เกี่ยวกับเงินปันผลที่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
บทความวันที่ 13 พ.ย. 2567 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 13 ครั้ง
เกี่ยวกับเงินปันผลที่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
บทความวันที่ 13 พ.ย. 2567 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 13 ครั้ง
เกี่ยวกับเงินปันผลที่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
เกี่ยวกับเงินปันผลที่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
1. ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
“มาตรา 65 ทวิ การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(10) สำหรับบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้นำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้ามารวมคำนวณเป็นรายได้เพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้ เว้นแต่บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังต่อไปนี้ ไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้จากบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกิจการร่วมค้า มารวมคำนวณเป็นรายได้
(ก) บริษัทจดทะเบียน
(ข) บริษัทจำกัดนอกจาก (ก) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลและบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในกรณีที่บริษัทจำกัดหรือบริษัทจดทะเบียนมีเงินได้ที่เป็นเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวโดยถือหุ้นที่ก่อให้เกิดเงินปันผลและเงินส่วนแบ่งกำไรนั้นไว้ไม่ถึงสามเดือนนับแต่วันที่ได้หุ้นนั้นมาถึงวันมีเงินได้ดังกล่าว หรือได้โอนหุ้นนั้นไปก่อนสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้
เงินปันผลที่ได้จากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามมาตรา 65 ตรี (2) ไม่ให้ถือเป็น เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งกำไรตามความในวรรคสอง”
จากบทบัญญัติตังกล่าว อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
1.1 เจตนารมณ์ เป็นบทบัญญัติที่มุ่งขจัดความซ้ำซ้อนในการเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลที่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยได้รับจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยการยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกทอดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดการจัดเก็บภาษีเงินถึง 3 ระดับ จากเดิมที่จัดเก็บกัน 2 ระดับแล้ว
1.2 ผู้ที่ได้สิทธิตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร ได้แก่
(1) บริษัทจดทะเบียน
(2) บริษัทโฮลดิ้ง คัมปะนี ได้แก่ บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่มิใช่บริษัทจดทะเบียน ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือถิอหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ตามเงื่อนไขดังนี้
(ก) บริษัทโฮลดิ้ง คัมปะนี ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่มีสิทธิออกเสียง และ
(ข) บริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผล หรือกองทุนรวมผู้จ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไร มิได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผล ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
(3) บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยอื่นใดนอกจากที่ได้กล่าวใน (1) และ (2)
1.3 เงื่อนไข
บริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร ต้องถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนอันก่อให้เกิดเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนวันที่ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร และถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนดังกล่าวต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 3 เดือนถัดจากวันที่ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรนั้น
1.4 สิทธิประโยชน์
(1) สำหรับบริษัทจดทะเบียน และบริษัทโฮลดิ้ง คัมปะนี ไม่ต้องนำเงินปันผลหรือเงินสวนแบ่งของกำไรไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
(2) บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยอื่นใดนอกจากที่ได้กล่าวใน (1) ให้นำเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ได้รับ
1.5 กิจการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ได้แก่
(1) บริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามข้อ 1.3 ข้างต้น โดยถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนอันก่อให้เกิดเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าว ไว้เป็นเวลาไม่ถึง 3 เดือนก่อนวันที่ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร และถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนดังกล่าวต่อไปเป็นเวลาไม่ถึง 3 เดือนถัดจากวันที่ได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรนั้น
(2) ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนในบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม
(3) บริษัทต่างประเทศ ที่ถือหุ้นหรือหน่วยลงทุนในบริษัทจำกัดที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม
(4) บริษัทจำกัดที่ลงทุนเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
2. ตามข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 319/2563 ฯ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
“ข้อ 5 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย สถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยแต่ไม่รวมถึงกองทุนรวมตราสารหนี้และกิจการร่วมค้า ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้อัตราร้อยละ 10.0 กรณีจ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทย หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย แต่ไม่รวมถึง
(1) บริษัทจดทะเบียน เฉพาะกรณีที่ผู้จ่ายมิใช่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(2) บริษัทจำกัด นอกจาก (1) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผล และบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้น ในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
กองทุนรวมตราสารหนี้ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ลงทุนในตราสารหนี้ตามสัดส่วนที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด”
จากบทบัญญัติดังกล่าวอาจแยกพิจารณาได้ดังนี้
2.1 ผู้จ่ายเงินได้ที่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ได้แก่ ผู้จ่ายเงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือประโยชน์อื่นใดตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เป็น...
(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
(2) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม
(3) กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยแต่ไม่รวมถึงกองทุนรวมตราสารหนี้และ
(4) กิจการร่วมค้า
2.2 ผู้มีเงินได้ที่ต้องถูกหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ได้แก่
(1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทย หรือ
(2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
อนึ่ง ผู้มีเงินได้ที่ไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ได้แก่
(1) บริษัทจดทะเบียน เฉพาะกรณีที่ผู้จ่ายมิใช่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(2) บริษัทจำกัด นอกจาก (1) ซึ่งถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผล และบริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลไม่ได้ถือหุ้น ในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม
2.3 วิธีการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
ให้ผู้จ่ายเงินได้คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้อัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ที่มีจำนวนตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป
2.4 การนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย
ให้ผู้จ่ายเงินได้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย พร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด.53 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากเดือนที่จ่ายเงินได้
ตัวอย่าง
กรณีบริษัท A และ B เป็นบริษัทจำกัด (ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย) บริษัท B ถือหุ้นในบริษัท A มากกว่า 25% (ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัท A) โดยถือมาแล้ว 1 ปี ต่อมาบริษัท A มีการจ่ายเงินปันผล และบริษัท B ยังคงถือหุ้นต่ออีกมากกว่า 3 เดือน เช่นนี้
1. บริษัท A ไม่มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับเงินปันผล จากบริษัท B และไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.53 เพื่อนำส่งภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด ถูกต้องแล้ว ตามความในข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528
2. บริษัท B ไม่ต้องนำรายได้เงินปันผลมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องแล้ว