ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

“วิสาหกิจเพื่อสังคม”

บทความวันที่ 11 ก.ย. 2559  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 7758 ครั้ง

                                                                                                “วิสาหกิจเพื่อสังคม”


          ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้มีการประกอบกิจการเพื่อสังคมในประเทศเพิ่มมากขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตลอดจนทำให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการดูแลช่วยเหลือชุมชนและสังคม จึงได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 621) พ.ศ.  2559 ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคม และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเงินลงทุนในหุ้นสามัญของวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือเงินได้เท่ากับจำนวนเงินที่มอบให้หรือมูลค่าของทรัพย์สินที่โอนให้วิสาหกิจเพื่อสังคมโดยไม่มีค่าตอบแทน 


1. ความหมายของ “วิสาหกิจเพื่อสังคม”

          “วิสาหกิจเพื่อสังคม” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการ โดยมุ่งส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นที่วิสาหกิจเพื่อสังคมตั้งอยู่ หรือมีเป้าหมายในการจัดตั้งตั้งแต่แรกเริ่มในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มุ่งสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน และนำผลกำไรไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบไปลงทุนในกิจการของตนเอง หรือใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ผู้ยากจน คนพิการผู้ด้อยโอกาส หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่น ๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด 

(มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 621) พ.ศ. 2559) 


2. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติเพื่อการได้สิทธิในการเป็น "วิสาหกิจเพื่อสังคม" 

          วิสาหกิจเพื่อสังคมต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้ 

 (1) มีคำว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” อยู่ในชื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น 

 (2) ได้รับการรับรองเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมจากหน่วยงานที่อธิบดีประกาศกำหนด 

   (3) ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมจากอธิบดีตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด 

 (4) ไม่มีการจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรหรือเงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) และ (ง) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน 

 (5) ไม่มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการ เว้นแต่การโอนทรัพย์สินตามที่อธิบดีประกาศกำหนด 

 (6) ไม่เป็นคู่สัญญากับผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนและไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนใดๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วน รวมถึงบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน เว้นแต่ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด 

 (7) ไม่เปลี่ยนแปลงประเภทการประกอบกิจการจากกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นการประกอบกิจการอื่นก่อนครบสิบรอบระยะเวลาบัญชี นับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้รับอนุมัติให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม 

 (8) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนด 

 ในกรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังกล่าว ข้อหนึ่งข้อใดในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้การยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลงตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี 

(มาตรา ๘ แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 621) พ.ศ. 2559)  


3. การยกเว้นภาษีเงินได้แก่ "วิสาหกิจเพื่อสังคม" 

          ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร) ให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม สำหรับกำไรสุทธิของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่นำผลกำไรทั้งหมดในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไปลงทุนในกิจการหรือใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ผู้ยากจน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่น ๆ โดยไม่มีการจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร หรือเงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) และ (ง) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน 

 การลงทุนในกิจการหรือใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ผู้ยากจน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาสหรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่น ๆ ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด (ยังไม่ออก) 

(มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 621) พ.ศ. 2559)  

          กรณีวิสาหกิจเพื่อสังคมเลิกกิน ให้วิสาหกิจเพื่อสังคมดำเนินการแจ้งการเลิกกิจการให้เจ้าพนักงานประเมินกรมสรรพากรทราบถึงการเลิกของบริษทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก มิฉะนั้น อาจต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มภาษีอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีทีเลิกนั้น ตามมาตรา 72 แห่งประมวลรัษฎากร และให้การยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 621) พ.ศ. 2559 สิ้นสุดลงตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เลิกกัน 

(มาตรา 9 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 621) พ.ศ. 2559)  


4. การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ "วิสาหกิจเพื่อสังคม" 

          ในกรณีวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 3 (มาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 621) พ.ศ. 2559) โดยไม่มีการจ่ายเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร หรือเงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) และ (ง) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วน ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ให้การสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมตาม 4.1 และ 4.2 (มาตรา 6 และมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 621) พ.ศ. 2559) ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้ 

(มาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 621) พ.ศ. 2559)

          4.1 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร) ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของเงินลงทุนในหุ้นสามัญของวิสาหกิจเพื่อสังคมซึ่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามมาตรา 8 (1)(2)(3)(5)(6)(7) และ (8)  

                ในกรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมมีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) และ (ง) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเกินกว่าร้อยละสามสิบของกำไรสุทธิในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามวรรคหนึ่งได้โอนหุ้นก่อนวิสาหกิจเพื่อสังคมเลิกกัน ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรานี้ และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้นำจำนวนเงินลงทุนไปยกเว้นภาษีเงินได้นั้น 

(มาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 621) พ.ศ. 2559)

         4.2 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร) ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่โอนให้วิสาหกิจเพื่อสังคมซึ่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามมาตรา 8 (1)(2)(3)(5)(6)(7) และ (8) โดยไม่มีค่าตอบแทน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิ 

         ในกรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมมีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4)(ข) และ (ง) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเกินกว่าร้อยละสามสิบของกำไรสุทธิในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง 

(มาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 621) พ.ศ. 2559)