การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีดอกบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืมกรรมการ
บทความวันที่ 17 เม.ย. 2566 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 688 ครั้ง
บทความวันที่ 17 เม.ย. 2566 . เขียนโดย อจ.สุเทพ . เข้าชม 688 ครั้ง
การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีดอกบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืมกรรมการ
กรณีบริษัทฯ มีเงินให้กู้ยืมกรรมการโดยไม่คิดดอกเบี้ย
(ทางบัญชีไม่บันทึกดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยค้างรับ) โดยได้คำนวณและบวกเป็นรายได้เพิ่มในแบบ
ภ.ง.ด.50 แล้วตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีค่าตอบแทน
จากข้อเท็จจริงบริษัทฯ จะไม่มีการรับเงินดอกเบี้ยดังกล่าว ถ้าอ้างอิงจากมาตรา 91/8 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกใช้เกณฑ์เงินสดหรือเกณฑ์คงค้างก็ได้ โดยเมื่อเลือกแล้วให้ใช้เกณฑ์นั้นตลอดไป กรณีนี้เมื่อบริษัทฯ จะไม่มีการรับเงินจากดอกเบี้ย จะถือเป็นการเลือกวิธีเกณฑ์คงค้างซึ่งบริษัทฯ ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ถูกต้องหรือไม่
แต่หากบริษัทฯ ยังคงต้องรับผิดยื่นแบบ ภ.ธ.40 ต้องยื่น ณ เดือนไหนคะ อ้างอิงหลักเกณฑ์หรือบทบัญญัติมาตราใด
1.
ตามมาตรา 91/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดนิยามศัพท์คำว่า “รายรับ” ไว้ดังนี้
“มาตรา 91/1 ในหมวดนี้
(1)
“รายรับ” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือ ประโยชน์ใด ๆ
อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับ ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ
(2) “มูลค่า” หมายความว่า
ราคาตลาดของทรัพย์สิน ของกิจการ ของค่าตอบแทนหรือของประโยชน์ใด ๆ
(3)
“ราคาตลาด” หมายความว่า
ราคาที่ซื้อขายกันหรือที่คิดค่าบริการกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง
ในกรณีที่ราคาตลาดมีหลายราคาหรือไม่อาจทราบราคาตลาดได้แน่นอน ให้อธิบดี โดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศใช้เกณฑ์คำนวณเพื่อให้ได้ราคาตลาดเป็นมูลค่าของสินค้าหรือบริการได้”
2. ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร
กำหนดให้การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์
เช่น การให้กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน
หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ
เป็นการประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
3.
มาตรา 91/3 (7) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 (32) และ (33) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 571) พ.ศ. 2556 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป กำหนดให้ ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการดังต่อไปนี้
“มาตรา 3
ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการดังต่อไปนี้
(32) กิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตามมาตรา
91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากรของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
ซึ่งมิได้ประกอบกิจการตามมาตรา 91/2 (1)(2) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับดอกเบี้ยที่ได้รับ
เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
(ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันให้กู้ยืมเงินกันเอง "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน" หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจำนวนตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไป ซึ่งมีความสัมพันธ์กันโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม โดยให้นับระยะเวลาของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมอันได้ควบเข้ากัน หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมผู้โอนกิจการทั้งหมดรวมด้วย
(ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินหรือซื้อตั๋วเงินที่ออกโดยสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน โดยได้รับดอกเบี้ยตามอัตราปกติ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป"
(33) กิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนสะสมพนักงานหรือทุนอื่นใดเพื่อพนักงาน สำหรับดอกเบี้ยที่ได้รับจากการนำเงินกองทุนหรือทุนอื่นใดออกให้พนักงานที่เป็นสมาชิกกู้ยืม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป”
4. ตามมาตรา
91/8 แห่งประมวลรัษฎากร
“มาตรา 91/8 ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะเสียภาษีโดยคำนวณจากฐานภาษีตามมาตรา
91/5 ในเดือนภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ตามอัตราภาษีที่กำหนดไว้ตามมาตรา 91/6
แต่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีตามบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ในส่วน
2 หมวด 2 ลักษณะ 2
การคำนวณรายรับตามวรรคหนึ่ง
ให้เป็นไปตามวิธีการ หลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชี
และเพื่อประโยชน์ในการคำนวณรายรับ
เมื่อได้เลือกปฏิบัติเป็นอย่างใดแล้วให้ถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันตลอดไป
เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้เปลี่ยนแปลงได้
(ดู
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 75/2541 )
ความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง
มิให้ใช้บังคับแก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา
91/2(6)
และให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีกรณีดังกล่าวเสียภาษีโดยคำนวณจากฐานภาษีตามมาตรา 91/5(6)
ในขณะที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้น
ตามอัตราภาษีที่กำหนดไว้ในมาตรา 91/6
รวมทั้งมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีตามบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ในส่วน 2 หมวด 2
ลักษณะ 2"
5.
ตามมาตรา 91/15 (2) และมาตรา 91/16 (6) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดอำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ
เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม กรณีให้กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย
หรือคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร
“มาตรา 91/15
เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามหมวดนี้ ในเมื่อ
(1)
ปรากฏแก่เจ้าพนักงานประเมินว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
(2)
ในกรณีเจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานแสดงว่า
ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้อง
หรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไป หรือ
(3)
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการแทนผู้ประกอบกิจการ
ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมิน
หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมินโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
หรือไม่สามารถแสดงหลักฐานเพื่อการคำนวณภาษี
มาตรา 91/16 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา
91/15 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจ
(1)
จัดทำรายการลงในแบบแสดงรายการตามหลักฐานที่เห็นว่าถูกต้อง
เมื่อผู้ประกอบกิจการมิได้ยื่นแบบแสดงรายการ
(2)
แก้ไขเพิ่มเติมรายการในแบบแสดงรายการหรือในเอกสารอื่นประกอบแบบแสดงรายการเพื่อให้ถูกต้อง
(3)
กำหนดราคาขายสินค้าโดยเทียบเคียงกับราคาขายในวันเดียวกัน
หรือใกล้เคียงกันของสินค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันตามราคาตลาดที่อาจเทียบเคียงกันได้
(4) กำหนดดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม
ค่าบริการ กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ
จากการซื้อหรือขายตั๋วเงินหรือแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราการออกตั๋วเงิน
หรือการส่งเงินไปต่างประเทศตามราคาตลาดที่อาจเทียบเคียงได้
(5) กำหนดรายรับซึ่งผู้ประกอบกิจการควรได้รับ
เพราะผู้ประกอบกิจการกับผู้ซื้อมีการควบคุมหรือความสัมพันธ์กันในด้านทุนหรือด้านการจัดการ
(6) กำหนดดอกเบี้ย ราคาทรัพย์สิน
หรือค่าบริการ ตามราคาตลาดในวันให้กู้ยืมเงิน วันที่โอนหรือให้บริการ ในกรณีที่การให้กู้ยืมเงิน
การโอนทรัพย์สิน หรือการให้บริการนั้นไม่มีดอกเบี้ย ค่าตอบแทน หรือค่าบริการ
หรือมีดอกเบี้ย ค่าตอบแทน หรือค่าบริการต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(7)
กำหนดรายรับโดยพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่หรือพฤติการณ์ของผู้ประกอบกิจการ
หรือสถิติการค้าของผู้ประกอบกิจการเองหรือของผู้ประกอบกิจการอื่นที่กระทำกิจการทำนองเดียวกัน
หรือพิจารณาจากหลักเกณฑ์อย่าง อื่นอันอาจแสดงรายรับได้โดยสมควร
(8)
ประเมินภาษีตามที่รู้เห็นหรือพิจารณาว่าถูกต้อง เมื่อมีกรณีตามมาตรา 91/15 (3)
โดยไม่ต้องปฏิบัติตาม (1) ถึง (7) ก็ได้
กรณีบริษัทฯ มีเงินให้กรรมการกู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย
(ทางบัญชีไม่บันทึกดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยค้างรับ)
โดยได้คำนวณและบวกเป็นรายได้เพิ่มในแบบ ภ.ง.ด.50 แล้วตามมาตรา 65 ทวิ (4)
แห่งประมวลรัษฎากร กรณีให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีค่าตอบแทน
จากข้อเท็จจริง แม้บริษัทฯ จะไม่มีการรับเงินดอกเบี้ยดังกล่าว
แต่ตามนิยามศัพท์คำว่า “รายรับ” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือ
ประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับ
ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ
ดังจะเห็นได้ว่า รายรับรวมความถึง “ประโยชน์ใด
ๆ อันมีมูลค่าที่พึงได้รับ” ด้วย นั่นย่อมหมายความว่า นอกจากเกณฑ์สิทธิแล้ว
ยังรวมถึงกรณีที่แม้ผู้ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะไม่ได้รับเงิน
ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือ ประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่า เพียงแต่พึงได้รับก็ถือเป็น “รายรับ”
จากการประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วยเช่นกัน
ยิ่งเป็นกรณีที่บริษัทฯ คำนวณดอกเบี้ยและบวกเป็นรายได้เพิ่มในแบบ
ภ.ง.ด.50 ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ในทางภาษีธุรกิจเฉพาะก็มีบทบัญญัติในลักษณะทำนองเดียวกัน
คือ มาตรา 91/15 (2) และมาตรา 91/16 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับนิยามศัพท์คำว่า
“รายรับ” ตามมาตรา 91/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมถือได้ว่า บริษัทฯ
มีรายรับดอกเบี้ยที่บริษัทฯ พึงได้รับที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
กรณีไม่สามารถอ้างอิงบทบัญญัติมาตรา 91/8
วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการมีสิทธิเลือกใช้เกณฑ์เงินสดหรือเกณฑ์คงค้างก็ได้
โดยเมื่อเลือกแล้วให้ใช้เกณฑ์นั้นตลอดไป นั้น ให้ปรับใช้กับเฉพาะกรณีผู้ประกอบกิจการได้รับรายได้จากการประกอบกิจการอย่างแท้จริง
อันเป็นหลักกฎหมายทั่วไป เช่นนี้ แม้บริษัทฯ จะไม่มีการรับเงินจากดอกเบี้ย ก็ยังคงต้องถือว่า
บริษัทฯ มีรายรับที่ “พึงได้รับ” ซึ่งบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายรับดอกเบี้ยที่พึงได้รับนั้นด้วย
ความเห็นที่ว่า “กรณีนี้เมื่อบริษัทฯ จะไม่มีการรับเงินจากดอกเบี้ย
จะถือเป็นการเลือกวิธีเกณฑ์คงค้างซึ่งบริษัทฯ ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ” จึงยังไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางภาษีอากร
ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องรับผิดเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายรับที่พึงได้รับ
โดยถือเป็นรายรับในเดือนภาษีสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ
ภ.ธ.40 ในวันนที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี