ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

ใบกำกับปลอมที่ไม่ใช่ใบกำกับปลอม

บทความวันที่ 19 ก.พ. 2567  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 1352 ครั้ง

ใบกำกับปลอมที่ไม่ใช่ใบกำกับปลอม


1. เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม เกี่ยวกับการใช้ใบกำกับภาษีปลอม
ตามมาตรา 89 (3)(4)(6) และ (7) แห่งประมวลรัษฎากร ได้บัญญัติเกี่ยวกับเบี้ยปรับกรณียื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ.30 หรือใบขนสินค้าขาเข้า) หรือแบบนำส่งภาษี (ภ.พ.36) ไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด หรือยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.พ.30) ไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายหรือจำนวนภาษีซื้อเกิน หรือออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย และนำใบกำกับภาษีปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ในการคำนวณภาษี แล้วแต่กรณี ดังนี้
“มาตรา 89 ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือบุคคลตามมาตรา 86/13 เสียเบี้ยปรับในกรณีและตามอัตราดังต่อไปนี้ ...
(3) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไป ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนหรือที่นำส่งคลาดเคลื่อน
(4) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายหรือจำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไป หรือจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป
(6) ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายตามมาตรา 86/13 ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้นั้น
(7) นำใบกำกับภาษีปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ในการคำนวณภาษี ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีนั้น
ในกรณีใบกำกับภาษีที่ผู้ได้รับประโยชน์ไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี ให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม...”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการใช้ "ใบกำกับภาษีปลอม" ตามมาตรา 89 (7) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ที่เจ้าพนักงานประเมินมักนำมาใช้เป็นมาตรการกล่าวหาผู้ประกอบการจดทะเบียน หากไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี ให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม
ในประเด็นนี้ มักได้ยินว่า เจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้นำพยานบุคคล คือ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีมายืนยันต่อเจ้าพนักงานประเมิน มิฉะนั้น จะถือว่า ใบกำกับภาษีฉบับนั้น ๆ เป็น "ใบกำกับภาษีปลอม" โดยไม่รับฟังข้อเท็จจริงอื่นใด เช่น
กรณีบริษัท A ได้ซื้อสินค้าจากบริษัท B ได้รับใบส่งสินค้า ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน และบริษัทฯ ได้จ่ายชำระเงินค่าสินค้าแก่บริษัท B โดยสั่งจ่ายเช็ด A/C payee only จ่ายชำระค่าสินค้าเรียบร้อยไปแล้วเมื่อเดือน สิงหาคม พ.ศ. 25x1
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 25x1 เจ้าพนักงานสรรพากรได้เข้าตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ เกี่ยวกับการซื้อสินค้า และใบกำกับภาษีซื้อที่ใช้ในการเครดิตภาษีซื้อ สำหรับเดือนภาษีดังกล่าว งเจ้าพนักงานสรรรพากร ได้แจ้งผลการตรวจสอบ ให้บริษัทฯ นำพขอยานบุคคลเพื่อประกอบการพิสูจน์ผู้ขายสินค้า แต่บริษัทฯ ไม่สามารถนำพยานบุคคลมาพิสูจน์ได้ และบริษัทฯ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า บริษัท B มีสถานภาพกิจการร้างสิ้นสภาพนิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 25x3 แล้ว เจ้าพนักงานประเมิน จึงแจ้งข้อกล่าวหาให้บริษัทฯ ทราบว่า ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีฉบับดังกล่าว ถือเป็นใบกำกับภาษีปลอม ไม่สามารถนำมาเครดิตภาษีได้ ตามมาตรา 89 (7) แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นของการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของเจ้าพนักงานประเมิน
การแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สุจริตชน ก็ย่อมสมเหตุสมผลเป็นอย่างยิ่ง
แต่สำหรับผู้ประกอบการที่สุจริต นั้น การได้รับฟังข้อกล่าวหาดังกล่าวของเจ้าพนักงานประเมิน ่มันช่างทำให้ผู้รับฟังเกิดอาการไม่ปกติอย่างยิ่ง!!! (ทั้งในด้านจิตใจ ที่กระอักกระอ่วน และทางด้านร่างกายที่กระเพาะ ลำไส้ ปั่นป่วนจนสุดจะกลั้น หรือทนรับฟังต่อไปได้)

2. พิเคราะห์ความหมายของคำว่า "ใบกำกับภาษีปลอม"
2.1 ทางด้านผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม
(1) เป็นได้ทั้งผู้ประกอบการจดทะเบียน และผู้ประกอบการไม่จดทะเบียน ในกลุ่มธุรกิจต่อไปนี้ เป็นอาทิ ที่เป็นผู้ออกใบกำกับปลอม
(ก) ผู้ประกอบการค้าวัสดุก่อสร้าง เหล็ก
(ข) ผู้ประกอบการค้าผ้า
(ค) ผู้ประกอบการค้าพลาสติก
(ง) ผู้ประกอบการค้าเศษเหล็ก อลูมิเนียม
(จ) ผู้ประกอบการค้าอัญมณี เพชร พลอย
(ฉ) ผู้ประกอบการค้าเคมีภัณฑ์
(ช) ผู้ประกอบการค้า
(2) ผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมมีเจตนาทุจริตที่จะออกใบกำกับภาษีปลอม โดยประสงค์ต่อผล และเล็งเห็นผลว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
(3) ผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมมีเจตนาทุจริตที่จะออกใบกำกับภาษีปลอม โดยเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งอาจเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีอากร
(4) ผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมทราบโดยแจ้งชัดว่า ตนเองมิได้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการตามรายการที่ปรากฏในใบกำกับภาษีปลอมนั้น ซึ่งในประการนี้ ครอบคลุมไปถึงกรณีออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฏหมาย ตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร
(5) ผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมไม่มีการรับชำระราคาค่าสินค้าหรือค่าบริการตามใบกำกับภาษีปลอมดังกล่าว แต่อย่างใด แม้จะได้มีการบันทึกรายการบัญชีว่าได้รับชำระราคาค่าสินค้าหรือค่าบริการ กันเป็นการรับชำระด้วยเงินสด หากจะมีการรับชำระผ่านธนาคาร ก็เป็นแต่เพียงการเล่นกลวิธี "บัญชีศรีธนญชัย" ที่เป็นเท็จและหลอกลวงให้เห็นว่ามีการชำระราคาสินค้าหรือค่าบริการต่อกัน เพื่อประโยชน์แก่การทุจริตโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีประเภทอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น
(6) ผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมออกใบกำกับภาษีปลอมเพื่อใช้ในกลุ่มของตนเอง อาทิ ลูกค้าของสำนักงานบัญชี หรือในกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกัน หรือขายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนรายอื่นที่มีความประสงค์อยากได้ใบกำกับภาษีไปใช้ในการทุจริตหลีกเลี่ยงภาษีอากร
(7) มีบางกรณีที่ผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมพิมพ์ใบกำกับภาษีตามแบบของผู้ประกอบการจดทะเบียนรายอื่นที่ค้าขายโดยสุจริตซึ่งไม่รู้อิโหน่อีเหน่ใดๆ พาให้ต้องเดือดร้อน เพราะมีชื่อในทางราชการว่า เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม จนต้องเลิกกิจการหรือเปลี่ยนชื่อผู้ประกอบการเป็นอย่างอื่น
(8) ที่ตั้งสถานประกอบการ สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ไม่สุจริต มักตั้งอยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นสถานประกอบการขายสินค้าหรือการให้บริการ เช่น ตั้งในชุมชนแออัด หรือในทำเลที่ใช่ทำเลที่ใช้ประกอบธุรกิจตามปกติ อาจมีความทับซ้อนกันหลายผู้ประกอบการในเลขที่ตั้งเดียวกัน
(9) กรรมการบริษัทที่ออกใบกำกับภาษีปลอม อาจซ้ำซ้อนกับบริษัทที่ออกใบกำกับภาษีปลอมรายอื่น อีกหลายบริษัท
(10) หมายเลขโทรศัทพ์มักใช้ติดต่อไม่ได้ แม้จะติดต่อได้ ก็มักไม่มีผู้รับ แม้จะรับก็ไม่ให้รายละเอียดที่ถูกต้อง มีพิรุธให้เห็นว่าไม่เป็นความจริง หรือไม่สุจริต
ผู้ออกใบกำกับปลอม ในลักษณะดังกล่าว เท่ากับ เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย ตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องได้รับโทษทางภาษีอากรดังนี้
(1) ต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ที่ออกโดยไม่มีสิทธินั้น เสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ อีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้นั้น ตามมาตรา 89 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
(3) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท ตามมาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามหมวดนี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบ ในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย (มาตรา 90/5 แห่งประมวลรัษฎากร)
2.2 เกี่ยวกับ "ใบกำกับภาษีปลอม"
(1) แบบพิมพ์ใบกำกับภาษี หลายครั้งที่พบว่า เป็นแบบพิมพ์ง่าย ๆ ตามแบบที่กรมสรรพากรกำหนด ไม่ใช่แบบพิมพ์ใบกำกับภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ทำการค้าทั่วไป
(2) ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า หรือมีรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า แต่ก็ไม่ชัดเจน ไม่ระบุชื่อ ชนิด ประเภท และปริมาณสินค้า หรือบริการที่ถูกต้องตามประเพณีทางการค้า
(3) ราคาต่อหน่วยไม่ถูกต้อง
(4) มูลค่าสินค้ามักแสดงเป็นจำนวนเด็มไม่มีเศษสตางค์
(5) เลขที่ใบกำกับภาษีที่ออกให้แก่ผู้ประกอบการรายเดียวกัน มีเลขที่เรียงต่อกัน แม้จะเป็นใบกำกับภาษีต่างวัน เดือนที่ออกให้แก่กัน
(6) ลายมือชื่อผู้อออกใบกำกับภาษีแม้จะเป็นของคนละราย แต่ก็เป็นลายมือเดียวกัน
2.3 ทางด้านผู้รับใบกำกับภาษีปลอม
(1) มักจะชำระราคาสินค้าหรือค่าบริการเป็นเงินสด ไม่ว่าจำนวนเงินที่ชำระจะเป็นจำนวนมากเท่าใดก็ตาม อันผิดวิสัยของการทำการค้าตามปกติทั่วไป
(2) กรณีชำระผ่านธนาคารก็มักไม่ใช่เช็คประเภทขีดคล่อมระบุชื่อผู้รับ (A/C payee only) และขีดฆ่าผู้ถือ เส้นทางการเงินจะวนกลับไปหาผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายของผู้ประกอบการ โดยการสลักหลักเช็ค
(3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ใช้ใบกำกับปลอม อาทิ
(ก) ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ซื้อวัสดุก่อสร้างเป็นเท็จ
(ข) ผู้ประกอบการค้าผ้าที่เป็นผู้ส่งออก
(ค) ผู้ประกอบการค้าพลาสติก
(ง) ผู้ประกอบการค้าเศษเหล็ก อลูมิเนียม
(จ) ผู้ประกอบการค้าอัญมณี เพชร พลอย
(ฉ) ผู้ประกอบการค้า และใช้เคมีภัณฑ์
ฯลฯ
ผู้ใช้ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีปลอม ต้องได้รับโทษทางภาษีอากรดังนี้
(1) ต้องรับผิดในจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ปรากฏในใบกำกับภาษีปลอมที่นำมาใช้นั้น โดยถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) ต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ อีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้นั้น ตามมาตรา 89 (7) แห่งประมวลรัษฎากร
(3) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท ตามมาตรา 90/4 (7) แห่งประมวลรัษฎากร
ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามหมวดนี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบ ในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย (มาตรา 90/5 แห่งประมวลรัษฎากร)

3. เกี่ยวกับประเด็นไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี ให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม
อาจแบ่งมุมมองเป็น 2 ด้าน คือ
3.1 สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ไม่สุจริต ใช้ใบกำกับภาษีปลอมเพื่อการหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม นั้น เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจเต็มที่จะดำเนินการไปตามกรอบของกฎหมาย ทั้งเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม รวมทั้งบทกำหนดโทษทางอาญาที่เกียวข้องต่อไป
3.2 สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่สุจริต ที่มีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลผู้ออกใบกำกับภาษีฉบับนั้น ๆ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนรายใด แต่โดยเหตุสุดวิสัย ที่ไม่อาจนำผู้ประกอบการจดทะเบียนรายนั้น ๆ มานำพิสูจน์ต่อเจ้าพนักงานประเมินได้ อาทิ เลิกกิจการไปนานแล้ว เจ้าพนักงานประเมิน และกรมสรรพากรจึงควรที่จะให้โอกาสนำสืบด้วยเอกสารได้ โดยแนวทางแก้ไข ต่อไปนี้ ในอันที่จะก่าวล่วงให้พ้นจากข้อกล่าวหาการใช้ใบกำกับภาษีปลอม
.(1) เมื่อพิสูจน์ตัวบุคคลไม่ได้ เพราะเป็นเหตุสุดวิสัย เนื่องจากเหตุบางประการ อาทิ บริษัท B มีสถานภาพกิจการร้างสิ้นสภาพนิติบุคคล ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 25x3 ไปแล้ว จึงต้องหันมาพิสูจน์ด้วยเอกสาร ตามเบาะแส (footprint) ที่บริษัทฯ มีอยู่อันได้แก่ ใบส่งสินค้า ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน และหลักฐานการจ่ายชำระเงินค่าสินค้าแก่บริษัท C โดย “สั่งจ่ายเช็ด A/C payee only” โดย
(ก) บริษัทฯ ต้องมีสำเนาเช็คระบุชื่อผู้รับเงิน ซึ่งขีดฆ่าผู้ถือและขีดคร่อม A/C Payee only ที่มีหลักฐานว่าได้ตัดบัญชี Bank statement ของผู้จ่ายเงินแล้ว
(ข) ให้บริษัทฯ ไปติดต่อธนาคารพาณิชย์ฯ สาขาที่บริษัทฯ ใช้บริการเช็คฉบับดังกล่าว โดยทำคำร้องขอคัดหลักฐานการโอนเงินที่สลักหลังเช็คฉบับดังกล่าว ว่าบริษัทฯ ได้มีการซื้อขายสินค้าและจ่ายเงินให้แก่บริษัท B ไปจริง แล้วนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมิน ก็อาจทำให้โทษเบาลง (ทั้งที่ไม่ได้ทำผิด!!) (2) ขอคัดค้นผู้ทำบัญชีของบริษัท C ว่าเป็นสำนักงานบัญชีหรือเป็นบุคคล หากเป็นสำนักงานบัญชีก็นับว่าโชคดี ให้บริษัทฯ พยายามติดต่อไปยังสำนักงานบัญชี สำนักงานบัญชี เพื่อของหลักฐานการบันทึกรายการบัญชีเกี่ยวกับการขายสินค้าของบริษัท C ที่อาจยังมีทั้งเอกสารและในคอมพิวเตอร์
(3) การปฏิบัติด้วยความสุภาพ รวมทั้งการเจรจาด้วยท่าทีที่อ่อนน้อมถ่อมตนต่อเจ้าพนักงานประเมิน ถือเป็นเสน่ห์ที่ไม่อาจาลอกเลียนแบบได้ ซึ่งทำให้ผู้พบเห็นมีเมตตา กรุณาต่อผู้ประกอบการ
(4) ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานในการพิจารณาผู้ประกอบการที่สุจริตให้พ้นจากข้อกล่าวหาตามมาตรา 89 (7) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมเป็นผลดีต่อการบริหารการจัดเก็บภาษีมุลค่าเพิ่มในกรณีนี้ เป็นอย่างดี ในทำนองปล่อยคนทำผิดเกี่ยวกับการใช้ใบกำกับภาษีปลอม 100 ราย ยังไม่เป็นบาปเท่ากับดำเนินการกับผู้ประกอบการทีสุจริตให้ต้องรับโทษทัณฑ์เพียงรายเดียว
ความเป็นวิญญูชน และผู้มีจิตใจที่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ให้บรรลุตรงตามเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติแห่ประมวลรัษฎากร ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติให้ใช้่บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 ย่อมได้ชื่อว่า เป็นเจ้าพนักงานประเมินผู้ประพฤติปฏิบัติตามครรลองคลองธรรม ตามหลักการให้บริการที่ดี
4. แนวทางป้องกัน และระมัดระวังมิให้เกิดการใช้ใบกำกับภาษีปลอม
4.1 พึงมีระบบการควบคุมภายในที่ดี
(1) ต้องมีการอนุมัติการจัดซื้อ จัดจ้าง โดยเฉพาะการจัดซื้อหรือจัดจ้างที่มีมูลค่ามาก
(2) พึงมีการเปรียบเทียบราคาสินค้า หรือค่าบริการ จาก Supplier หลายราย เพื่อป้องกันการทุจริตภายในองค์กรอีกทางหนึ่ง
(3) พึงจัดซื้อหรือจัดจ้างโดยตรงกับ Supplier ที่มีความมั่นคง และน่าเชื่อถือทางธุรกิจ ไม่พึง่ซื้อจากเซลล์ หรือพนักงานขายสินค้า ที่เข้ามาเสนอขายสินค้าราคาพิเศษ
(4) พึงต้องชำระราคาสินค้าหรือค่าบริการผ่านระบบธนาคาร ่หรือใช่เช็คขีดคล่อม ระบุชื่อผู้รับ (A/C payee only) และขีดฆ่าผู้ถือ เพื่อให้มีหลักฐานการชำระเงินผ่านระบบธนาคารจริง
4.2 หลีกเลี่ยงคู่สัญญา ที่ขอให้แยกค่าบริการกับค่าสินค้าต่างหากจากกัน โดยขอนำใบกำกับภาษีค่าสินค้าจากผู้ขายสินค้ามาให้โดยตรง
4.3 ไม่คบค้าสมาคมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ไม่สุจริต จ้องรับสินบน เพราะอาจต้องระวางโทษเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นในวงราชการ และต้องหาเอกสารมาบันทึกรายการบัญชีที่ได้จ่ายสินไปนั้น จึงมีโอกาสพบเจอใบกำกับภาษีปลอม
4.4 ใช้ Lobbyist ในการติดต่อกับทางราชการ อาทิ Freight Forwarder