ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้

บทความวันที่ 4 ม.ค. 2568  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 99 ครั้ง

ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้

1. หลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้
การจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 374 (พ.ศ. 2564) ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
1.1 หนี้สูญที่จะถือเป็นรายจ่ายทางภาษี ต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 โดยให้ถือเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่เป็น ไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎกระทรวงดังกล่าว
1.2 หนี้สูญที่ได้รับกลับคืนมา ให้นำมาถือเป็นรายได้ในรอบระยะ เวลาบัญชีปีที่ได้รับกลับคืน นั้น
1.3 หนี้สูญที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 186
ย่อมเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้าม ให้บวกกลับเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่จำหน่ายหนี้สูญนั้น หากภายหลังได้รับกลับคืนมา ก็ไม่ต้องนำ มาถือเป็นรายได้ทางภาษีอากรอีก

2. คุณลักษณะของลูกหนี้ที่จะนำมาจำหน่ายหนี้สูญทางภาษีอากร
2.1 ต้องเป็นหนี้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการ หรือหนี้ที่ได้รวมเป็นเงินได้ในการคำนวณกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ไม่รวมหนี้ที่ผู้เป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นลูกหนี้ ไม่ว่าหนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือในขณะที่ผู้นั้นเป็นกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ
2.2 ต้องเป็นหนี้ที่ยังไม่ขาดอายุความ และ
2.3 ต้องมีหลักฐานโดยชัดแจ้งที่สามารถฟ้องลูกหนี้ได้ และ
2.4 มีหลักฐานการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควรแก่กรณีแล้วแต่ไม่ได้รับชำระหนี้

3. วิธีการติดตามทวงถาม เพื่อการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้
3.1 กรณีทวงถามด้วยตนเอง ไม่ว่าลูกหนี้จะมีจำนวนเท่าใดก็ตาม บริษัทฯ ต้องดำเนินการจนถึงที่สุด โดยมีหลักฐานการติดตามทวงถามอย่างชัดแจ้ง และไม่ได้รับชำระหนี้ โดยปรากฏกรณีดังกล่าว จึงจะสามารถจำหน่ายหนี้สูญได้
(1) ลูกหนี้ตาย/สาบสูญและไม่มีทรัพย์สินใดๆ จะชำระหนี้ได้
(2) ลูกหนี้เลิกกิจการ และเจ้าหนี้อื่นมีบุริมสิทธิเหนือ ทรัพย์สินของลูกหนี้
3.2 กรณีดำเนินคดีในศาลแพ่ง หรือยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้
(1) สำหรับลูกหนี้ไม่มีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท ไม่ต้องดำเนินคดีในศาลแพ่ง หรือยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ หากมีหลักฐานการทวงถามตามสมควรแก่กรณีแล้ว แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ และหากจะฟ้องต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ที่จะได้รับชำระ ก็ให้ดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ได้
อนึ่ง สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีก่อนปี 2563 นั้น กำหนดจำนวนลูกหนี้ในกรณีนี้ไม่เกิน 100,000 บาท เว้นแต่สถาบันการเงิน กำหนดจำนวนลูกหนี้ในกรณีนี้ไม่เกิน 200,000 บาท
(2) สำหรับลูกหนี้มีจำนวนไม่เกิน 2,000,000 บาท รวมทั้งลูกหนี้ไม่มีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท แต่หากจะฟ้องต้องเสียค่าใช้จ่ายคุ้มกับหนี้ที่จะได้รับชำระ ให้ดำเนินการฟ้องร้องลูกหนี้ และเมื่อศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว ให้กรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการมีคำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายหนี้สูญภายใน 30 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
อนึ่ง สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีก่อนปี 2563 นั้น กำหนดจำนวนลูกหนี้ในกรณีนี้ไม่เกิน 500,000 บาท
(3) สำหรับลูกหนี้ที่มีจำนวนเกินกว่า 2,000,000 บาท ที่ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีแพ่งหรือได้ยื่นคําขอเฉลี่ยหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีแพ่ง จนคดีถึงที่สุด โดยต้องมีหมายบังคับคดีของศาลแล้ว และมีรายงานการบังคับคดีครั้งแรกของเจ้าพนักงานบังคับคดี อันสามารถแสดงได้ว่า ได้มีการดำเนินการบังคับคดีแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดจะชําระหนี้ได้
อนึ่ง สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีก่อนปี 2563 นั้น กำหนดจำนวนลูกหนี้ในกรณีนี้ไม่เกิน 500,000 บาท
การดำเนินการตาม (2) หรือ (3) ที่ได้กระทำในต่างประเทศหรือการดำเนินการอื่นในลักษณะทํานองเดียวกันที่ได้กระทำในต่างประเทศ ต้องมีเอกสารหลักฐานแห่งการดำเนินการที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ออกให้ และหลักฐานดังกล่าวต้องได้รับการรับรองคําแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย ตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการรับรองเอกสาร
3.3 กรณีดำเนินคดีในศาลล้มละลาย หรือยื่นคำขอรับชำระหนี้
(1) สำหรับลูกหนี้ไม่มีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท ไม่ต้องดำเนินคดีในศาลแพ่ง หรือยื่นคำขอเฉลี่ยหนี้ หากมีหลักฐานการทวงถามตามสมควรแก่กรณีแล้ว แต่ไม่ได้รับชำระหนี้ และหากจะฟ้องต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ที่จะได้รับชำระ ก็ให้ดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ได้
อนึ่ง สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีก่อนปี 2563 นั้น กำหนดจำนวนลูกหนี้ในกรณีนี้ไม่เกิน 100,000 บาท เว้นแต่สถาบันการเงิน กำหนดจำนวนลูกหนี้ในกรณีนี้ไม่เกิน 200,000 บาท
(2) สำหรับลูกหนี้มีจำนวนไม่เกิน 2,000,000 บาท รวมทั้งลูกหนี้ไม่มีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท แต่หากจะฟ้องต้องเสียค่าใช้จ่ายคุ้มกับหนี้ที่จะได้รับชำระ ให้ดำเนินการฟ้องร้องลูกหนี้ และเมื่อศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องแล้ว ให้กรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการมีคำสั่งอนุมัติให้จำหน่ายหนี้สูญภายใน 30 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
อนึ่ง สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีก่อนปี 2563 นั้น กำหนดจำนวนลูกหนี้ในกรณีนี้ไม่เกิน 500,000 บาท
(3) สำหรับลูกหนี้ที่มีจำนวนเกินกว่า 2,000,000 บาท ต้องดำเนินคดีในศาลล้มละลายหรือได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลายหรือในคดีที่ผู้ชําระบัญชีร้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย จนคดีถึงที่สุดดังต่อไปนี้ เจ้าหนี้จึงจะจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ได้
(ก) ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายโดยได้มีการประนอมหนี้กับลูกหนี้โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้น หรือ
(ข) ลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายและได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรก หรือศาลได้มีคำสั่งปิดคดีแล้ว
อนึ่ง สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีก่อนปี 2563 นั้น กำหนดจำนวนลูกหนี้ในกรณีนี้ไม่เกิน 500,000 บาท
การดำเนินการตาม (2) หรือ (3) ที่ได้กระทำในต่างประเทศหรือการดำเนินการอื่นในลักษณะทํานองเดียวกันที่ได้กระทำในต่างประเทศ ต้องมีเอกสารหลักฐานแห่งการดำเนินการที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ออกให้ และหลักฐานดังกล่าวต้องได้รับการรับรองคําแปลจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย ตามระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการรับรองเอกสาร

4. กรณีร้องขอต่อศาลล้มละลายให้มีการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
หากเจ้าหนี้ได้ร้องขอต่อศาลล้มละลายให้มีการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ โดยศาลล้มละลายได้มีคำสั่งเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นั้น หนี้ในส่วนที่เจ้าหนี้ได้ปลดหรือประนอมหนี้ให้ลูกหนี้ ให้จำหน่ายหนี้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามวิธีที่ 1 ถึงวิธีที่ 3 ข้างต้น

ตัวอย่าง 1
กรณีกรรมการบริษัทหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกันกู้ยืมเงินจากบริษัทฯ แล้วบริษัทฯ ไม่สามารถติดตามทวงถามให้กรรมการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกันชำระหนี้ จนต้องจำหน่ายหนี้สูญ นั้น
1. หนี้สูญที่บริษัทฯ จะจำหน่ายหนี้สูญได้ต้องมีคุณลักษณะตามข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ดังนี้
“ข้อ 3 หนี้สูญที่จะจำหน่ายจากบัญชีลูกหนี้ต้องเป็นหนี้ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ต้องเป็นหนี้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการ หรือหนี้ที่ได้รวมเป็นเงินได้ในการคำนวณกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ไม่รวมหนี้ที่ผู้เป็น หรือเคยเป็นกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นลูกหนี้ ไม่ว่าหนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือในขณะที่ผู้นั้นเป็นกรรมการหรือหุ้นส่วนผู้จัดการ
(2) ต้องเป็นหนี้ที่ยังไม่ขาดอายุความและมีหลักฐานโดยชัดแจ้งที่สามารถฟ้องลูกหนี้ได้”
ดังนั้น หนี้สูญที่บริษัทฯ ให้กู้ยืมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกัน จึงไม่สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายทางภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เรียกได้ว่า เป็นหนี้สูญต้องห้าม และในทางบัญชี ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นท่านอื่นๆ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสีย (Steak holders) อาทิ ภาครัฐ เพราะจะทำให้กิจการไม่มีกำไรสุทธิทางบัญชีที่จะจ่ายเงินปันผลเมื่อต้องนำมาหักกลบกับหนี้สูญดังกล่าว
2. ในอีกแง่มุมหนึ่ง การตัดหนี้ที่กรรมการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกัน นั้นมองได้ว่า เป็นการสมคบกันยกหนี้ให้แก่กรรมการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกัน อย่างไม่โปร่งใส และตรวจสอบได้ ขาดการควบคุมภายในที่ดี ในทางภาษีอากรจึงกำหนดต้องถือว่ากรรมการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกันได้รับผลประโยชน์ อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ( 8 ) แห่งประมวลรัษฎากร ที่กรรมการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกันต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษีที่ได้รับการยกหนี้ให้นั้น ตามหลัก “รายจ่ายของฝ่ายหนึ่งย่อมเป็นเงินได้ของผู้รับอีกฝ่ายหนึ่ง” จะหายไปเฉยๆ ดายๆ ไป โดยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นไม่ได้
3. จากข้อ 2 รัฐบาลโดยกรมสรรพากรมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนภาษีเงินได้ของผู้มีเงินได้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่ออำนวยให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมสืบไป

ตัวอย่าง 2
กรณีลูกหนี้การค้าของบริษัทฯ มูลค่า 5 ล้านบาท ซึ่งได้ตั้งสำรองหนี้สูญมา 20 ปี แล้ว ไม่มีการฟ้องร้องใด หากในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2567 บริษัทฯ จะล้างบัญชีเป็นหนี้สูญ เช่นนี้แล้ว บริษัทฯ ย่อมไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เนื่องจากไม่เข้าลักษณะตามข้อ 3 และข้อ 4 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ดังกล่าว 

ตัวอย่าง 3 
        กรรมการบริษัทยกหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมกรรมการ
       กรณี 1 กรรมการเป็นบุคคลธรรมดาในประเทศไทย ยกหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับบริษัทฯ บริษัทฯจำเป็นต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับดอกเบี้ยที่กรรมการยกหนี้ให้หรือไม่คะ 
       กรณี 2 กรรมการเป็นนิติบุคคลใช่วิธีปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกับกรณี 1 หรือไม่ค่ะ
       ในกรณี 2 หากต้องนำส่งบริษัทฯผู้เป็นเจ้าหนี้ สามารถนำหัก ณ ที่จ่ายมาถือเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่คะ 
       วิสัชนา: 
       1. กรณีกรรมการเป็นบุคคลธรรมดาในประเทศไทย ยกหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่บริษัทฯ บริษัทฯไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยที่กรรมการยกหนี้ให้ เนื่องจากไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวแต่อย่างใด 
            แต่บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติลบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับการยกหนี้ให้ดังกล่าว 
        2. กรณีเจ้าหนี้เป็นนิติบุคคล ให้ใช้วิธีปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกับกรณีตามข้อ 1 แต่บริษัทเจ้าหนี้ที่ได้ยกหนี้ให้จะไม่สามารถบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ทั้งจำนวนในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะไม่ต้องด้วยเงื่อนไขในการจำหน่ายหนี้สูญตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) 
        อย่างไรก็ตาม หากมีการนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย บริษัทฯ ผู้เป็นเจ้าหนี้ สามารถนำหัก ณ ที่จ่ายมาถือเป็นเครดิตภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามมาตรา 3 เตรส ประกอบมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร