มาตรการ Easy E-Receipt ลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ปี 2567
ขอนำ คำถาม-คำตอบ (Q&A) มาตรการ Easy E-Receipt ลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ปี 2567 ของกรมสรรพากรมาเผยแพร่ต่อ เพื่อประโยชน์แก่ทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ครับ
ข้อ 1 คำถาม มาตรการ “Easy E-Receipt” เป็นการให้สิทธิประโยชน์อะไร
คำตอบ ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) จากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร เว้นแต่ ค่าหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต รวมถึงค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ โดยจะต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร
ข้อ 2 คำถาม ผู้ใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการ “Easy E-Receipt” คือใคร
คำตอบ บุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
ข้อ 3 คำถาม การให้หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ มีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข อย่างไร
คำตอบ
1) กำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์(e-Tax Invoice) จากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร ทั้งนี้ e-Tax Invoice รวม e-Tax Invoice by Time Stamp ด้วย และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2) หลักเกณฑ์
2.1) ค่าสินค้าหรือค่าบริการไม่รวมถึง
2.1.1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
2.1.2) ค่าซื้อยาสูบ
2.1.3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
2.1.4) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
2.1.5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
2.1.6) ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อ 1) เช่น ค่าสมาชิกต่าง ๆ
2.1.7) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
2.2) ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) โดยต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้
2.2.1) ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
2.2.2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
2.2.3) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
กรณีซื้อสินค้าหรือรับบริการตาม 2.2.1) - 2.2.3) จากผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องได้รับใบรับตามมาตรา 105 ทวิแห่งประมวลรัษฎากรในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร โดยต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย
3) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด เช่น วิธีการใช้สิทธิโดยทั่วไป วิธีการใช้สิทธิของสามีและภริยา ข้อห้ามการใช้สิทธิของผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หลักฐานประกอบการใช้สิทธิ เป็นต้น
ข้อ 4 คำถาม ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการใดบ้างที่สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได
คำตอบ
1) ค่าซื้อสินค้าทุกประเภทที่ซื้อจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ ยกเว้นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ดังต่อไปนี้
1.1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
1.2) ค่าซื้อยาสูบ
1.3) ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
1.4) ค่าน้ำมัน และก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
1.5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
1.6) ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาตามที่กำหนด (วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567) เช่น ค่าสมาชิกต่าง ๆ
1.7) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
2) ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้
2.1) ค่าซื้อหนังสือ
2.2) ค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
2.3) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
ข้อ 5 คำถาม ค่าซื้ออาหารในโรงแรม สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม
คำตอบ ได้ หากโรมแรมสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ของค่าซื้ออาหารได้
ข้อ 6 คำถาม ค่าซ่อมรถ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม
คำตอบ ได้ หากเป็นการซ่อมและจ่ายค่าซ่อมระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 และผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ได้
ข้อ 7 คำถาม การซื้อทองรูปพรรณ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่
คำตอบ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าได้ เฉพาะค่ากำเหน็จ (ตามมูลค่าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม)หากผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ได้
ข้อ 8 คำถาม ค่าซื้อแพคเกจทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่
คำตอบ ได้ หากเป็นการใช้แพคเกจทัวร์ท่องเที่ยวระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567และผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ได้
ข้อ 9 คำถาม กรณีจ่ายค่าที่พักโรงแรม หรือจ่ายค่าบริการนำเที่ยว ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้หรือไม
คำตอบ ได้ หากเป็นค่าที่พักโรงแรมหรือค่าบริการนำเที่ยวระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์2567 และผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ได
ข้อ 10 คำถาม ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม
คำตอบ ไม่ได้
ข้อ 11 คำถาม กรณีมีสัญญาใช้บริการระยะยาว ที่มีระยะเวลาสัญญาเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือมีระยะเวลาสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีส่วนที่ชำระและใช้บริการภายในวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 สามารถนำค่าบริการเฉพาะส่วนที่ใช้บริการในช่วงเวลาดังกล่าวมาใช้สิทธิหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้หรือไม
คำตอบ ไม่ได้ เนื่องจากเป็นค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการระยะยาว ซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567
ข้อ 12 คำถาม กรณีชำระค่าบริการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ได้ใช้บริการหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 จะสามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้หรือไม่
คำตอบ ไม่ได้ เนื่องจากต้องชำระค่าบริการและใช้บริการในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์2567 เท่านั้น
ข้อ 13 คำถาม ค่าซื้อประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ประกันสุขภาพ ประกันรถยนต์ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่
คำตอบ ไม่ได้
1.1) ค่าซื้อประกันชีวิต ไม่สามารถนำมาใช้สิทธิตามมาตรการนี้ได้ เนื่องจากเป็นบริการที่ไม่อยู่บังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ขอให้พิจารณาใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าซื้อเบี้ยประกันชีวิต ตามประมวลรัษฎากร(มาตรา 47 (1) (ง)) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 พ.ศ. 2509 ข้อ 2 (61) ไม่เกิน 100,000 บาท
1.2) ค่าซื้อประกันวินาศภัย ประกันสุขภาพ และประกันรถยนต์ ไม่สามารถนำมาใช้สิทธิตามมาตรการนี้ได
ข้อ 14 คำถาม การซื้อทองคำแท่ง สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม
คำตอบ ไม่ได้ เนื่องจากทองคำแท่งเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี อันเป็นหลักฐานการใช้สิทธิตามมาตรการนี้
ข้อ 15 คำถาม ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่
คำตอบ ไม่ได้ เนื่องจากการให้บริการของสถานพยาบาลได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี อันเป็นหลักฐานการใช้สิทธิตามมาตรการนี้
ข้อ 16 คำถาม ค่าซื้อบัตรเพื่อแลกรับบริการ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่
คำตอบ ไม่ได้ เนื่องจากการขายบัตรเพื่อแลกรับบริการไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายบัตรเพื่อแลกรับบริการไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี อันเป็นหลักฐานการใช้สิทธิตามมาตรการนี้แต่หากนำบัตรเพื่อแลกรับบริการไปแลกรับบริการ ในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งสามารถคำนวณเป็นจำนวนเงินและออกใบกำกับภาษีได้ สามารถนำใบกำกับภาษีมาใช้เป็นหลักฐานในการรับสิทธิตามมาตรการนี้ได้
ข้อ 17 คำถาม ค่าซื้อบัตรของขวัญของห้างสรรพสินค้า (Gift voucher) ค่าซื้อบัตรของขวัญ (Voucher) สำหรับค่าซื้ออาหารของโรงแรม บัตรเติมเงินค่าโทรศัพท์ สามารถนำมาหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่
คำตอบ ไม่ได้ เนื่องจากการขายบัตรของขวัญ/บัตรเติมเงิน ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายบัตรของขวัญ/เติมเงิน ไม่มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี อันเป็นหลักฐานการใช้สิทธิตามมาตรการนี้แต่หากนำบัตร
ของขวัญ/บัตรเติมเงิน ไปแลกซื้อสินค้าหรือบริการ ในช่วงวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งสามารถคำนวณเป็นจำนวนเงิน และออกใบกำกับภาษีได้ สามารถนำใบกำกับภาษีมาใช้เป็นหลักฐานในการรับสิทธิตามมาตรการนี้ได้
ข้อ 18 คำถาม ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt คืออะไร และแตกต่างจากใบกำกับภาษีและใบรับในรูปแบบกระดาษอย่างไร
คำตอบ e-Tax Invoice & e-Receipt คือ ใบกำกับภาษี(e-Tax Invoice) และใบรับ (e-Receipt) ที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และได้ลงลายมือชื่อโดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate)ซึ่งประชาชนไม่ต้องเก็บรักษาใบกำกับภาษีและจัดส่งให้กรมสรรพากรในการเข้าร่วมมาตรการโดยสามารถใช้ข้อมูล e-Tax Invoice ในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี และเจ้าหน้าที่จะไม่ขอให้ส่งใบกำกับภาษีอีก หากมีข้อมูลในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรแล้ว
ข้อ19 คำถาม ต้องใช้หลักฐานใดในการใช้สิทธิหักลดหย่อน
คำตอบ หลักฐานที่ใช้ คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice &e-Receipt) ของกรมสรรพากร (ใบกำกับภาษีที่มีข้อความระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ) เว้นแต่สินค้าหรือบริการดังต่อไปนี้ที่ซื้อมาจากผู้ประกอบการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมีหลักฐานใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์จากระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร ซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 105 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร พร้อมระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย
1) หนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
2) บริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต(e-Book)
3) สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
ข้อ 20 คำถาม ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อน หมายถึงอะไร
คำตอบ ใบกำกับภาษีที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
(4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
(5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
(6) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
(7) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
( 8 ) ข้อความอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด เช่น คำว่าเอกสารออกเป็นชุด สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ
ทั้งนี้ e-Tax Invoice ต้องมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้มีเงินได้ที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดด้วย
ข้อ 21 คำถาม ใบกำกับภาษีมีข้อความไม่สมบูรณ์ เช่น เขียนชื่อ หรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไข สามารถนำมาใช้หักลดหย่อนได้หรือไม่
คำตอบ หากใบกำกับภาษีนั้นมีรายการครบถ้วน แม้จะมีการระบุชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไขข้อความ ก็สามารถใช้หักลดหย่อนได้
ข้อ 22 คำถาม ผู้ซื้อมีที่อยู่ตามบัตรประชาชนกับที่อยู่ในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแตกต่างกันให้ใช้ที่อยู่ใด
คำตอบ จะใช้ที่อยู่ตามบัตรประชาชนหรือที่อยู่ปัจจุบันก็ได้
ข้อ 23 คำถาม กรณีซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการหลายครั้ง (มีใบกำกับภาษีหลายใบ) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 จะสามารถนำมูลค่าการซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการแต่ละครั้งมารวมกันเพื่อใช้สิทธิได้หรือไม
คำตอบ ได้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 50,000 บาท
ข้อ 24 คำถาม กรณีซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการครั้งเดียว (มีใบกำกับภาษี 1 ใบ) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมูลค่าการซื้อสินค้าหรือการชำระค่าบริการนั้นสูงกว่า 50,000 บาทสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการรับสิทธิได้หรือไม
คำตอบ สามารถใช้สิทธิตามมาตรการนี้ได้ แต่จะได้รับสิทธิ50,000 บาท
ข้อ 25 คำถาม ใบกำกับภาษีมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหลายคน สามารถนำรายจ่ายดังกล่าวไปหักลดหย่อนเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศได้หรือไม่
คำตอบ ไม่ได้ ใบกำกับภาษีต้องมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการเพียงคนเดียว
ข้อ 26 คำถาม กรณีใบกำกับภาษีมีทั้งรายการสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จะหักลดหย่อนอย่างไร
คำตอบ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เฉพาะค่าซื้อสินค้าและค่าบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้สามารถนำมาหักลดหย่อนตามมาตรการนี้ได้ แม้จะจ่ายให้แก่ผู้มิใช่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
1) ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต(e-Book)
3) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
ข้อ 27 คำถาม ประชาชนสามารถขอ e-Tax Invoice จากผู้ประกอบการได้อย่างไร
คำตอบ หากเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติ สามารถแจ้งความประสงค์ต่อผู้ประกอบการจดทะเบียนให้ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จากระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากร
ข้อ 28 คำถาม สามารถตรวจสอบรายชื่อร้านค้าที่เข้าร่วม e-Tax Invoice ได้ที่ใด
คำตอบ สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร หรือที่
https://etax.rd.go.th โดยกดไปที่เมนู “ผู้ได้รับอนุมัติ” ซึ่งจะแสดงรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติให้จัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีร้านค้าที่เข้าร่วม e-Tax Invoice by Time Stamp สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากรหรือที่
https://www.rd.go.th/27659.html โดยกดไปที่เมนู “รายชื่อผู้ได้รับอนุมัติ”
ข้อ 29 คำถาม ผู้ประกอบการสามารถสมัคร e-Tax Invoice ได้อย่างไร
คำตอบ ผู้ประกอบการสามารถสมัคร e-tax Invoice ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร หรือที่
https://etax.rd.go.th โดยกดไปที่เมนู “ลงทะเบียน สำหรับผู้ใช้บริการครั้งแรก” หลังจากนั้นผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอ บ.อ.01 และยืนยันตัวตนด้วยลายมือชื่อดิจิทัลผ่านโปรแกรมลงทะเบียนและลงลายมือชื่อดิจิทัล(Ultimate Sign & Viewer) โดยไม่ต้องนำส่งเอกสารให้กรมสรรพากรพิจารณา ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถศึกษาวิธีการจัดทำและนำส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่เว็บไซต์
https://etax.rd.go.th และกดไปที่ เมนูสนับสนุน > คำแนะนำ/คู่มือการใช้งาน
ผู้ประกอบการที่ต้องการสมัคร e-Tax Invoice by Time Stamp ควรเป็นผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน30 ล้านบาทต่อปี โดยสามารถสมัครได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร
https://www.rd.go.th/27659.htmlโดยกดไปที่เมนู “ยื่นคำขออนุมัติ” เพื่อกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและพิมพ์เอกสาร ก.อ. 01
ข้อ 30 คำถาม ผู้ประกอบการได้ประโยชน์อย่างไรจากการออกใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice
คำตอบ ร้านค้ามีต้นทุนการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีลดลง เพราะ e-Tax Invoice มีต้นทุนต่ำกว่ากระดาษและกรมสรรพากรยังให้หักรายจ่ายการลงทุนและค่าใช้บริการระบบ e-Tax Invoice ได้ 2 เท่าอีกด้วยตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 766)พ.ศ. 2566
ข้อ 31 คำถามประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรจากการรับใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice
คำตอบ ประชาชนที่ได้รับใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice จะไม่ต้องขอใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษจากผู้ประกอบการอีก เนื่องจากกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้จากระบบ e-Tax Invoice ทำให้ประชาชนไม่ต้องเก็บเอกสารในรูปแบบกระดาษในการยื่นแบบภาษี นอกจากนี้ การได้รับใบกำกับภาษีในรูปแบบ e-Tax Invoice จะให้การตรวจคืนภาษีเร็วขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในระบบแล้ว เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจึงสามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ข้อ 32 คำถาม ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่สามารถออก e-Tax Invoice & e-Receipt ได้จำนวนกี่ราย และประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประการที่สามารถออก e-Tax Invoice & e-Receipt ได้จากที่ใด
แหล่งข้อมูล:
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้
(ฉบับที่ 443)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้
สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ
------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 1 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2566) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า ใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
เฉพาะที่ได้จัดทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 384 (พ.ศ. 2565) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์
"ใบรับอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า ใบรับซึ่งมีรายการอย่างน้อย ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่ได้จัดทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 3 โสฬส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 384 (พ.ศ. 2565) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ต้องระบุชื่อและนามสกุลของผู้มีเงินได้ในใบรับด้วย
ข้อ 2 การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ตามวรรคหนึ่ง
จะต้องจัดทำโดยผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศรายชื่อตามข้อ
12 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 384 (พ.ศ. 2565) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานหรือหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์
ข้อ 3 การยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 2 ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องมิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท
(2) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท
(3) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
(ก) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึ่งประเมินที่ตนได้รับหรือแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ถือเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่ง ตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท
(ข) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันโดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท และให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนของสามีหรือภริยาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท
ข้อ 4 ผู้มีเงินได้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ต้องซื้อสินค้าหรือรับบริการ เพื่อใช้ในราชอาณาจักร และชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(1) กรณีการจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ นอกจากกรณีตาม (2) และ (6) ต้องเป็นการจ่ายให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ โดยเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือรับบริการเฉพาะที่ต้องรวมคำนวณเป็นมูลค่าฐานภาษีในอัตราร้อยละ 7.0 เท่านั้น
(2) กรณีการจ่ายค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารให้แก่ผู้ขายหรือค่าบริการหนังสือหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้แก่ผู้ให้บริการแล้วแต่กรณี ต้องได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีที่ผู้ขายหรือผู้ให้บริการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือได้รับใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีที่ผู้ขายหรือผู้ให้บริการไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(3) กรณีการจ่ายค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สินค้าดังกล่าวต้องเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
และได้รับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ขายในกรณีที่ผู้ขายเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือได้รับใบรับอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีที่ผู้ขายไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยในการจัดทำรายการชื่อ ชนิด และประเภทของสินค้าในใบรับอิเล็กทรอนิกส์นั้น ผู้ขายต้องระบุข้อความที่แสดงว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในแต่ละรายการสินค้าหรือจัดทำเครื่องหมายแสดงในแต่ละรายการสินค้าที่เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และมีข้อความที่แสดงว่าเครื่องหมายนั้น หมายถึง สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไว้ในใบรับอิเล็กทรอนิกส์ เช่น "OTOP" "โอทอป" หรือ "One Tambon One Product" หรือข้อความอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน
ข้อ 5 กรณีที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้นำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ไปหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ผู้มีเงินได้ไม่มีสิทธินำค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นั้นมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้
ข้อ 6 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธินำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึ่งประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร หลังจากหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว
ข้อ 7 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2566
กุลยา ตันติเตมิท
อธิบดีกรมสรรพากร
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 140 ตอนพิเศษ 326 ง หน้า 35 – 37 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2566