ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

บทความวันที่ 29 ก.ย. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 8822 ครั้ง

ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล  

 

  • รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 เพื่อลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี จากอัตราร้อยละ 30 เหลืออัตราร้อยละ 23 และร้อยละ 20 ตามลำดับ เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 และสมควรปรับปรุงการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งปรับปรุงการลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 467) พ.ศ. 2550 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและจูงใจการลงทุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากต่างประเทศ อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนให้มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่สอดคล้องกัน จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการทั่วไปอย่างไร

วิสัชนา ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้ เป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน

      1. ร้อยละ 23 ของกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555

      2. ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับสองรอบระยะเวลาบัญชีถัดมาที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2556

ปุจฉา มีเหตุผลอย่างไรในการกำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นการชั่วคราวเพียง 3 รอบระยะเวลาบัญชีเท่านั้น

วิสัชนา การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศไว้ในตอนหาเสียงเพื่อรับเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ครั้นเมื่อได้รับเลือกตั้งจึงได้นำมาเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งประจวบเหมาะกับกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากรมีแนวความคิดที่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว จึงมีการขับเคลื่อนนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์โลกที่ต่างพยายามลดอัตราภาษีเงินได้ลง (และมุ่งที่จะเพิ่มอัตราภาษีทางอ้อม)

      ส่วนที่กำหนดให้มีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวเป็นการชั่วคราวเพียง 3 รอบระยะเวลาบัญชี ก็เนื่องจากการแก้ไขบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรเป็นการถาวร ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานมาก เพราะต้องมีการเสนอร่างกฎหมายผ่านการประชุมของรัฐสภา ในแต่ละขั้นตอนต้องมีรายละเอียดและสิ้นเปลืองเวลาอย่างมาก ดังนั้น ในกรณีเร่งด่วนเช่นนี้ รัฐบาลได้หาช่องทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้เสียภาษีอากรอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ซึ่งก็มีบทบัญญัติมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร ให้อำนาจที่จะตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร จึงได้มีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว แต่หากยังไม่สามารถตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรได้ทันภายในช่วงเวลา 3 ปี ก็ยังคงสามารถตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อขยายเวลาการลดอัตราภาษีดังกล่าวออกไปได้อีก อย่างไรก็ตามรัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขประมวลรัษฎากรได้ทันอย่างแน่นอน

ปุจฉา การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิดังกล่าว สอดคล้องกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่อย่างไร

วิสัชนา ในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม และมาเลเซีย จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 25% ของกำไรสุทธิ ส่วนสิงค์โปร์ จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 17ของกำไรสุทธิ เท่านั้น

      นอกจากนี้ ทั้งสามประเทศยังจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเพียงระดับเดียว คือภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น ไม่เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการจ่ายเงินปันผล ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยของเราที่จัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเป็นสองระดับ คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และเมื่อมีการจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรก็จะจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย อีก 10% ของเงินปันผลหรือเงินแบ่งของกำไร

ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อมอย่างไร

วิสัชนา ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 กำหนดหลักเกณฑ์การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

     1.  “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม” ในที่นี้ หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท

           คำว่า ขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

            คำว่า สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น

            คำว่า บริการ” หมายความว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า

    2. ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป

         (1) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังเช่นที่เคยได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 471) พ.ศ. 2551

               กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกิน 150,000 บาท แต่ไม่เกินหนึ่งล้านบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ15 ของกำไรสุทธิ  

          (2) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาท ให้คงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้

               (ก) ร้อยละ 23 สามของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

               (ข) ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

         (3) กำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไปให้คงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้

             (ก) ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

                       (ข) ร้อยละ15 ของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท แต่ไม่เกินสามล้านบาท และร้อยละยี่สิบของกำไรสุทธิ สำหรับกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินสามล้านบาทขึ้นไป สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป   

ปุจฉา มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อมอย่างไร

วิสัชนา ตามบทบัญญัติมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร มีรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวมากล่าวดังต่อไปนี้

      1.   จากนิยามศัพท์ของคำว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม” ซึ่งหมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท

           คำว่า “รายได้จากการขายสินค้า” หมายถึง รายได้จากการขายสินค้า ที่เป็นทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น ไม่รวมถึงการขายทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการ หรือเพื่อการอื่นในที่มิใช่เพื่อการขาย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกระทำการใดๆ ดังต่อไปนี้

           (ก) การจำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า

           (ข) การสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว หรือ

           (ค) การส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

           คำว่า “รายได้จากการให้บริการ” หมายถึง รายได้จากการกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นั้น กฎหมายมุ่งที่จะให้พิจารณาเฉพาะประเด็นการให้บริการเท่านั้น ไม่ใช่การตีความอย่างแคบว่า หากไม่ใช่การขายสินค้า ก็ให้ถือเป็นการให้บริการทั้งสิ้น แม้ธรรมชาติการกระทำนั้น จะไม่ใช่การให้บริการก็ตาม หากแต่เป็นกฎหมายพิเศษที่มุ่งเน้นการให้บริการอย่างแท้จริง

          ดังนั้น รายได้ดังต่อไปนี้ ย่อมไม่อยู่ในส่วนของรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการจำนวน 30 ล้านบาทต่อรอบระยะเวลาบัญขี 

     - รายได้จากการขายทรัพย์สินที่มิใช่การขายสินค้า ซึ่งต้องหมายความรวมถึงการขายหลักทรัพย์ที่กิจการมีไว้เผื่อขาย หรือเพื่อการลงทุนหาผลประโยชน์ในรูปของเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร 

         - รายได้จากเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไร 

         - รายได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยตั๋วเงิน  

         - กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นรายได้เนื่องจากกิจการปกติทั่วไป ซึ่งมิได้มีการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ หรือเครดิตฟองซิเอร์ หรือประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์

         - ค่าปรับเนื่องจากการผิดสัญญา

         - เงินอุดหนุนหรือเงินช่วยเหลือให้เปล่า รางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากการส่งเสริมการขาย

         - รางวัลจากการประกวดแข่งขันหรือชิงโชค เป็นต้น 

      2.   ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 กำหนดให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 471) พ.ศ. 2551 ที่กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาทแรก และให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของไทยที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป และ

           ตามมาตรา 10 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 กำหนดให้บทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 471) พ.ศ. 2551 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะแก่การลดอัตราภาษีเงินได้และการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555  นั้น

           ย่อมหมายความว่า สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 โดยเฉพาะรอบระยะเวลาบัญชีปี 2554 ที่จะยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ยังคงต้องใช้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายเดิมคือ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 471) พ.ศ. 2551 นั่นเอง

ปุจฉา ตามที่มีพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดย่อม โดยเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการต้องไม่เกินกว่า 30 ล้านบาท ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี นอกเหนือจากที่เดิมกำหนดในเรื่องของเงินทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วยังไม่เกิน 5 ล้านบาทนั้น ซึ่งหากกิจการไม่ครบเงื่อนไขดังกล่าวย่อมไม่ได้สิทธิลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเงื่อนไขที่กำหนด ต่อมาในรอบระยะเวลาบัญชีใดกิจการมีรายได้ไม่เกินกว่า 30 ล้านบาท กิจการนั้นจะได้สิทธิลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเงื่อนไขหรือไม่ อย่างไร

วิสัชนา มาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ได้บัญญัติไว้ดังนี้

      “มาตรา 8 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิในการลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 6 และการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 7 ต้องไม่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินห้าล้านบาทและต้องไม่มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป”

      จากบทบัญญัติดังกล่าว หมายความว่า ในกรณีหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดเกิน 30 ล้านบาท หรือมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดเกิน 5 ล้านบาท อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองกรณี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลย่อมเสียสิทธิการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 6 และยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 530) พ.ศ. 2554 ตลอดไป โดยไม่อาจหวนย้อนกลับมาได้สิทธิในการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้อีกเลย

ปุจฉา มีข้อความใดบ่งบอกหรือระบุว่า การลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว ให้ใช้บังคับแก่เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเท่านั้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ประกอบกิจการในประเทศไทย รวมทั้งกิจการร่วมค้าตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร

วิสัชนา ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นเดิมที่เคยวิพากษ์วิจารณ์กันมาโดยตลอด และเป็นชัดเจนแน่นอนแล้วว่า เจตนารมณ์ของการตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ “มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท” หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นั้น ให้หมายความถึงแต่เฉพาะ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทีตั้งขึ้นตามกฎหมายของไทยเท่านั้น เนื่องจาก

      1. คำว่า "มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท" ดังกล่าว จะมีได้ก็แต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของไทยเท่านั้น เพราะได้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลและจำนวนเงินทุน รวมทั้งมีการระบุทุนที่เรียกชำระแล้วต่อทางราชการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

      2. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีแต่ทุนที่นำมาใช้ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งแสดงเป็นเจ้าหนี้สำนักงานใหญ่ ซึ่งมิใช่ทุนที่เรียกชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแต่อย่างใด

      3. กรณีกิจการที่ดำเนินเป็นทางค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลของต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ก็เช่นเดียวกันกับกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศนั่นเอง

      4. กรณี “กิจการร่วมค้าตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร” ซึ่งได้แก่ กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไรระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือระหว่างบริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือนิติบุคคลอื่น นั้น โดยสถานภาพมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หากแต่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น จึงไม่มีเงินทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี เพราะไม่ได้มีการจดทะเบียนต่อทางราชการแต่อย่างใด 

ปุจฉา เจตนารมณ์ในการตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 กำหนดไว้อย่างไร

วิสัชนา โดยที่รัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEsมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท ให้มีการจัดทำบัญชีและงบการเงินที่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และวางแผนการดำเนินธุรกิจและสร้างความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการหรือธุรกิจอันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ อีกทั้งจะเป็นสิ่งสะท้อนสภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 กำหนดให้มีการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2559 และ 2560 เพื่อเป็นการจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการดังกล่าวในการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร

ปุจฉา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิในการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

วิสัชนา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิในการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 และมาตรา 5 ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 ดังต่อไปนี้

      1. ไม่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินห้าล้านบาทและไม่มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินสามสิบล้านบาท

          2. ได้จดแจ้งเป็นผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

          3. ไม่ถูกเพิกถอนการได้รับยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

ปุจฉา ตามมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEsมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท อย่างไร  

วิสัชนา ตามมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งจัดตั้งขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 และมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิดังต่อไปนี้

          1. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

         2. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาทแรก สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มใน หรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560

      3. ให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามข้อ 2. และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกิน 300,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560  แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560