ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจประมวลรัษฎากร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
สุเทพ พงษ์พิทักษ์

บริษัทจำกัดสถานะ “ร้าง” ต้องทำอย่างไร

บทความวันที่ 5 ธ.ค. 2566  .  เขียนโดย อจ.สุเทพ  .  เข้าชม 6010 ครั้ง

บริษัทจำกัดสถานะ “ร้าง” ต้องทำอย่างไร

 

ปุจฉา:

บริษัทจำกัดสถานะ “ร้าง” ต้องทำอย่างไร กรรมการจะมีความผิดหรือไม่หากยังคงเพิกเฉย และจะกลับมาทำธุรกิจใหม่่ได้หรือไม่่

บริษัทจำกัดสถานะ "ร้าง" คือบริษัทที่นายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง มีผลให้บริษัทเป็นอันเลิกกันตั้งแต่เมื่อโฆษณาแจ้งความในหนังสือราชกิจจนุเบกษา ลักษณะบริษัทที่เข้าข่ายการเป็นบริษัทร้าง เมื่อปรากฏว่าบริษัทใดมิได้ส่งงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนติดต่อกัน 3 ปี นับแต่ปีปัจจุบันย้อนหลังลงไป ทั้งนี้ไม่ว่าบริษัทนั้นจะได้มีการติดต่อทางทะเบียนในเรื่องอื่นใดหรือไม่ หรือบริษัทที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชีมิได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับแต่วันรับจดทะเบียนเลิกบริษัท และนายทะเบียนได้มีหนังสือบอกกล่าวเรียกให้ส่งรายงานการชำระบัญชีหรือให้มาจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ที่ลงในคำบอกกล่าวแล้ว แต่ผู้ชำระบัญชีมิได้ปฏิบัติตาม ให้สันนิษฐานว่า บริษัทนั้นมิได้ทำการค้า หรือประกอบการงานหรือไม่มีผู้ชำระบัญชีทำการอยู่แล้วแต่กรณี เมื่อปรากฎมูลเหตุเบื้องต้นอันเป็นข้อสันนิษฐานที่จะดำเนินการถอนทะเบียนร้างได้ ตามวรรคแรกแล้วแต่กรณี ให้นายทะเบียนดำเนินการตามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อถอนทะเบียนบริษัทให้เป็นบริษัทร้างต่อไป กรณีที่ปรากฎต่อนายทะเบียนในระหว่างดำเนินการเพื่อถอนทะเบียนบริษัทร้างว่าบริษัทยังคงทำการค้าหรือประกอบการงานอยู่ หรือยังมีตัวผู้ชำระบัญชีกระทำการชำระบัญชีอยู่หรือได้มีส่วนราชการใดมีหนังสือขอให้ระงับการถอนทะเบียนบริษัทร้างไว้ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี หรือเพื่อประโยชน์ที่สำคัญอื่นใดของทางราชการ ให้นายทะเบียนพิจารณาระงับการถอนทะเบียนบริษัทร้างนั้น ทั้งนี้ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ป.พ.พ. ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท เรื่อง การถอนทะเบียนร้าง มาตรา 1246 ขั้นตอนการกลับจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียนมีดังนี้

1.  บริษัทร้างที่ประสงค์จะกลับมาประกอบกิจการอีก จะต้องดำเนินการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนกลับจดชื่อบริษัทเข้าสู่ทะเบียนตาม ป.พ.พ. 1246 (6)

2.  วิธีการฟื้นคืนสู่ทะเบียนคือ บริษัท ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ใด ๆ จะต้องจ้างทนายไปร้องต่อศาลโดยยื่น คำร้องขอฝ่ายเดียวเพื่อขอให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนกลับจดชื่อบริษัทคืนสู่ทะเบียน ระยะเวลาที่ใช้ตั้งแต่ยื่นร้องจนถึงศาลมีคำสั่งให้คืนสู่ทะเบียนใช้เวลาประมาณ 2-4 เดือน

3.  เมื่อศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนกลับจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียนแล้ว ให้ผู้ร้องขอคัดสำเนาคำสั่งศาลโดยมีคำรับรองของเจ้าหน้าที่ศาลและทำหนังสือแจ้งนายทะเบียนเพื่อขอให้นายทะเบียนกลับจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียน ตามคำสั่งศาลพร้อมแนบคำสั่งศาลมาด้วย (สำเนาคำสั่งศาลให้ส่งฉบับที่เจ้าหน้าที่ศาลได้รับรองความถูกต้องแล้ว)

4.  นายทะเบียนเมื่อได้รับคำสั่งศาลแล้ว จะดำเนินการออกคำสั่งกลับจดทะเบียนคืนเข้าสู่ทะเบียนและแก้ไขข้อมูลรายการทะเบียนในหนังสือรับรอง พร้อมกับนำคำสั่งจดชื่อคืนสู่ทะเบียนส่งไปลงประกาศราชกิจจานุเบกษา

5.  บริษัทเมื่อคืนสู่ทะเบียนตามคำสั่งศาลแล้ว ให้ถือว่าบริษัทยังคงตั้งอยู่เสมือนดั่งว่ามิได้มีการขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1246 (6) ซึ่งมีผลให้บริษัทกลับมามีสถานะเป็นนิติบุคคล มีสิทธิ และหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายเหมือนเดิม

 

การถอนทะเบียนห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดร้าง

ตามประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/1 มาตรา 1273/3 และมาตรา 1273/4 ได้กำหนดให้นายทะเบียนดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.  ส่งหนังสือฉบับที่ 1 สอบถามห้างหุ้นส่วน/บริษัท ว่ายังทำการค้าขายหรือประกอบการงานอยู่หรือไม่ และให้ห้างหุ้นส่วน/บริษัทมีหนังสือตอบกลับภายใน 30 วัน

2.  ภายหลังครบกำหนด 30 วัน แล้วมิได้หนังสือตอบฉบับที่ 1 นายทะเบียนจะส่ง หนังสือฉบับที่ 2 เพื่อแจ้งให้ห้างหุ้นส่วน/บริษัททราบว่า เมื่อพ้นเวลา 90 วันนับแต่วันที่ส่งหนังสือฉบับที่ 2 ห้างหุ้นส่วน/บริษัทจะถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เว้นแต่จะแสดงเหตุให้เห็นเป็นอย่างอื่น ในกรณีห้างหุ้นส่วน/บริษัทนั้นเป็นอันสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อออกเสียจากทะเบียน

3.    ห้างหุ้นส่วน/บริษัท ที่ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนแล้ว ถือว่า ห้างหุ้นส่วน/บริษัท นั้น สิ้นสภาพนิติบุคคล ถ้าห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วน บริษัท ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ใดๆ ของห้างหุ้นส่วน/บริษัทรู้สึกว่าต้องเสียหายโดยไม่เป็นธรรมเพราะการที่ห้างหุ้นส่วน/บริษัทถูกขีดชื่อออกจะทะเีบียนก็ให้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อห้างหุ้นส่วน/บริษัท กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน แต่ห้ามมิให้ร้องขอเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนขีดชื่อห้างหุ้นส่วน/บริษัท ออกจากทะเบียน

ขอขอบคุณ ที่มาของข้อมูล: https://www.52accounting.com/znews-020.html

 

ต่อข้อถาม ขอเรียนว่า

ในเบื้องต้น ผมมีความเห็นว่า

1. ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ กรรมการบริษัทฯ ควรร้องขอต่อศาลสั่งให้บริษัทฯ กลับคืนสู่ทะเบียนดังเดิม เป็นเบื้องต้นเสียก่อน เพราะเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียนแล้ว ถือว่าบริษัทไม่เคยถูกขีดชื่ออกจากทะเบียนเลย คือ ยังเป็นนิติบุคคลตลอดมา ทั้งนี้ เพื่อการได้สิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย และป้องกันมิให้บุคคลใดๆ มาโต้แย้งการออกใบกำกับภาษีโดยมิชอบระหว่างที่ถูกเพิกถอนทะเบียนหุ้นส่วนบริษํทเพราะเป็นบริษัทร้าง

2. กรณีบริษัทฯ เป็น "บริษัทร้าง" แต่ยังประกอบกิจการอยู่เป็นปกติ โดยได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือนภาษี และไม่ได้ถูกกรมสรรพากรเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น

   (1) ต้องพิเคราะห์ผลกระทบว่า การเป็น "บริษัทร้าง" มีสิทธิดำเนินการใดได้บ้าง ดังนั้น หากได้ดำเนินการตามข้อ 1 เสียให้เรียบร้อยก็จะไม่มีคำถามใดๆ ในทำนองนี้อีก และกฎหมายยังรับรองว่า "ถือว่าบริษัทไม่เคยถูกขีดชื่ออกจากทะเบียนเลย" ใบกำกับภาษีที่บริษัทออกให้ลูกค้าจึงชอบด้วยกฎหมาย และบริษัทฯ มีสิทธิใช้ภาษีซื้อ

   (2) แต่ในระหว่างที่ศาลยังมิได้สั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน นั้น หากกรมสรรพากรเกิดโต้แย้งว่า ไม่มีสถานะเป็นบริษัท คือไม่มีตัวตนจริง ย่อมไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีและไม่มีสิทธิใช้ภาษีซื้อได้ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตขึ้นได้ และอาจลุกลามออกไปถึงลูกค้า เกี่ยวกับสิทธิทั้งหลาย กรรมการบริษัทฯ ก็คงต้องแก้ปัญหาตามข้อ 1. อยู่ดี

ด้งนั้น ทางที่ดีก็ควรดำเนินการตามข้อ 1 ในทันที เพราะจะช่วยแก้ปัญหาทั้งปวงได้