.3 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นและมีการจดแจ้งตาม 3.1 จะไม่ได้รับยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้

      3.3.1 กรณีอยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร โดยมีหมายเรียก ที่ออกก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 โดยเจ้าพนักงานประเมินสามารถดำเนินการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีหรือเดือนภาษีที่ออกหมายเรียกเท่านั้น รวมทั้งการดำเนินคดีอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับความผิดสำหรับภาษีอากรที่ตรวจสอบดังกล่าว

      3.3.2 กรณีอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 88/3 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ดำเนินการก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 โดยเจ้าพนักงานประเมินสามารถดำเนินการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรสำหรับเดือนภาษีที่ดำเนินการตรวจสอบเท่านั้น รวมทั้งการดำเนินคดีอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับความผิดสำหรับภาษีอากรที่ตรวจสอบดังกล่าว

      3.3.3 กรณีเป็นผู้ออกใบกากับภาษีปลอมหรือเป็นผู้ใช้ใบกากับภาษีปลอม หรือกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยแสดงรายจ่ายอันเป็นเท็จต่อกรมสรรพากร เจ้าพนักงานประเมินสามารถดำเนินการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรที่เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวได้ รวมทั้งการดำเนินคดีอาญาตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับความผิดสำหรับกรณีนั้น ๆ

      3.3.4 กรณีอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นพนักงานอัยการ หรือชั้นศาล ยังคงดำเนินการต่อไปได้

3.4 ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นตาม 3.1 ยื่นคาร้องขอคืนภาษี เงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรืออากรแสตมป์ ที่เกี่ยวกับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบ ระยะเวลาบัญชีที่มีวันเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 หรือมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ให้พิจารณา ดังนี้

      3.4.1 กรณีได้ยื่นคาร้องขอคืนภาษีอากรดังกล่าวก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 และเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีหรือดำเนินการตรวจสอบตามมาตรา 88/3 แห่งประมวลรัษฎากร ก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เจ้าพนักงานประเมินสามารถตรวจสอบ ไต่สวน รวมทั้งการประเมินภาษีอากรดังกล่าวได้ และคืนภาษีอากรดังกล่าวตามผลการตรวจตามที่ถูกต้องแท้จริงได้ โดยหากการตรวจสอบภาษีอากรที่ขอคืนแล้วปรากฏว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีภาษีอากรที่จะต้องชำระเพิ่มเติม (พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย) เนื่องจากเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจประเมินออกใบแจ้งการประเมินภาษีให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ชำระภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มเติม (พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย) ได้

      3.4.2 กรณีได้ยื่นคาร้องขอคืนภาษีอากรดังกล่าวก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 แต่ เจ้าพนักงานประเมิน ยังไม่ได้ออกหมายเรียกหรือดำเนินการตรวจสอบตามมาตรา 88/3 แห่งประมวลรัษฎากร หรือกรณีได้ยื่นคาร้องขอคืนภาษีอากรดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 กรณีดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจทาการตรวจสอบภาษีอากรที่ขอคืนหรือออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบ ภาษีอากรที่ขอคืน ไต่สวน และประเมินภาษีอากรได้ ตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ และคืนภาษีอากรดังกล่าวตามผลการตรวจตามที่ถูกต้องแท้จริงได้ โดยหากการตรวจสอบภาษีอากรที่ขอคืนแล้วปรากฏว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีภาษีอากรที่จะต้องชำระเพิ่มเติม (พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย) เนื่องจากเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจประเมินออกใบแจ้งการประเมินภาษีให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ขอคืนชำระภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มเติม (พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย) ได้

3.5 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ที่ได้รับยกเว้นตาม 3.1 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

      3.5.1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล พร้อมชำระภาษี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาในการยื่นรายการ ในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป โดยมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด และต้องยื่นรายการภาษีเงินได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีถัดไปทุกรอบระยะเวลาบัญชี และถ้ามีภาษีที่ต้องชำระ ต้องชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าว แต่ถ้ามีผลการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วปรากฏว่ามีผลขาดทุน ก็ไม่ต้องชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าวแต่อย่างใด

      3.5.2 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะ แล้วแต่กรณี ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ พร้อมชำระภาษี ถ้ามี ทั้งนี้ สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการที่ต้องกระทำในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

      3.5.3 ยื่นแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน สำหรับตราสารที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร และต้องชำระเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

      3.5.4 มีการจัดทาบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ (บัญชีเล่มเดียว) ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

      3.5.5 ไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป

3.6 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตาม 3.5 อธิบดีกรมสรรพากรจะมีคำสั่งเพิกถอนการได้รับยกเว้นตาม 1. ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เมื่ออธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งเพิกถอนการได้รับยกเว้นแล้ว ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ไม่เคยได้รับยกเว้นการใด ๆ ตาม 3.1 โดยเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และดำเนินคดีในความผิดอาญาเกี่ยวกับรายได้ มูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารตามที่ได้รับยกเว้นตาม 3.1 ได้ ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร